เร่งทดสอบรถไฟฟ้าเตาปูน-บางซื่อ
Loading

เร่งทดสอบรถไฟฟ้าเตาปูน-บางซื่อ

วันที่ : 14 มิถุนายน 2560
เร่งทดสอบรถไฟฟ้าเตาปูน-บางซื่อ

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าการติดตั้งระบบการเดินรถไฟฟ้าระหว่างสถานีเตาปูนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน-บางใหญ่) และสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนแรกช่วง (บางซื่อ-หัวลำโพง) ระยะทาง 1 กม. ที่มีปัญหาขาดช่วง ว่า ขณะนี้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ผู้รับสัมปทานเดินรถได้ติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าทั้งส่วนราง และตัวอาณัติสัญญาณเสร็จเรียบร้อยแล้ว 100% อยู่ระหว่างทดสอบสัญญาณไฟฟ้าของทั้ง 2 สถานีให้ได้มาตรฐาน คาดว่าจะทดสอบเสร็จภายในเดือน มิ.ย. นี้ จากนั้นจะทดสอบการเดินรถเสมือนจริงคือนำรถไฟฟ้ามาวิ่งไปมาระหว่าง 2 สถานีกลางเดือน ก.ค. นี้ และยืนยันว่าจะเปิดให้บริการประชาชนเป็นทางการตามกำหนดเดิมคือ เดือน ส.ค. นี้ โดยจะกำหนดวันเปิดให้บริการที่แน่ชัดและประชาสัมพันธ์ให้ทราบอีกครั้ง รวมทั้งพิจารณาด้วยว่าจะให้ประชาชนทดลองใช้ก่อนเปิดบริการจริงหรือไม่

 

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเชื่อมต่อ 1 สถานีแล้วเสร็จคาดว่าจะมีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น 15-20% จากปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีผู้ใช้บริการประมาณ 2 หมื่นกว่าคนต่อวัน และยังเก็บค่าบริการเท่าเดิมคือ 16-42 บาทโดยไม่เก็บค่าแรกเข้าแม้จะเป็นรถไฟฟ้าคนละสาย โดยหากวิ่งตลอดสายสีม่วงจากบางใหญ่-เตาปูนและเชื่อมสายสีน้ำเงินส่วนแรกบางซื่อ-หัวลำโพงค่าโดยสารอยู่ที่ 16-70 บาท ปรับขึ้นตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทุก 2 ปี สำหรับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจากหัวลำโพง-บางแคจะเปิดบริการเดือน ก.ย. 62 และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เปิดบริการภายในเดือน มี.ค. 63 โดยเมื่อรวมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนแรกและส่วนต่อขยายรวมทั้งสายสีม่วงเข้าด้วยกันจะมีระยะทางทั้งหมด 63.8 กม. จะพิจารณาอัตราค่าโดยสารอีกครั้ง

 

นายภคพงศ์ กล่าวอีกว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่ต่อเชื่อมกับสถานีเตาปูนของรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีทั้งหมด 5 สัญญา สัญญาที่ 1 หัวลำโพง-สนามไชย บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับเหมา ก่อนหน้านี้มีปัญหาระดับน้ำใต้ดินซึมเข้าสถานีวังบูรพา รฟม. ได้เร่งรัดแก้ไขโดยเทพื้นปิดทับจุดรั่วซึมประมาณ 50 ตารางเมตร สิ้นสุดสัญญาเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ได้ขยายเวลาก่อสร้างตามมติ ครม. กรณีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อีก 180 วัน ผลงานคืบหน้าประมาณ 85% คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 60 สัญญาที่ 2 สนามไชย-ท่าพระ บริษัท ช.การช่างผู้รับเหมาส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว คงเหลือเพียง สัญญาที่ 3 เตาปูน-ท่าพระ ซึ่งรับจ้างโดย กิจการร่วมค้าเอสเอช-ยูเอ็น มีปัญหาการก่อสร้างที่ทางวิ่งยกระดับรถไฟฟ้าบริเวณแยกไฟฉายอยู่ระหว่างการเร่งรัด กำหนดแล้วเสร็จกลางปี 61 สัญญาที่ 4 ท่าพระ-หลักสอง บริษัท ชิโน-ไทย ได้รับการขยายเวลาก่อสร้าง อีก 150 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 60 และสัญญาที่ 5 งานติดตั้งระบบราง โดยบริษัท ช.การช่าง ทยอยติดตั้งเกือบจะครบแล้วจะเข้าพื้นที่ติดตั้งระบบรางได้กลางเดือน ส.ค. นี้

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีระยะทาง 13 กม. 9 สถานี  (ไม่รวมสถานีบางซื่อและสถานีเตาปูน) เป็นเส้นทางยกระดับทั้งหมด เริ่มต้นจากปลายทางโครงการระยะแรกที่สถานีบางซื่อยกระดับจากอุโมงค์บริเวณสะพานสูงบางซื่อ หน้าบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วงที่สถานีเตาปูนบริเวณแยกเตาปูน ผ่านแยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าน้ำบางโพเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนจรัญสนิทวงศ์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อนโครงข่ายในเมือง ที่สถานีสิรินธรบริเวณแยกบางพลัด ผ่านคลองบางยี่ขัน แยกบรมราชชนนี คลองบางกอกน้อย แยกบางขุนนนท์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ที่สถานีบางขุนนนท์ผ่านย่านตลาดบางขุนศรี แยกไฟฉาย คลองมอญ วัดท่าพระไปสิ้นสุดเส้นทางโดยบรรจบ กับส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแคที่แยกท่าพระ จุดตัดถนนเพชรเกษมและถนนรัชดาภิเษก

 

ช่วง หัวลำโพง-บางแค 13.8 กม. เป็นทางวิ่งใต้ดิน 4.9 กม. และทางวิ่งยกระดับ 8.9 กม. มี 14 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 4 สถานี (ไม่รวมสถานีหัวลำโพง) สถานียกระดับช่วงท่าพระ-บางแค 10 สถานี เริ่มต้นจากอุโมงค์ใต้ดินปลายเส้นทางโครงการระยะแรกที่สถานีหัวลำโพงไปตามถนนพระรามที่ 4 ผ่านแยกหัวลำโพงเข้าสู่ถนนเจริญกรุง (ใกล้ถนนเยาวราช) ผ่านวัดมังกรกมลาวาส ย่านคลองถม วังบูรพา เฉลิมกรุง วังสราญรมย์ เลี้ยวซ้ายที่วงเวียน รด. หน้าวัดพระเชตุพนฯ เข้าสู่ถนนสนามไชย ผ่านมิวเซียมสยามลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ ปากคลองตลาด ผ่านบริเวณวัดกัลยาณมิตรลอดใต้คลองบางกอกใหญ่และถนนอิสรภาพ ย่านบางกอกใหญ่ แล้วยกระดับเข้าสู่แยกท่าพระไปบรรจบกับส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จากนั้นยกระดับไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า ภาษีเจริญ ตลาดบางแค ไปสิ้นสุดเส้นทางที่ทางแยกต่างระดับบางแค จุดตัดถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก)

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ