โยธาดับฝันคอนโดนนท์ ห้ามสร้างในซอย-เอกชนเผ่นกลับกทม.
Loading

โยธาดับฝันคอนโดนนท์ ห้ามสร้างในซอย-เอกชนเผ่นกลับกทม.

วันที่ : 10 ธันวาคม 2560
โยธาดับฝันคอนโดนนท์ ห้ามสร้างในซอย-เอกชนเผ่นกลับกทม.

กรมโยธาฯ เบรกดีเวลอปเปอร์ขอปลดล็อกผังเมืองนนท์ขึ้นคอนโดฯในซอย ฟันธงต้องทำเลติดถนน ใหญ่-รถไฟฟ้าเท่านั้น เผยถนนแคบทำจราจรอัมพาตรถดับเพลิงเข้าลำบาก พร้อมปูกฎเหล็กคุมจังหวัดปริมณฑล-หัวเมืองใหญ่ เอกชนลั่นต้นทุนสูงพร้อมกลับกทม.

จากกรณีมีผู้ประกอบการคัดค้านผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรีที่จะบังคับใช้ราวกลางปี 2561 ว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ต่อการพัฒนาและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมในซอย

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าหากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบต่อข้อกำหนดผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรีฉบับใหม่ สามารถยื่นเรื่องถึงคณะกรรมการผังเมือง(บอร์ดผังเมือง) ได้ แต่กรณีขอผ่อนปรนการสร้างคอนโดมิเนียมสูงไม่เกิน 8 ชั้นในซอยกว้าง  5-7 เมตร ไม่เห็นด้วย

เนื่องจากอาคารใหญ่มีคนอยู่อาศัยมากควรสร้างติดถนนสายหลักและรถไฟฟ้า ถือว่าเหมาะสม ขณะเดียวกันยังเห็นด้วยกับท้องถิ่นที่กำหนดพื้นที่ที่จอดรถ มาตรฐานเดียวกับกรุงเทพ มหานครขนาด 240  ตารางเมตรจากเดิม 120 ตารางเมตร ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักสร้างบนที่ดินต้นทุนต่ำ ไม่มีที่จอดรถ หรือมีก็ไม่เพียงพอจนต้องนำรถไปจอดบนผิวจราจรทำให้จราจรติดขัด ที่สำคัญหากเกิดเพลิงไหม้รถดับเพลิงเข้าลำบาก

รวมทั้งยังกระทบระบบประปาที่ไม่เพียงพอกับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับบ้านจัดสรรจำเป็นต้องกำหนดโซนที่ชัดเจน มีสาธารณูปโภครองรับเพียงพอ หากสร้างในพื้นที่ที่ระบบประปา ถนน บริการขนส่งสาธารณะเข้าไม่ถึง ก็จะสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะเกิดการร้องเรียน

นายมณฑลกล่าวอีกว่า นนทบุรีมีพื้นที่ติดกับกรุงเทพ มหานคร พัฒนาและมีระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยง แทบจะเป็นเนื้อเดียวกับกทม.  ที่ผ่านมา มีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยอย่างรวดเร็ว แต่เงื่อนไขทางผังเมืองกับการพัฒนาต่างจากกทม. อย่างไรก็ตาม ทุกจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ คือ จังหวัดปริมณฑล เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ฉะเชิงเทรา ตลอดจนเมืองใหญ่ อย่างภูเก็ต อนาคตจะกำหนดข้อกำหนดผังเมืองไม่ต่างไปจากกทม.และนนทบุรี แต่เงื่อนไขการพัฒนาอาจต่างกันแต่ละจังหวัดกำหนด

ด้านนายเลิศมงคล  วราเวณุชย์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า  สมาคมจะทำหน้าที่สะท้อนข้อเท็จจริง เกี่ยวกับข้อจำกัดของจังหวัดนนทบุรี ต่อกรมโยธาธิการฯต่อไป คือ ถนนซอยมีขนาด 5-7 เมตร และตลอดแนวมีตึกแถวเกิดขึ้น ท้องถิ่นไม่สามารถเวนคืนขยายเขตทางได้เนื่องจาก งบจำกัด ขณะที่ราคาที่ดินในซอย 1.5-2 แสนบาทต่อตารางวาส่วนที่ดินติดถนนใหญ่และรถ ไฟฟ้า 3 แสนบาทต่อตารางวา กรณีเอกชนจะพัฒนาตามเงื่อนไขผังเมืองย่อมทำได้ แต่ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อต่ำและหนีบ้านแพงจากกทม. มาอยู่นนทบุรีจะทำอย่างไร ขณะที่ผู้ประกอบการ หากพบปัญหาสามารถหนีไปจังหวัดอื่นได้

นอกจากนี้เมื่อที่ดินในซอยพัฒนาไม่ได้ ผู้ประกอบการไม่ซื้อนอกจากราคาที่ดินอาจปรับลดลงแล้ว เจ้าของที่ดินต้องรับภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะบังคับใช้อีก 11 เดือนข้างหน้า อัตราที่รกร้างว่างเปล่า 5% หาก 90 วันไม่มีเงินเสียภาษีจะถูกอายัดและขายทอดตลาด

ส่วนปัญหารถดับเพลิงเข้าซอยไม่ได้ มองว่าเป็นเรื่องปลายเหตุ หากเทียบกับยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาอย่างไหนจะสมเหตุสมผลกว่ากัน  และหากเทียบในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ สามารถเปิดให้อาคารสร้างในซอย 3-4 เมตรได้

ด้านนายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ยกร่างผังเมืองโดยยกมาตรฐานจังหวัดนนทบุรีเหมือน กับกทม. ทำให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นพื้นที่ขายลดลง ส่งผลให้ คนที่ทำงานในกทม.และอยากมีบ้านที่นนทบุรีเพราะราคาถูกต่อไปต้องขยับออกไปไกลขึ้น ส่วนแนวราบมองว่าทำยากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการสามารถย้ายกลับไปพัฒนาในกทม.เพราะข้อจำกัดไม่ต่างกัน แต่มุมกลับมองว่าที่อยู่อาศัยเมืองนนท์จะมีสภาพแวดล้อมที่ดินและคุณภาพสูงขึ้น

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าว reic จากสื่อสิ่งพิมพ์ อื่นๆ