2สมาคมรับสร้างบ้าน ชี้ปี61สดใส ซีคอนโฮม เผยลูกค้าเร่งสร้างบ้านหนีต้นทุนใหม่
Loading

2สมาคมรับสร้างบ้าน ชี้ปี61สดใส ซีคอนโฮม เผยลูกค้าเร่งสร้างบ้านหนีต้นทุนใหม่

วันที่ : 2 มกราคม 2561
2สมาคมรับสร้างบ้าน ชี้ปี61สดใส ซีคอนโฮม เผยลูกค้าเร่งสร้างบ้านหนีต้นทุนใหม่

กว่า 2-3 ปีที่ตลาดรับสร้างบ้านซบเซา เพราะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ การหดตัวของตลาดรับสร้างบ้านที่ล้อไปกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และการเข้มงวดการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านโอดควรเป็นเสียงเดียวกันว่า "รายได้ปีนี้ต่ำกว่าประมาณการ" โดยสาเหตุหลักๆ ของเรื่อง คือ การลูกค้าชะลอการตัดสินใจปลูกสร้างบ้าน เนื่อง จากขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ และความกังวลต่อภาระใช้จ่ายในอนาคต โดยเฉพาะตลาดบ้านสร้างเองในระดับราคาหลักแสน จนถึง 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่ที่สุดในตลาดบ้านสร้างเอง

อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ สถานการณ์ที่ยากลำบาก นั้นเริ่มส่งสัญญาณการเคลื่อนตัวผ่านพ้นไปหลังช่วงไตรมาส 2 ของปี 60 ที่ผ่านมา ทำให้ตลาดรวมรับสร้างบ้านที่คาดว่าจะติดลบในปี 60 พลิกกลับมาเป็นบวก โดยคาดว่าสิ้นปี 60 ตลาดรวมรับสร้างบ้านจะกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3-5%

นี่จึงเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งบ่งบอกว่า ในปี 61 นี้ จะเป็นปีฟ้าสีทองผ่องอำไพ ของธุรกิจรับสร้างบ้านอีกครั้ง หลังจากที่ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ต้องจมอยู่กับมรสุมมานานกว่า 3 ปี ซึ่งตลอดทางในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น มีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านหลายรายปิดตัวไป !...บ้างก็ล้มแผนการขยาย ตลาด เพื่อรอจังหวะที่เหมาะสม !...บ้างก็งัดกลยุทธ์ ลด แลก แจก แถม เพื่อให้ได้งานเข้ามา แม้ต้องเจ็บตัวแต่ก็ยินดีเพราะต้องรักษาองค์กร และดูแลพนักงานให้ยืนหยัดไปได้

อย่างไรก็ตาม สัญญาณการขยายตัวของตลาดในช่วงปลายปี 60 นี้จะเป็นเพียงแค่... ความหวังที่เลื่อนลอย หรือว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไรนั้น ...วันนี้ "ผู้จัดการรายวัน 360" ได้นำแนวคิดและมุมมองของผู้ประกอบการที่คร่ำหวด และ 2 นายกสามาคม ในวงธุรกิจรับสร้างบ้าน มาสะท้อนแนวโน้มตลาดในปี 61 ว่าในปีหน้าจะเป็นปี "ฟ้าสีทอง ผ่องอำไพ" ของธุรกิจรับสร้างบ้านจริงหรือไม่

ทั้งนี้ นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THBA) "สิทธิพร สุวรรณสุต" ได้เปิดเผยถึงแนวโน้มและมุมมองตลาดปี 2561 ว่า  สัญญาณการฟื้นตัวของตลาดรับสร้างบ้านในช่วงกลางปี 60 ที่ผ่านมา มีภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นตัวแปรหลัก ทั้งนี้ แม้ว่าการขยายตัวของ จีดีพี ที่เกินกว่าประมาณการของภาครัฐ จะเกิดจากกลุ่มธุรกิจส่งออกขนาดกลาง และใหญ่เป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากธุรกิจขนาดเล็กและรายย่อย แต่ก็สร้างให้เกิดความเชื่อม และช่วยให้เกิดการตัดสินใจสร้างบ้านที่เร็วขึ้นแก่กลุ่ม ผู้บริโภค ที่มีแผนจะก่อสร้างบ้านอยู่แล้ว แต่ชะลอดูความชัดเจนของเศรษฐกิจก่อนตัดสินใจ

อีกปัจจัยที่สำคัญ ช่วยให้เกิดการตัดสินใจสร้างบ้านเร็วขึ้นในปี 60 คือ ราคาวัสดุก่อสร้าง และต้นทุนการก่อสร้าง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการแข่งขันของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะการจัดแพกเกจสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ และเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้บริโภค ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าที่สร้างบ้านด้วยสินเชื่อตัดสินใจก่อสร้างเร็วขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาทำตลาดของ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ส่งผลให้ลูกค้าตัดสินใจได้เร็วขึ้นในช่วงปลายปี 60 อย่างมาก

จากปัจจัยบวก และแนวโน้มตลาดปลายปี 60 ทำให้สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) ประเมินตลาดว่าตลาดปี 61 จะกลับมาขยายตัวได้ดีที่สุดในรอบ 3 ปี จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าปี 61 ตลาดน่าจะ ยังซึมต่อเนื่องจากปี 60 แต่เนื่องจากช่วงปลายปีตลาดรวมกลับมาขยายตัวได้เร็วมาก เพราะกลุ่มดีมานด์ที่อั้นมานานกลับมาตัดสินใจสร้างบ้าน ขณะที่ดีมานด์ใหม่ก็เริ่มตัดสินใจสร้างบ้านในช่วงปลายปีเช่นกัน นอกจากนี้กลุ่มที่ชะลอก่อสร้างบ้านเพราะต้องรอเงินก้อนหรือรายได้ที่เพิ่มขึ้น จะมีการตัดสินใจปลูกสร้างบ้านในช่วงต้นปี 61 เพราะได้เงินก้อนจากโบนัส ปลายปี และการปรับขึ้นเงินเดือน ทำให้ลูกค้า มีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น และมั่นใจในรายได้ในอนาคต ซึ่งกลุ่มนี้จะตัดสินใจก่อสร้างบ้านในช่วงต้นปี 61 เพิ่มมากขึ้น

"อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวเพียงสะท้อนการตัดสินใจและดีมานด์ในช่วงสั้น แต่หากมองในระยะยาวปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจสร้างบ้าน และจะผลักดันให้ตลาดขยายตัวดีได้คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดต่างจังหวัดนั้น จะขยายตัวได้มากน้อยเท่าใดนั้นต้องดูที่ปัจจัย ของราคาสินค้าการเกษตร หากราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น แน่นอนว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดบ้านสร้างเองในต่างจังหวัดในปีนั้นแน่นอน"

นายสิทธิพรกล่าวว่า  สำหรับตลาดบ้านสร้างเองทั่วประเทศนั่นมีมูลค่าประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท โดยตลาดหลักยังอยู่ในมือกลุ่มรับเหมาก่อสร้างกว่า 90% ขณะที่กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านนั้นมีแชร์ตลาดอยู่ประมาณ 10% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มตลาดบ้าน สร้างเองใหญ่ที่สุดยังเป็นกลุ่มบ้านระดับราคา 0.5-2 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มบ้านระดับนี้เป็นกลุ่มที่ผู้รับเหมาก่อสร้างครองแชร์มากที่สุด ขณะที่กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านที่มีแบรนด์หรือชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับจะกินแชร์ของกลุ่มบ้านระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไปจนถึงระดับราคา 10 ล้านบาทอยู่ประมาณ 60-70% ของมูลค่าตลาดรวม 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท ส่วนบ้านที่มีราคา10 ล้านบาทขึ้นไปจะมีแชร์ตลาดรวมอยู่ 7-8% แต่ไม่เกิน 10% และถูกแชร์โดยบริษัทรับสร้างบ้าน และบริษัทสถาปนิกที่มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างในมือ

"ในปี 2561 ตลาดบ้านสร้างเองที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ดี คือ กลุ่มบ้าน 5-10 ล้านบาท ส่วนบ้านระดับราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาทจะยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ความเชื่อมั่นลูกค้าเริ่มฟื้นตัว จะทำให้ความกล้าในการตัดสินใจของลูกค้าเร็วขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเงินออม ซึ่งลูกค้ากลุ่มดังกล่าวมีแนวโมจะเลือกใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่มีแบรนด์ และมีความน่าเชื่อถือ และมีประสบการณ์ยาวนาน มากกว่าใช้ผู้รับเหมาในการก่อสร้างบ้าน" กล่าวโดยสรุปแล้วในปี 61 จะเป็นปีที่ตลาดรวมรับสร้างบ้านกลับมาขยายตัวในทิศทางที่ดี โดยคาดว่าอัตรา การเติบโตจะไม่ต่ำกว่า 10% โดยในจำนวนนี้จะเป็นการเติบโตโดยมูลค่าประมาณ 2-3% ส่วนที่เหลืออีก 7-8% นั้นจะเป็นการเติบโตมาจากการขยายตลาดของผู้ปะกอบการและการกระตุ้นตลาดผ่านแคมเปญและการแข่งขันของ ผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน"

ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน คาดปี 61 มูลค่าตลาด 15,000 ล้าน

ขณะเดียวกัน "สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน" โดย "พิชิต อรุณพัลลภ" นายกสมาคมฯ แสดงมุมมองต่อตลาดรับสร้างบ้านที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 60 เริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 โดยเฉพาะไตรมาส 4 ของปี เมื่อเทียบกับปีที่ 59 ถือว่าเติบโตขึ้นทั้งด้านปริมาณ และมูลค่า โดยมีสาเหตุมาจากผู้บริโภคเริ่มคลายกังวลกับสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังจากตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี)ของประเทศ ในไตรมาส 3 นั้นขยายตัวถึง 3.2-3.4 %  และมีแนวโน้มว่าจะโตกว่าคาดการณ์ที่รัฐประกาศไว้ไปแตะที่ระดับ 3.8% ทำให้ผู้บริโภคกล้าตัดสินใจที่จะปลูกสร้างบ้าน จนส่งผลให้ตลาดรวมเติบโตสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 10,200 ล้านบาท โดยมูลค่าตลาดน่าจะทำได้ถึง 10,500 ล้านบาท

"จากแนวโน้มในปลายปี 60 นี้ เชื่อว่าจะส่งผลต่อแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในปี61ให้มีอัตราการขยายตัวที่ดี โดยคาดว่าตลาดรวมจะโตได้ถึง 5% หรือมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 15,000 ล้านบาท โดยมีแรงหนุนมาจากการประกาศให้มีการเลือกตั้งของรัฐบาล การลงทุนเมกะโปรเจกต์ ธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตเป็นอย่างมาก ต้นทุนการก่อสร้างที่ไม่ว่าอย่างไรก็เพิ่มขึ้นทุกปี และกฎหมายที่ดินและ สิ่งก่อสร้างที่แม้จะยังไม่มีความชัดเจน แต่ก็เป็นเร่งรัดให้มีการตัดสินใจนำที่ดินออกมาใช้ปลูกสร้าง"

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าความต้องการสร้างบ้านต่อหน่วยจะมีมูลค่าสูงขึ้น จากเดิมราคา 2-3 ล้านบาท ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 30-40% ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2.5-5 ล้านบาท และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 49.98% ส่วนราคาไม่เกิน 2.5 ล้านบาท มีสัดส่วน 21.07 % ราคา 10-20  ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.77% 20 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.25% โดยปัจจุบันลูกค้ามีความเข้าใจในฟังก์ชันการใช้งานมากขึ้น  อีกทั้งสถาบันการเงินก็ให้ความสำคัญกับการสร้างบ้าน โดยมองว่าเป็นลูกค้าชั้นดี หลายแบงก์ให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งโดยปกติแต่ละปีบ้านจะมีการปรับขึ้น3-5%แต่ปีที่ผ่านมาสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ทำให้ไม่มีการปรับขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่บริษัทรับสร้างบ้านเป็นกังวลอยู่ในขณะนี้คือ ปัญหาแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ผ่อนปรน ให้แรงงานต่างด้าวเป็นช่างก่อสร้างได้ จากเดิมที่ให้เป็นแค่กรรมกรแต่ห้ามเป็นช่างก่อสร้างจะสิ้นสุดลงในเร็วๆ นี้ จะส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้างสูงขึ้น และเกิดการแย่งแรงงาน ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวด้วยการบริหารต้นทุนให้ดี ถ้าบริหารจัดการไม่ดีจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอย่างน้อย 3-5 % ดังนั้นรัฐบาลควรอนุญาตให้ต่างด้าวเป็นช่างก่อสร้างได้ และสามารถย้ายนายจ้างได้ ตลอดจนสามารถข้ามเขตได้โดยทำให้ทุกพื้นที่ของจังหวัด

"ซีคอนโฮม"ชี้ต้นทุนวัสดุฯดันราคาสร้างบ้านสูงขึ้น

ด้าน "ซีคอนโฮม" พี่ใหญ่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน โดย "ศุภิชชา ชัยพิพัฒน์" กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทซีคอนโฮม สะท้อนภาวะตลาดปลายปี 60 ว่า หลังตลาดชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีมานี้ ก็เริ่มเห็นสัญญาณ การฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3/60 ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในการ ออกออกบูท งานแฟร์ที่เกี่ยวกับบ้าน พบว่ายอดขายของ "ซีคอนโฮม" สูงกว่าเป้าหมายถึง 30% สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อลูกค้ากลับมาอย่างชัดเจน นอกจากี้ปัจจัยกระตุ้นการตัดสินใจสร้างบ้านปี 60 ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จากมาตรการภาษีที่ดิน ทำให้มีการตัดสินใจสร้างบ้านเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ราคาวัสดุก่อสร้างน่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจสร้างบ้านมากขึ้น โดยราคาวัสดุก่อสร้างจากสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 59 พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยรวมเฉลี่ยที่ 1.4% หมวดเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาสูงขึ้นถึง 8.2% หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้สูงขึ้น 3.3% หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตสูงขึ้น 0.3% ทำให้ "ซีคอนโฮม" ต้องปรับราคาบ้านเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการสร้างบ้านเพิ่มสูงขึ้น ส่วนปี 61 นี้ ยังต้องรอดูทิศทางการปรับราคาของกลุ่มวัสดุก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยการก่อสร้างโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ, การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่จะส่งผลให้มีการใช้วัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ปริมาณมาก รวมทั้งการใช้แรงงานก่อสร้าง ที่จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลน และส่งผลต่อต้นทุนดังกล่าว และนี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นให่มีการตัดสินใจสร้างบ้านเร็วขึ้นและส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดรวม

"บิวท์ ทู บิวด์" ชู 3 ปัจจัยฟื้นความเชื่อมั่น

ด้าน "สุธี เกตุศิริ"เอ็มดี "กลุ่มบิวท์ ทู บิวด์" ระบุว่า ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของผู้บริโภค ส่งผลให้การตัดสินใจสร้างบ้านเร็วขึ้นและหนุนให้ตลาดปี61มีการเติบโต ทั้งนี้ มีตัวเลข 3-4 ตัวที่สะท้อนปัจจัยบวกในปี 61และเชื่อว่าจะหนุนให้ตลาดเติบโตได้ดี คือ 1.ตัวเลขการลงทุนของภาครัฐซึ่งมีจำนวนมากขึ้น และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตัวเลขการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ตัวเลขตัวที่ 2 คือ ตัวเลขการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ตัวเลขที่ 3 คือ ตัวเลขด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้มีการขยายตัวที่ดีต่อเนื่องจากปีที่แล้วและคาดวาในปี 61 จะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น

"เครื่องยนต์ทั้ง 3ตัวนี้ สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศในปีนี้ได้ชัดเจนมาก แม้ว่าในปีก่อนหน้านี้ตัวเลข 3 ตัวดังกล่าวดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนที่กับปี 60 การขยายตัวของภาคการลงทุน การส่งออก และตัวเลขด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจะทำให้จีดีพีในปีนี้ขยายตัวได้ที่ 3.8%  สูงกว่าคาดการเดิมที่รัฐบาลคาดการไว้ที่ 3.5%"

 
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
ข่าววัสดุก่อสร้าง-เฟอร์นิเจอร์ อื่นๆ