รถไฟฟ้าภูเก็ตใกล้สรุปผล
Loading

รถไฟฟ้าภูเก็ตใกล้สรุปผล

วันที่ : 29 พฤษภาคม 2562
รฟม.เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท รอ ครม.อนุมัติ เริ่มสร้างต้นปี 2563 ขณะที่สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ผ่านอีไอเอแล้ว พร้อมเดินหน้าต่อด้วย "แทรม" ที่ภูเก็ต และรถไฟฟ้าที่เชียงใหม่
         "รฟม."เร่งเดินหน้า กทม.-ต่างจังหวัด

          รฟม.เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท รอ ครม.อนุมัติ เริ่มสร้างต้นปี 2563 ขณะที่สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ผ่านอีไอเอแล้ว พร้อมเดินหน้าต่อด้วย "แทรม" ที่ภูเก็ต และรถไฟฟ้าที่เชียงใหม่

          นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.อยู่ระหว่างรอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) นำเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพีพีพีเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยหาก ครม.อนุมัติ รฟม.จะได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว เพื่อหาบริษัทเข้ามาก่อสร้างส่วนต่อขยาย ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทางประมาณ 13.4 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 140,000 ล้านบาท ได้ทันที

          "หากสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนขึ้นมาดำเนินโครงการ จะใช้เวลา 6 เดือน ในการดำเนินการ หลังจากนั้น จึงจะได้ตัวบริษัทที่ชนะการประกวดราคา และก่อสร้างในต้นปี 2563"

          สำหรับรูปแบบการคัดเลือกเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุน จะมีลักษณะคล้ายกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โดยให้บริษัทที่ชนะการคัดเลือกเป็นผู้เดินรถตลอดทั้งเส้นทางจาก มีนบุรี-บางขุนนนท์ ที่ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี โดยปัจจุบันการก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี มีความคืบหน้าแล้ว 30% และช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ บริษัทที่ชนะการประมูลจะเป็นผู้รับผิดชอบก่อสร้างงานโยธาทั้งหมดไปก่อน จากนั้น รฟม.ทยอยจ่ายเงินคืนให้เป็นเวลา 10 ปี

          ขณะเดียวกัน ตามแผนการดำเนินงานของ รฟม.ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินก่อสร้าง 100,000 ล้านบาท ที่ต้องดำเนินการก่อสร้างเช่นเดียวกัน ขณะนี้ได้ผ่านการทำอีไอเอแล้ว อยู่ระหว่างรอให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อน เพราะแนวเส้นทางการก่อสร้างบางส่วนต้องผ่านพื้นที่ดังกล่าว

          นอกจากนี้ รฟม.ยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ในจังหวัดภูเก็ต ระยะแรก ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. ที่อยู่ในแผนงาน ขณะนี้ได้หารือกับกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่ รฟม.ต้องเข้าไปดำเนินการก่อสร้างคืบหน้าไปมากแล้ว สัปดาห์หน้าจะมีการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน โดยแนวเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา มีทั้งทางยกระดับและทางลอดข้ามแยกต่างๆ เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้ว รฟม.ก็ต้องไปหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป

          "โครงการนี้เป็นแบบพีพีพี จึงต้องเสนอคณะกรรมการพีพีพี และ สคร.ด้วย เพื่อให้เริ่มก่อสร้างได้ในกลางปีหน้า ส่วนโครงการรถไฟฟ้าที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแผนจะดำเนินการ และอยู่ในขั้นตอนศึกษารายละเอียด"

          ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต วงเงินลงทุน 34,800 ล้านบาท ยอมรับว่ายังประสบปัญหาเรื่องการก่อสร้าง เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่าง รฟม.กับกรมทางหลวงมีปัญหาเรื่องของการใช้พื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจากกรมทางหลวงเกรงว่า จะมีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุและการจราจรติดขัด ทำให้กระทรวงคมนาคมมีคำสั่งให้ รฟม.ไปทบทวนแบบก่อสร้างใหม่ เพื่อลดปัญหาการจราจรบนท้องถนน โดยให้ปรับลดการใช้พื้นที่เขตทางก่อสร้าง โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นสถานีรับส่งผู้โดยสาร
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ