ผ่าแผนพัฒนาพื้นที่'มักกะสัน'สู่สมาร์ทซิตี้ประตูสู่กรุงเทพฯ-จุดบรรจบ'ไฮสปีด3สาย'
Loading

ผ่าแผนพัฒนาพื้นที่'มักกะสัน'สู่สมาร์ทซิตี้ประตูสู่กรุงเทพฯ-จุดบรรจบ'ไฮสปีด3สาย'

วันที่ : 4 กันยายน 2560
ผ่าแผนพัฒนาพื้นที่'มักกะสัน'สู่สมาร์ทซิตี้ประตูสู่กรุงเทพฯ-จุดบรรจบ'ไฮสปีด3สาย'

สุรัตน์ อัตตะ/www.komchadluek.net

อภิมหาโปรเจกต์ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงบนเนื้อที่กว่า 745 ไร่ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมเนรมิตให้เป็นเมืองใหม่ หรือ สมาร์ท ซิตี้ บริเวณพื้นที่ย่านมักกะสันเพื่อรองรับการคมนาคมขนส่งทั้งระบบที่เป็นจุดบรรจบของไฮสปีดเทรนทั้ง 3 สาย กลายเป็นประตูสู่กรุงเทพฯ ที่เปิดรับผู้มาเยือนจากทั่วโลก

"มักกะสันเป็น 1 ใน 4 ที่ดินแปลงใหญ่ของกรุงเทพฯ ซึ่งหากพัฒนาได้ตามเป้าหมายก็จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ทันสมัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถรองรับโลจิสติกส์ในระดับประเทศและอาเซียน เชื่อมต่อโครงการกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยาน โครงการรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง และรถไฟทางคู่ รวมทั้งจะส่งผลดีต่อการปฏิรูปการรถไฟฯ

พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นสรุปผลการทบทวน/ศึกษาเพิ่มเติมความเหมาะสมด้านธุรกิจและการลงทุนโครงการพัฒนาบริเวณพื้นที่ย่านมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) พ.ศ.2556 โดยมีนักลงทุนหลายกลุ่มให้ความสนใจเข้าร่วมงานสัมมนาดังกล่าวกว่า 200 ราย อาทิ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, เครือบีทีเอส, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM, ช.การช่าง, ศุภาลัย, พฤกษา, อารียา, แม็คโคร, แมกโนเลีย, เอราวัณ, บิ๊กซี, เซ็นทรัลพัฒนา, เจ้าพระยามหานคร, สยาม พิวรรธน์, ภูเก็ตพัฒนาเมือง เป็นต้น

สำหรับโครงการดังกล่าว การรถไฟฯ เป็นผู้ว่าจ้างให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เป็นผู้ออกแบบสำรวจและทำการศึกษาจนได้ผลสรุป โดยมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซนเอ(A) ซึ่งเป็นส่วนธุรกิจการค้า จำนวน 139.82 ไร่ประกอบด้วย สถานีเชื่อมสู่ท่าอากาศยาน โรงแรม ศูนย์ประชุมสัมมนา ห้างสรรพสินค้าและอาคารจอดรถ

โซนบี(B) เป็นส่วนอาคารสำนักงาน จำนวน 179.2 ไร่ ประกอบด้วย มักกะสัน ทาวเวอร์ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ อาคารสำนักงาน อุตสาหกรรมของรัฐ ธนาคาร โซนซี(C) เป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์ จำนวน 151.0 ไร่ ประกอบด้วยส่วนที่อยู่อาศัยและสาธารณสุข ประกอบด้วยโรงพยาบาลระดับนานาชาติ โรงเรียนนานาชาติ ศูนย์แสดงสินค้าและโซนดี(D) เป็นส่วนพิพิธภัณฑ์การรถไฟฯ จำนวน 38.6 ไร่ ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์การรถไฟ ที่ทำการส่วนราชการ โดยแต่ละโซนนั้นยกเว้นโซนดีจะถูกกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวหรือสวนสาธารณะไม่ต่ำกว่า 15 ไร่

"มักกะสันเป็นกุญแจสำคัญที่จะพัฒนาการรถไฟฯ ให้เป็นองค์กรชั้นนำต่อไปได้ การพัฒนาทรัพย์สินที่การรถไฟฯ มีอยู่กว่า 3 แสนล้านบาทให้ได้ผลตอบแทนในลักษณะที่เป็นราคายุติธรรม ก็สามารถทำให้การรถไฟฯ เปลี่ยนโฉมไปเลย"

รมช.คมนาคม กล่าวต่อไปว่าประเด็นสำคัญตอนนี้คือการตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟฯ ซึ่งจะทำให้โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ มีความชัดเจนมากขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมตั้ง เป้าหมายจะเสนอเรื่องการตั้งบริษัทลูกให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาในปลายเดือนกันยายนนี้และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือนตุลาคม 2560

"เบื้องต้นจะขอให้ ครม.เห็นชอบการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว โดยยกเว้นระเบียบ 2 ส่วนเพื่อให้มีความคล่องตัวในลักษณะเดียวกับ ปตท. หรือการบินไทย คือ 1.ยกเว้นระเบียบการจ้างบุคลากรทั้งหมดให้ไม่ต้องอิงกับ พ.ร.บ.การรถไฟฯ เพราะต้องการจ้าง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 2.ขอให้ใช้โครงการระดมทุนด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ เช่น ออกตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) รูปแบบต่างๆ เป็นต้น หากเป็นไปตามแผนก็คาดว่าจะเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2561 แต่ตอนนี้ยังระบุไม่ได้ว่าจะเปิดประมูลพื้นที่มักกะสันแปลงใด รูปแบบใด และเมื่อใด เพราะการพัฒนาพื้นที่มักกะสันเพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นและสามารถปรับเปลี่ยนได้อีก จึงต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง"

ขณะที่ วรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ รฟท. ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ระบุว่า พื้นที่ทรัพย์สินของการรถไฟฯ เป็นของทุกคน ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่จะต้องให้มีทุกคนมีส่วนร่วมว่าอยากได้พื้นที่ออกมาเป็นหน้าตาอย่างไร ซึ่งการออกแบบจะมุ่งไปที่ 3 กลุ่มเป้าหมายคือพื้นที่สีเขียว พื้นที่ธุรกิจและที่อยู่อาศัยของประชาชน โดยพื้นที่แต่ละแห่งของการรถไฟฯ จะต้องเชื่อมโยงกัน ถือเป็นการเริ่มต้นการพัฒนากทม.ไปอีกจุดหนึ่ง "เราอยากให้มักกะสันเป็นจุดเชื่อมโลจิสติกส์ ของกทม. รถไฟความเร็วสูงก็มาจอดเป็นสถานที่สุดท้ายที่นี่ ตอนนี้การรถไฟฯ อยู่ในช่วงปฏิรูปหน่วยงานและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์" รองผู้ว่าการ รฟท.กล่าว

รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงที่มาของโครงการ โดยระบุว่า การรถไฟฯ ได้ว่าจ้างนิด้าเป็นที่ปรึกษาเพื่อทบทวนโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสัน เนื่องจากผลการศึกษาเดิมจัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งตอนนี้สภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายพีพีพีก็เปลี่ยนจากฉบับปี 2535 เป็นปี 2556

"การศึกษาใหม่ยังอ้างอิงผลการศึกษาเดิมบางส่วน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซนเท่าเดิม แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ของรัฐบาล"

อธิการบดีนิด้าเผยต่อว่า ในเฟสแรกจะเปิดประมูลพื้นที่โซนเอและโซนซีบางส่วน เนื่องจากเป็นพื้นที่ว่างเปล่า จากนั้นจะทยอยเปิดประมูลแปลงอื่นๆ ตามมา ขณะเดียวกันจะขอให้นักลงทุนพัฒนาพื้นที่โซนบีและโซนซี บางส่วนเป็นพื้นที่สีเขียวด้วย ซึ่งแต่ละโซนจะต้องไม่ต่ำกว่า 15 ไร่

นับเป็นอีกก้าวของการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อก้าวไปสู่ความเป็น สมาร์ท ซิตี้ ที่มีความพร้อมในทุกๆ ด้านและเป็นหน้าด่านแรกการเปิดประตูสู่กรุงเทพฯ อีกด้วย

สำหรับมุมมองของผู้ประกอบการและ นักลงทุนที่เข้าร่วมฟังสรุปผลโครงการในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสันเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองหลวง หากแต่ยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมยุคบุกเบิกสมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนโรงซ่อมรถจักร เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ให้ ชนรุ่นหลังได้ศึกษา ยกระดับโรงพยาบาลรถไฟสู่สากลไว้รองรับลูกค้าชาวต่างชาติ

ตัวแทนจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้มุมมองว่านอกจากของเดิมที่มีอยู่แล้วจะต้องเพิ่มของใหม่เข้าไปด้วย สำหรับอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการรถไฟตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ส่วนระบบโลจิสติกส์นอกจากการขนส่งระบบรางทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าแล้ว จะต้องให้ความสำคัญคมนาคมทางน้ำด้วย เนื่องจาก พื้นที่อยู่ไม่ไกลกับคลองแสนแสบ มีเรือวิ่งประจำอยู่แล้ว เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนและ นักท่องเที่ยวด้วย

"การออกแบบพัฒนาย่านมักกะสันควรจะ เอาแบบอย่างการคมนาคมทางบกของโตเกียว อินเตอร์เนชั่นเนล ฟอรั่มในโตเกียว มาผนวกกับของเมืองอัมสเตอร์ดัมที่มีจุดเด่นระบบการขนส่งทางน้ำมาไว้ด้วยกัน เพราะของเรามีพร้อมอยู่แล้ว"

อำพน ทองรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสัน โดยให้มุมมองไว้ 3 ประเด็นคือ 1.การประหยัดพลังงาน รูปแบบของอาคารจะต้องประหยัดพลังงานเป็นสำคัญ อย่างเช่นการใช้โซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงซ่อมรถจักร เป็นต้น 2.การพัฒนายกระดับโรงพยาบาลรถไฟสู่อินเตอร์ เพื่อรองรับผู้ให้บริการชาวต่างชาติด้วย และ 3.การอนุรักษ์อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเอาไว้ เป็นอาคารที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2450 สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามมากและการปรับเปลี่ยนโรงซ่อมรถจักรที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์จะต้องอนุรักษ์ไว้ ไม่ทำลายทิ้งเมื่อมีการย้ายโรงซ่อมรถจักรไปยังที่แห่งใหม่

"โรงพยาบาลรถไฟมีที่ตั้งทำเลที่ดีมากๆ เพราะติดถนนทั้ง 3 สาย มีเนื้อที่มากถึง 30 ไร่ เป็นโรงพยาบาลที่มีเนื้อที่มากที่สุดในประเทศไทย จะต้องมีการพัฒนา ยกระดับไปสู่ธุรกิจมากขึ้น" อำพน กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตาม ทางการรถไฟฯ จะทำการประชาพิจารณ์โครงการโดยให้ผู้เกี่ยวข้องหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมรับฟังสรุปผลการศึกษาอีกครั้งในวันอังคารที่ 5 กันยายน นี้ ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต ประตูน้ำ เวลา 13.00-16.00 น.

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ