คอลัมน์ Big Data: ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา(ไตรมาส 2/61)
Loading

คอลัมน์ Big Data: ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา(ไตรมาส 2/61)

วันที่ : 3 กันยายน 2561
คอลัมน์ Big Data: ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา(ไตรมาส 2/61)

ผลศึกษาการติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวม 6 จังหวัดประกอบด้วย กรุงเทพฯ นทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม โดยศูนย์ข้อมูล อสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า ในไตรมาส 2 ปี 2561 ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนามีค่าดัชนีเท่ากับ 217.8 จุดปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีเดียวกัน ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 189.0 จุด และปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 164.6 จุด

การปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินเปล่าที่อยู่ใกล้แนวเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าและในเขตจังหวัดปริมณฑลโดย 5 อันดับทำเลที่มีการปรับราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาส 2 ปี 2561 เทียบกับไตรมาส 2 ปี 2560 ได้แก่

1. เขตพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศมีการปรับความราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 53.0

2. เขตจังหวัดนครปฐมมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1

3. เขตราษฎร์บูรณะ-บางขุนเทียน-ทุ่งครุ-บางบอน-จอมทองมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ38.2

4. เขตจังหวัดสมุทรสาครมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4

5. เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1

เป็นที่สังเกตว่าทำเลดังกล่าวมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นในเขตเมืองชั้นในได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวตามความต้องการที่ดินในพื้นที่ชานเมือง และส่งผลต่อการปรับราคาขึ้นของที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในเขตชานเมืองด้วย

ศูนย์ข้อมูลฯ ยังได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา โดยจำแนกตามประเภทแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในไตรมาส 2 ปี 2561 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.1 ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 พื้นที่ที่อยู่อาศัยชุมชน ทำเลในปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 พื้นที่พาณิชยกรรม มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง มีการปรับราคาเพิ่มขึ้อนร้อยละ 3.6 และพื้นที่เกษตรกรรมมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6

เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง ระหว่างที่ดินเปล่าในการใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมที่มีราคาต่ำสุดกับราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแต่ละแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอื่นพบว่า พื้นที่พาณิชยกรรม มีราคาสูงกว่าพื้นที่เกษตรกรรม ร้อยละ 133.4 ส่วนพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย มีราคาสูงกว่าร้อยละ 57.4 พื้นที่ที่อยู่อาศัยชุมชนมีราคาสูงกว่าร้อยละ 48.3 และพื้นที่อุตสาหกรรม มีราคาสูงกว่าร้อยละ 30.7 ตามลำดับ

นอกจากนี้ จากการเปรียบเทียบราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแต่ละทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนผ่านกับราคาที่ดินในทำเลที่ไม่มีโครงการรถไฟฟ้าผ่าน พบว่า ทำเลที่มีแผนการลงทุนโครงการลงรถไฟฟ้าในอนาคตมีราคาสูงกว่าร้อยละ 52.1 เนื่องจากราคาที่ดินปรับเพิ่มจากฐานราคาเดิมที่ยังไม่สูงมากนัก ส่วนทำเลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าจะมีราคาสูงกว่าร้อยละ 32.1 ในขณะที่ทำเลที่มีโครงการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว จะมีราคาสูงกว่าร้อยละ 24.2 และเมื่อแยกตามทำเลเฉพาะที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านแล้วจะพบว่า 5 อันดับแรกที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่

1.      BTS สายสุขุมวิทมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 26.8

2.      สายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5

3.      สายสีแดงเข้ม (ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย) มีปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4

4.     สายสีน้ำเงิน (ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ-หัวลำโพง-บางแค) มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3

5.      BTS สายสีลมมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2

ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตด้วยว่า ทำเลในพื้นที่ดังกล่าวมีการปรับตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และเพื่อพักอาศัยใหม่ในพื้นที่

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ