สนข. เร่งเคาะไอซีดีฉะเชิงเทรา
Loading

สนข. เร่งเคาะไอซีดีฉะเชิงเทรา

วันที่ : 16 มกราคม 2562
"สนข." เร่งศึกษาสถานีขนส่ง สินค้าคอนเทนเนอร์ ฉะเชิงเทรา คาดแล้วเสร็จ ภายใน ก.พ.นี้ ก่อนดันเข้าขั้นตอนพีพีพี เผยเลือกพื้นที่ ต.บ้านโพธิ์ 600-700 ไร่ กางแผนปั้นศูนย์กลางกระจายสินค้าเชื่อม อีอีซี-อาเซียน อธิบดีกรมโยธาฯ แนะปักหมุด อ.บางน้ำเปรี้ยว เผย อ.บ้านโพธิ์ เหมาะพัฒนาเมืองใหม่
          สนข." เร่งศึกษาสถานีขนส่ง สินค้าคอนเทนเนอร์ ฉะเชิงเทรา คาดแล้วเสร็จ ภายใน ก.พ.นี้ ก่อนดันเข้าขั้นตอนพีพีพี เผยเลือกพื้นที่ ต.บ้านโพธิ์ 600-700 ไร่ กางแผนปั้นศูนย์กลางกระจายสินค้าเชื่อม อีอีซี-อาเซียน อธิบดีกรมโยธาฯ แนะปักหมุด อ.บางน้ำเปรี้ยว เผย อ.บ้านโพธิ์ เหมาะพัฒนาเมืองใหม่

          นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รอง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข. อยู่ระหว่างทำร่างรายงานการศึกษา ฉบับสมบูรณ์ โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า คอนเทนเนอร์ (ไอซีดี) จ.ฉะเชิงเทรา โดยข้อมูลผลการศึกษายังคงยืนยันพัฒนาโครงการดังกล่าวในพื้นที่ ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และคาดว่าภายในเดือน ก.พ.นี้ ผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จ เพื่อเริ่มต้นขั้นตอนเสนอกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

          "ก่อนหน้านี้ สนข.ได้ลงพื้นที่รับฟัง ความคิดเห็นจากภาคประชาชนแล้ว ว่าจะปรับพื้นที่อย่างไร ดูแลชาวบ้านอย่างไร และในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ก็จะลงพื้นที่อีกรอบเพื่อคุยกับชาวบ้านเพิ่มเติม ส่วนประเด็นของการใช้พื้นที่ ตอนนี้แน่ชัดแล้วว่า จะเป็น อ.บ้านโพธิ์ แผนพัฒนาก็จะทำ เป็นพื้นที่รองรับเกี่ยวกับศุลกากร มีสิ่งอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการขนส่งสินค้า และโครงการรถไฟก็จะเข้ามา สนับสนุนการขนส่งทางรางด้วย"

          เล็งเปิดเอกชนร่วมลงทุน

          ทั้งนี้ สนข.ได้รับหน้าที่ศึกษาโครงการ ไอซีดีฉะเชิงเทรา หลังจากโครงการได้รับ อนุมัติแล้ว สนข.จะต้องส่งต่อผลการศึกษา ให้แก่ กพอ.เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนเปิด ประกวดราคา ในลักษณะเปิดให้เอกชน ร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) โดยเอกชน ในธุรกิจเดินเรือ หากสนใจเป็นผู้รับสัมปทานบริหารสถานีขนส่งสินค้า ก็อาจจะเข้ามาร่วมลงทุนได้

          สำหรับรูปแบบการพัฒนาในเบื้องต้น คาดว่าจะใช้พื้นที่ 600-700 ไร่ ในส่วนนี้กว่า 50% จะแบ่งเป็นการพัฒนากิจกรรมศุลกากร การนำเข้าและส่งออก ส่วนอีก 50%  จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก เส้นทางถนนเพื่อการคมนาคม ซึ่งจะมีการแบ่งให้เอกชนพัฒนาส่วนใดนั้น อาจจะต้องเป็นอำนาจการตัดสินใจของ ทางคณะกรรมการอีอีซี โดยมั่นใจว่า เมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จก็จะสามารถเร่งรัดขั้นตอนเพื่อเริ่มการลงทุนได้ เนื่องจากเป็นโครงการที่สนับสนุนการขยายตัวของ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สนข.ศึกษาเสร็จ ก.พ.62

          รายงานข่าวจาก สนข.ระบุว่า ผลการศึกษา ที่เลือกพื้นที่บริเวณพื้นที่หมู่ 4 ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่พัฒนา พิจารณาจากความเหมาะสมทั้งในด้าน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การลงทุน และวิศวกรรม อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ใน จุดยุทธศาสตร์ที่รวบรวมและกระจายสินค้าไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือและกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

          นอกจากนี้ ไอซีดี ฉะเชิงเทรา จะเป็นศูนย์กลางรองรับการรวบรวม และกระจายสินค้าเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่าง นิคมอุตสาหกรรมรอบพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อ เข้าสู่พื้นที่อีอีซี ไปยังท่าเรือแหลมฉบังท่าเรือพาณิชย์สัตหีบและท่าเรือมาบตาพุด โดยจะเชื่อมต่อการขนส่งผ่านระบบรางในเส้นทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ที่ขณะนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

          สำหรับรูปแบบการลงทุนลักษณะพีพีพี จากการศึกษาความเหมาะสมในเบื้องต้น ภาครัฐจะเป็นฝ่ายสนับสนุนพื้นที่ และระบบ สาธารณูปโภคต่างๆ ส่วนเอกชนลงทุนพัฒนา โครงการ โดย สนข.จะศึกษาผลักดันโครงการเข้าสู่พีพีพี อีอีซี ฟาสต์แทรคเพื่อลดขั้นตอนและรวดเร็วในการดำเนินงาน มีเป้าหมายเริ่มขั้นตอนเปิดประมูลหลังศึกษาโครงการแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.2562

          ผังเมืองชี้บางน้ำเปรี้ยวเหมาะสม

          นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การใช้ประโยชน์พื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัดนั้น ในผังเมืองได้กำหนดให้ จ.ฉะเชิงเทรา จะเน้นในการพัฒนาให้เป็นเมืองรองรับการขยายตัว ของกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่อาศัยและเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์

          สำหรับการพัฒนาพื้นที่โครงการไอซีดี จ.ฉะเชิงเทรา ที่ สนข.ได้กำหนดไว้ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรานั้น มองว่าในพื้นที่นี้ ไม่เหมาะสมที่จะจัดทำไอซีดี เพราะ อ.บ้านโพธิ์ เป็นพื้นที่เหมาะกับการเป็นเมืองที่พักอาศัยที่น่าอยู่มากกว่า ซึ่งทำให้ไม่เหมาะที่จะมี รถบรรทุกและรถคอนเทนเทนอร์มาวิ่งในเมืองนี้

          เตรียมพื้นที่1.5พันไร่รองรับ

          ทั้งนี้ มองว่าพื้นที่ที่เหมาะสมน่าจะอยู่ ทางด้านเหนือของ จ.ฉะเชิงเทรา เช่น อ.บางน้ำเปรี้ยว ที่อยู่ติดเส้นทางรถไฟ และถนนสายหลัก ซึ่งใกล้กรุงเทพฯ ชุมชนเมืองไม่หนาแน่น ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองจะร่วมกับ สกพอ.ผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับการพัฒนารองรับศูนย์กลางโลจิสติกส์ 1,500 ไร่ ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา

          นอกจากนี้ การร่างแผนผังอีอีซียังมี พื้นที่เกษตร แหล่งน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8.2 ล้านไร่ ซึ่งแม้ว่าพื้นที่เกษตรจะลดลงบ้าง แต่เป็นสัดส่วนที่เหมาะสม โดยจะไม่แตะพื้นที่เกษตรที่มีคุณภาพ

          "พื้นที่อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะขยายเพิ่มจากเขตนิคมอุตสาหกรรมเดิม ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งการขยายพื้นที่ อุตสาหกรรมเดิมให้เพิ่มขึ้น เพื่อรวมกลุ่มโรงงานต่างๆ ไว้ในนิคมฯ เพื่อให้สะดวก ในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า รวมทั้ง อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมใน อีอีซี จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่กระทบต่อ สิ่งแวดล้อมน้อย"

          นอกจากนี้ ในผังเมืองยังได้กำหนดพื้นที่ ที่ควรจะสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย และกำจัดขยะ ทั้งจากครัวเรือนและอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการขยายตัวของตัวเมือง และอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น

          ทั้งนี้ กรมโยธาธิการได้นำข้อมูล ประชากรที่ สกอพ.ศึกษามาใช้ในการออกแบบผังด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน และผังโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับจำนวนประชากรในอนาคตได้อย่างเพียงพอ  โดยจากการคาดการณ์ประชากรในอีอีซี โดยปี 2580 จะมีประชากรรวม 6.29 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 1 เท่าจากประชากรปี 2560 ที่มี 2.93 ล้านคน โดยในปี 2580 จ.ชลบุรีจะมีประชากร 3,422,620 คน จ.ระยอง 1,030,405 คน และ จ.ฉะเชิงเทรา 1,844,679 คน อัตราการเพิ่มเฉลี่ย 4% ต่อปี นักท่องเที่ยว คาดว่าจะมี 51.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.1 เท่า จากปัจจุบัน

          อ.บ้านโพธิ์ จะเป็นพื้นที่รองรับการขนส่งสินค้ามีสิ่งอำนวยความสะดวกและเชื่อมการขนส่งทางราง วิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ