TPOLYญี่ปุ่นจีบผุดโรงแรมลุ้นผลประมูลงาน3.8พันล.
Loading

TPOLYญี่ปุ่นจีบผุดโรงแรมลุ้นผลประมูลงาน3.8พันล.

วันที่ : 10 สิงหาคม 2561
TPOLYญี่ปุ่นจีบผุดโรงแรมลุ้นผลประมูลงาน3.8พันล.

TPOLY ลุ้นผลประมูลงานก่อสร้าง-โรงไฟฟ้าใหม่ มูลค่ารวมกว่า 3.8 พันล้านบาท หวังเติมยอดแบ็กล็อก แกร่ง แถมลูกค้าสัญชาติญี่ปุ่นจีบสร้างโรงแรงใน EEC รองรับการขยายตัวในอนาคต คาดปลายปีนี้ชัดเจน เตรียมลุ้นงบไตรมาส 2/2561 วันที่ 14 สิงหาคม 2561

นายชายชัด เกตุตั้งมั่น ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยโพลีคอนส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPOLY เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/2561 เชื่อว่าจะมีการเติบโตที่ค่อนข้างชัดเจนมากว่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยในช่วงที่เหลือของปี 2561 นี้ บริษัทยังมีความสนใจเข้าร่วมประมูลงานรับเหมาก่อสร้างทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

รักษามาร์จิ้นรับเหมา 8%

ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างรอผลการประมูลงาน มีมูลค่ารวมกว่า 3.8 พันล้านบาท คาดหวังว่าจะได้รับงานใหม่ๆเข้ามาเพิ่มเฉลี่ยประมาณ 1-2 โครงการต่อเดือน ทั้งนี้บริษัทยังคงมุ่งเน้นการรับงานในโครงการที่ให้มาร์จิ้นในระดับที่ดีไม่น้อยกว่า 8% เพื่อให้ครอบคลุมถึงการบริหารทางต้นทุนที่ดีและเป็นผลตอบแทนที่จะได้รับอย่างเหมาะสม ซึ่งในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายรักษาระดับอัตรากำไรสุทธิของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างให้ได้ไม่น้อยกว่าปีก่อนที่ 10.8%

ทั้งนี้วางเป้าหมายรับงานใหม่ปีละราว 3 พันล้านบาท หรือสร้างการเติบโตให้งานในมือ (Backlog) เฉลี่ยต่อปีไม่น้อยกว่า 10% ยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปัจจุบันมี Backlog แล้วกว่า 4 พันล้านบาท และเชื่อว่าอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างยังมีโอกาสเติบโตได้อีกในระยะ 2-3 ปี จากการที่รัฐบาลเร่งดำเนินการในเรื่องของโครงการระบบราง ท่าเรือ สนามบิน รวมไปถึงโครงการในพื้นที่การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC มีโครงการอีกมากที่จะทยอยออกมาให้ภาคเอกชนได้ประมูล

อีกทั้งจากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนการลงทุนใน EEC ทำให้ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศให้ความสนใจการลงทุน เช่น คอนโดมิเนียม และโรงแรม เพื่อรองรับการขยายตัวของบุคลากรต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐานมาทำงานใน 2-3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี อยู่ 1-2 ราย โดยเฉพาะญี่ปุ่นสนใจที่จะให้บริษัทก่อสร้างโรงแรมในพื้นที่ EEC คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปลายปีนี้ อย่างน้อย 1 โครงการ

คงเป้ารายได้โต 10%

ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานชีวมวล มองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะสามารถรับรู้รายได้การจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรูปแบบ Feed in Tariff (FiT) จำนวน 6 แห่ง มีขนาดกำลังการผลิตกว่า 60 เมกะวัตต์ (MW) เข้ามาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ได้แก่ บริษัท ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ จำกัด (CRB) กำลังผลิตรวม 9.9 MW, บริษัท แม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ จำกัด (MWE) มีกำลังผลิตรวม 9.0, บริษัท มหาชัย กรีน เพาเวอร์ จำกัด (MGP) กำลังผลิตรวม 9.5 MW

รวมถึง บริษัท ทุ่งสัง กรีน จำกัด (TSG) มีกำลังการผลิตรวม 9.5 MW, บริษัท พัทลุง กรีน เพาเวอร์ จำกัด (PGP) มีกำลังการผลิตรวม 9.9 MW และบริษัท สตูล กรีน เพาเวอร์ จำกัด (SGP) มีกำลังผลิตรวม 9.9 MW เป็นต้น มองว่าจากการขายไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพยังช่วยสะท้อนต่อผลตอบแทนที่จะได้รับในปีนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ให้อัตรากำไรขั้นต้นที่ค่อนข้างสูง กว่า 30-40% อย่างไรก็ตามธุรกิจโรงไฟฟ้ามีสัดส่วนรายได้คิดเป็นราว 30-40% ของรายได้รวม

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงมองการเติบโตของรายได้รวมในปี 2561 ไม่น้อยกว่า 10% จากปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,482.76 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 175.39 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะเตรียมแจ้งงบผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2561 ไม่เกินวันที่ 14 สิงหาคม 2561

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ทันหุ้น