ทุนใหญ่ ลุ้นเคาะ 6.7แสนล้านอีอีซี
Loading

ทุนใหญ่ ลุ้นเคาะ 6.7แสนล้านอีอีซี

วันที่ : 28 มีนาคม 2562
ทุนใหญ่ไทย-เทศ ลุ้นประมูลบิ๊กเมกะโปรเจ็กต์พื้นที่อีอีซี มูลค่ากว่า 6.7 แสนล้าน ที่ยังเดินหน้าต่อเนื่อง แหลมฉบังเฟส 3 เปิดยื่นซอง 29 มี.ค.นี้ มี 6 กลุ่มทุนชิง ขณะไฮสปีดเทรน3 สนามบิน ซีพีขอเลื่อนให้คำตอบ4 เม.ย. ภาครัฐมั่นใจทุกโครงการเดินตามไทม์ไลน์
          6กลุ่มชิงแหลมฉบังเฟส3

          ทุนใหญ่ไทย-เทศ ลุ้นประมูลบิ๊กเมกะโปรเจ็กต์พื้นที่อีอีซี มูลค่ากว่า 6.7 แสนล้าน ที่ยังเดินหน้าต่อเนื่อง แหลมฉบังเฟส 3 เปิดยื่นซอง 29 มี.ค.นี้ มี 6 กลุ่มทุนชิง ขณะไฮสปีดเทรน3 สนามบิน ซีพีขอเลื่อนให้คำตอบ4 เม.ย. ภาครัฐมั่นใจทุกโครงการเดินตามไทม์ไลน์

          ยังรอความชัดเจนว่าพรรคใดจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมาสานต่อโครงการเมกะโปรเจ็กต์ด้านโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี มูลค่ากว่า 6.7 แสนล้านบาท ซึ่งมีกลุ่มทุนใหญ่หลายกลุ่มรอลุ้นที่คว้าการประมูล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี กลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ฯ (BTS) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นฯ (STEC) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ฯ บริษัท ช.การช่างฯ และกลุ่มคิงเพาเวอร์ เป็นต้น

          ทั้งนี้ มีโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการประมูล เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 นอกจากนี้มียังโครงการ ร้อนๆ ที่ถูกเบรกไปอย่าง โครงการประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน

          ถึงแม้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นยังไม่ชัดเจน แต่การประมูลยังเดินหน้าต่อเนื่อง โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกโครงการหวังผลักดันให้บรรลุไทม์ไลน์คือภายในเดือนเมษายน 2562

          ล่าสุดในวันที่ 29 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ทางการท่าเรือแห่งประเทศ ไทย (กทท.) จะเปิดให้เอกชนที่ซื้อซองประมูลจำนวน 34 ราย ยื่น ข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 หลังจากยกเลิกการยื่นข้อเสนอครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2562 เนื่องจาก มีบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด เพียงรายเดียวที่ยื่นข้อเสนอ และไม่ผ่านด้านคุณสมบัติ โดยไม่มีหลักประกันซองยื่นมาประกอบ นำไปสู่การเปิดขายซองประมูลใหม่อีกครั้ง มีผู้สนใจเข้ามาซื้อซองมากขึ้นถึง 34 ราย เป็นรายใหม่ 8 ราย ขณะที่บางรายที่เคยซื้อซองไปแล้ว ไม่กลับมาซื้อซองใหม่ เท่ากับว่าถอนการร่วมประมูลครั้งนี้ไปอย่างเช่น กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เป็นต้น

          ในการยื่นซองประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 มูลค่าโครงการราว 1.1 แสน ล้านบาท ครั้งนี้ จึงเป็นที่จับตาว่า จะมีกลุ่มใดเข้ายื่นซองประมูลบ้าง

          แหล่งข่าวระดับสูงจากท่าเรือแหลมฉบัง (ทฉบ.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าการยื่นซองประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ในวันที่ 29 มีนาคมนี้ คาดว่าจะมีบริษัทที่เป็นมืออาชีพดำเนินงานจริงๆ เข้ามายื่นซอง 5-6 รายเท่านั้น โดยเป็นผู้บริหารและประกอบการท่าเรือแหลมฉบังอยู่แล้ว 3 ราย ได้แก่ กลุ่มบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ จากฮ่องกงในการบริหารท่าเรือระดับโลก และเป็นผู้บริหารและประกอบการท่าเรือแหลมฉบังในระยะที่ 1 และ 2 อยู่แล้ว กลุ่มบริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารและประกอบการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือ บี 2 บริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ผู้บริหารและประกอบการท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือ ซี 3

          นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มกิจการ ร่วมค้าบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ทั้ง 2 บริษัทนี้ จับมือร่วมกันในการเข้ายื่นประมูล โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการ 5.54 หมื่น ล้านบาท เพียงรายเดียว รวมถึงบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ที่จะกลับมายื่นซองอีกครั้ง หลังจากไปจัดหาหลักประกันซองเรียบร้อยแล้ว ขณะที่กลุ่มทุนจากจีน อาจจะเป็นการจับมือกันของ 4 บริษัท เข้าร่วมประมูล

          ส่วนการประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 นั้น ได้มีการเปิดซอง 1-3 ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซองที่ 4 ในรายละเอียดของสัญญา คาดว่าจะสรุปผลได้ในเดือนเมษายนนี้ และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

          ขณะที่การประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาท เปิดให้ยื่นขอเสนอการประมูลไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาซองที่ 1 ในด้านคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร นำโดย กลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี และพันธมิตร 2. กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม (GRAND Consortium) ประกอบด้วย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) 3. กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS นำโดย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และพันธมิตร คาดจะมีความชัดเจนในเดือนเมษายนนี้ เช่นกัน

          ด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่อยู่ระหว่างเจรจากับกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือกลุ่มซีพี นายวรวุฒิ ศรีมาลา รองผู้ว่า การกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิด เผยว่า กลุ่มซีพี ขอเลื่อนการเจรจา รับ-ไม่รับดำเนินโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน กับคณะกรรมการคัดเลือกฯ จากวันที่ 28 มีนาคม 2562 ออกไปเป็นวันที่ 4 เมษายนนี้ เนื่องจากได้รับการประสานว่าฝ่ายจีนยังไม่ได้ข้อสรุปยืนยันในเรื่องการเงินให้กับทางกลุ่มซีพี

          ขณะที่โครงการเปิดประกวด ราคาโครงการดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน มีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 2,800 ล้านบาท และการบริหารโครงการกิจกรรม เชิงพาณิชย์(รีเทล) มีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท ที่ยังเป็นปัญหา ปัจจุบันการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือ ทอท.อยู่ระหว่างการรับความคิดเห็นจากสังคม และ การพิจารณาข้อกฎหมายว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562 จึงชะลอ การประกวดราคาอยู่ในขณะนี้
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ