เชื่อม3สนามบิน-บอร์ดอีอีซี ยันเซ็นสัญญาเอกชนปีนี้เร่งเปิดประมูลไฮสปีด มี.ค.
Loading

เชื่อม3สนามบิน-บอร์ดอีอีซี ยันเซ็นสัญญาเอกชนปีนี้เร่งเปิดประมูลไฮสปีด มี.ค.

วันที่ : 27 กุมภาพันธ์ 2561
เชื่อม3สนามบิน-บอร์ดอีอีซี ยันเซ็นสัญญาเอกชนปีนี้เร่งเปิดประมูลไฮสปีด มี.ค.

"บอร์ดอีอีซี" เคาะรายละเอียด รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา 220 กม. วงเงินลงทุน 2 แสนล้านจ่อเสนอ ครม.เริ่มเปิดประมูลนานาชาติ มี.ค.นี้ มั่นใจลงนามเอกชนปีนี้ พ่วงโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ หวังลดหนี้ร.ฟ.ท. เคาะผลตอบแทนลงทุนกว่า 17% รวม 7 แสนล้าน เคาะค่าโดยสารมักกะสัน อู่ตะเภา 330 บาท/เที่ยว

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการลงทุนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คืบหน้าเป็นลำดับ ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เห็นชอบหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าลงทุนรวม 2 แสนล้านบาท

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดอีอีซี ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานวานนี้ (26 ก.พ.)ว่า ที่ประชุมฯเห็นชอบในหลักการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา มูลค่าลงทุน 2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในโครงการอีอีซีฟาสต์แทร็ก และเป็นโครงการสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของโครงการอีอีซี โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ รวมทั้งจะประกาศเชิญชวน (TOR) ให้เอกชน เข้ามาประมูลจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบนานาชาติ (International bidding) ในเดือนมี.ค.

ทั้งนี้ ผู้เข้าประมูลต้องเสนอรายละเอียดโครงการทั้งเชิงเทคนิคและมูลค่าที่จะร่วมลงทุนกับรัฐตามรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ซึ่งคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ในไตรมาสที่ 3 และลงนามกับเอกชนได้ภายในปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโครงการนี้รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ของ อีอีซีทั้ง 5 โครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) การขยายท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด จะทำสัญญากับเอกชนก่อนที่จะเลือกตั้ง

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมฯว่ารัฐบาลจะเชิญทูตและตัวแทนจากประเทศต่างๆมารับฟัง ความคืบหน้าของโครงการอีอีซีในเร็วๆนี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า รายละเอียดของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง  3 สนามบินจะลงทุนในระยะแรกจากกทม.ถึงสนามบินอู่ตะเภา ประมาณ 220 กิโลเมตร (กม.) ใช้วงเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท

ส่วนในระยะต่อไปจะศึกษาเส้นทางจากจ.ระยองไปจนถึงจ.ตราดเพื่อเชื่อมโยงการค้าชายแดนกับกัมพูชา โดยในส่วนของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ผ่านจ.ระยองจะต้องศึกษาว่าจะผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหรือไม่ เนื่องจากมีประเด็นในเรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยได้อนุมัติงบประมาณศึกษาแล้ว

แจงผลตอบแทนเศรษฐกิจ 17%

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาอัตราตอบแทนทางเศรษฐกิจของรถไฟความเร็วสูง กทม.-สนามบินอู่ตะเภา พบว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (IRR) อยู่ที่ประมาณ 17% ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งโครงการอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท โดยเป็นช่วง 50 ปีแรก (ตามสัญญา PPP ของเอกชน) จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท มาจากมูลค่าเพิ่มการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์ ลดการใช้น้ำมัน การเดินทาง ลดมลพิษ สิ่งแวดล้อมจากการใช้รถยนต์ ผลตอบแทนจากการพัฒนาเศรษฐกิจและพื้นที่เชิงพาณิชย์ตลอดสองเส้นทาง รวมทั้งรายได้ที่จะมาจากการที่รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าภายหลังสัญญา 50 ปีซึ่งโครงการนี้จะตกเป็นของภาครัฐ ประมาณ 3 แสนล้านบาท

"รองนายกฯสมคิด ตั้งข้อสังเกตว่า การประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ได้อาจจะต่ำไป เพราะที่ผ่านมายังไม่มีโครงการขนาดใหญ่ลักษณะนี้ ตอนนี้ในเรื่องของผลตอบแทนการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางก็เป็นการประเมินเฉพาะผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นบริเวณรัศมี 2 กม.จากเส้นทางรถไฟความเร็วสูง แต่ยังไม่ได้รวมเรื่องของการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งหากดูโมเดลจากญี่ปุ่นที่ใช้รถไฟความเร็วสูงในการเปิดพื้นที่ใหม่คาดว่าจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก โดยการลงทุนในโครงการนี้ของภาครัฐไม่ได้เป็นการอุดหนุนภาคเอกชนแต่เป็นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน" นายคณิศ กล่าว

กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา"45นาที"

สำหรับรายละเอียดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะวิ่งด้วยความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้สามารถเดินทางจาก กรุงเทพฯ-สนามบินอู่ตะเภา ภายใน 45 นาที ใกล้เคียงกับรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินนาริตะเข้าสู่เมืองโตเกียวที่ญี่ปุ่น ซึ่งรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้จะเป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนาจากกรุงเทพฯ เชื่อม จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

โดยจะมีสถานีรถไฟ 5 สถานี ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และสนามบินอู่ตะเภา โดยโครงการนี้ครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินอู่ตะเภา โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงรวมระยะทาง 220 กม.

ได้แก่ 1.รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กม. 2.รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สนามบิน สุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กม. และ 3.รถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบิน อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กม.

ส่วนในระยะที่ 2 ที่จะศึกษาเชื่อมโยงไปถึงชายแดนภาคตะวันออก ซึ่งคาดการณ์ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯระยอง 60 นาที กรุงเทพฯ-จันทบุรี 100 นาที  และกรุงเทพฯ-ตราด 120 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมกว่าการเดินทางโดยรถยนต์และเครื่องบิน

"มักกะสัน"-"ศรีราชา"ผุดพื้นที่พาณิชย์

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร 2 จุดคือบริเวณสถานีมักกะสันในพื้นที่ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง รวมที่จอดรถและเชื่อมโยงกับรถไฟใต้ดิน และบริเวณสถานีศรีราชาในพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานี ที่จอดและอู่ซ่อม เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ โดยพื้นที่ทั้งสองแห่งที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้กำหนดให้ผู้พัฒนาโครงการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามราคาตลาดและให้รัฐมีส่วนร่วมในการรับกำไร เมื่อโครงการมีกำไร (revenue sharing)

เปิด"พีพีพี"ลดภาระงบประมาณ

สำหรับการดำเนินโครงการที่ใช้รูปแบบ PPP เนื่องจากเป็นไปตามหลักการจัดการเงินทุนของประเทศที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หากสามารถให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ก็จะลดภาระงบประมาณและลดภาระหนี้สาธารณะ

แจง"เน็ตคอร์ส"รัฐได้ประโยชน์สูงสุด

โดยรูปแบบการประมูลจะใช้การประมูลแบบเน็ตคอร์ส คือเอกชนที่เข้าประมูลจะเป็นผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดให้กับรัฐก็จะเป็นผู้ชนะการประมูล โดยการประมูลในลักษณะนี้รัฐบาลจะได้ประโยชน์สูงสุด และจ่ายงบประมาณสนับสนุนต่ำที่สุด

พ่วง"ซื้อ-รับหนี้"แอร์พอร์ตลิงก์

นอกจากนี้ บอร์ดอีอีซียังเห็นชอบให้รวมโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ไว้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภาด้วย โดยภาคเอกชนที่เข้ามาประมูลโครงการนี้จะต้องเสนอวงเงินเพื่อซื้อกิจการของแอร์พอร์ตลิงก์ รวมถึงการรับหนี้ของแอร์พอร์ตลิงก์ร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์ มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม 1,785 ล้านบาท

โดยปี 2560 มีการขาดทุน 280 ล้านบาท และมีหนี้จากการก่อสร้างกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงื่อนไขที่ให้เอกชนที่ชนะประมูลเข้ามาบริหารจัดการโครงการแอร์พอร์ตลิงก์และรับภาระหนี้บางส่วนร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้ ร.ฟ.ท.มีเงินไปล้างขาดทุนสะสม และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานแอร์พอร์ตลิงก์

ทั้งนี้ ร่างทีโออาร์ที่ ร.ฟ.ท. เป็นผู้ร่างใกล้จะ แล้วเสร็จและจะเสนอเข้า ครม.ในเดือน มี.ค.โดยจะกำหนดคุณสมบัติทั้งในส่วนของคุณสมบัติทั่วไป เช่น เป็นบริษัทที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการก่อสร้างและบริหารงานโครงการ โดยบริษัทที่จะเข้ามาประมูลจะเข้ามาจดทะเบียนร่วมทุนกับบริษัทในไทยหรือไม่ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เมื่อประมูลโครงการได้แล้วก็จะเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในไทย ซึ่งเงื่อนไขที่จะกำหนดคือผู้ลงทุนต้องถ่ายทอดความรู้ผ่านสถาบันศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรไทยเข้ามาทำงานในการพัฒนารถไฟความเร็วสูง

เคาะค่าโดยสารถึงอู่ตะเภา330บาท

ส่วนราคาค่าโดยสารเบื้องต้นกำหนดราคาค่าโดยสารจากสถานีมักกะสัน-พัทยา ประมาณ 270 บาท และสถานีมักกะสันสนามบินอู่ตะเภา 330 บาทต่อเที่ยว

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่าที่ประชุมยังเห็นชอบให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ไปศึกษาการขยายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เชื่อมโยงกับ3จังหวัดเดิมให้ได้ข้อสรุปภายใน 4 เดือน เช่น ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.สระแก้ว เพื่อสร้างการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจในวงกว้าง โดยจากนี้ต้องนำเสนอแผนการดำเนินงานให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งภายหลังจาก พ.ร.บ.อีอีซีมีผลบังคับแล้ว โดยการประกาศพื้นที่เพิ่มเติมสามารถออกพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมได้

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ