ชลบุรี-ระยอง-แปดริ้วค้านระบบรางอีอีซี เสนอเบี่ยงแนวเข้าย่าน ธุรกิจ-ท่องเที่ยว
Loading

ชลบุรี-ระยอง-แปดริ้วค้านระบบรางอีอีซี เสนอเบี่ยงแนวเข้าย่าน ธุรกิจ-ท่องเที่ยว

วันที่ : 8 กรกฎาคม 2562
ทุนท้องถิ่นแห่ค้านแผนแม่บทระบบรางอีอีซี 3 จังหวัด ชลบุรีขวางวางรางเข้าอำเภอเมือง ขอเบี่ยงแนวเข้า "บ่อวิน-ปลวกแดงแหลมฉบัง-ศรีราชา-พัทยา" ชี้เป็นทั้งแหล่งงาน จุดท่องเที่ยว ด้านฉะเชิงเทราไม่สนซิตี้บัส จี้ทำรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อม
          ทุนท้องถิ่นแห่ค้านแผนแม่บทระบบรางอีอีซี 3 จังหวัด ชลบุรีขวางวางรางเข้าอำเภอเมือง ขอเบี่ยงแนวเข้า "บ่อวิน-ปลวกแดงแหลมฉบัง-ศรีราชา-พัทยา" ชี้เป็นทั้งแหล่งงาน จุดท่องเที่ยว ด้านฉะเชิงเทราไม่สนซิตี้บัส จี้ทำรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อม

          แผนแม่บท 20 ปี (63-83)

          นายนิรันดร์ เกตุแก้ว ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจร ในภูมิภาค สำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สนข.กำลังจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC งบฯศึกษา 20 ล้าน บาท เป็นแผนแม่บทพัฒนา 20 ปี (2563-2583) คาดว่าผลศึกษาแล้วเสร็จใน เม.ย. 2563

          ขณะนี้อยู่ระหว่างลงพื้นที่ประชุมหารือร่วมกับนักธุรกิจ หอการค้า สภาอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัด เพื่อเก็บรายละเอียดความต้องการ ปริมาณการจราจร การเดินทาง แหล่งชุมชน คาดว่าก.ย.นี้ จะมีข้อสรุปแนวเส้นทาง ระบบที่เหมาะสม เช่น รถไฟฟ้า รถราง รถบัส เบื้องต้นจะมีโครงการนำร่องในแต่ละจังหวัด

          "หลังรับฟังความคิดเห็นแล้ว โจทย์ที่ สนข.มอบให้บริษัทที่ปรึกษาคือ เมื่อมีโครงการข่ายหลัก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ถนนสายหลักอย่างสาย 331, 344 แล้ว ในอนาคตจะเชื่อมโยงเข้ากับแต่ละจังหวัดยังไง เช่น สร้างฟีดเดอร์ขึ้นมาเชื่อมต่อ การเดินทางในเมืองและพื้นที่อีอีซี แต่ละเมืองมีระบบขนส่งสาธารณะมารองรับ 1 จังหวัดอาจมีหลายแห่ง เช่น ชลบุรีอาจมีในอำเภอเมือง ศรีราชา พัทยา"

          สนข.ชักชวนท้องถิ่นลงทุน

          นายนิรันดร์กล่าวต่อว่า จากการประชุมร่วมกับตัวแทนในจังหวัด ภาคเอกชนหลายคนเสนอสิ่งที่ตนต้องการ เช่น อยากให้แนวเส้นทางพาดผ่านนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

          เบื้องต้น สนข.ทราบดีว่าแต่ละจังหวัดมีทำเลไข่แดง อาทิ จ.ชลบุรีมีความหนาแน่น นิคมอุตฯต้องทำตลอดแนวถนน ถนนเส้นหลักทั้งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 หมายเลข 331 หมายเลข 36 และหมายเลข 344 ฯลฯ ต้องนำมาประมวลข้อมูลหาจุดเชื่อมโยงเพื่อคัดเลือกเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด

          สำหรับระยองมีการศึกษาข้อมูลมาแล้วบางส่วน วิธีการจะนำผลศึกษามาทบทวนและหยิบข้อมูลที่ใช้ได้นำมาใช้ ส่วนฉะเชิงเทรามีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ เช่น แนะนำช่องทางการเดินเรือในแม่น้ำบางปะกง

          "เราก็รับฟังและนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดแนวเส้นทางด้วย เพราะ สนข.คงกำหนดแนวเส้นทางให้ตอบโจทย์และความต้องการไม่ได้ครบทุกคน หากเอกชนท้องถิ่นต้องการลงทุนก็เสนอมาได้ เพราะรูปแบบ การลงทุนมีรัฐลงทุน เปิด PPP และท้องถิ่นดำเนินการ" นายนิรันดร์กล่าว

          ชลบุรีค้านระบบรางเข้า อ.เมือง

          นายกิตติวุฒิ ศศวิมลนธุ์ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทีมที่ปรึกษานำเสนอแนวคิดวางระบบรางสาธารณะเป็นโครงข่ายรองบริเวณรอบอำเภอเมือง ชลบุรี ซึ่งเป็นเมืองราชการ ไม่ใช่เมืองธุรกิจ และเป็นเมืองที่ไม่มีการเติบโตแล้ว จึงเห็นว่าแนวเส้นทางไม่มีความเหมาะสม

          "จังหวัดอื่นมีความเจริญเพียงอำเภอเมืองแต่ชลบุรีมีเมืองที่เจริญเป็นไข่แดงหลายเมือง เช่น ศรีราชา แหลมฉบัง พัทยา อู่ตะเภา ทั้งมีความเจริญรอบนิคมอุตฯ 4-5 แห่ง เช่น นิคมอมตะซิตี้, บ่อวิน, ปลวกแดง โดยพื้นที่ EEC 3 จังหวัด ชลบุรีซับซ้อนกว่า เป็น ทั้งแหล่งงาน ที่อยู่อาศัย เมืองท่องเที่ยว เมืองอุตสาหกรรม"

          ข้อเสนอของกลุ่มนักธุรกิจชลบุรี จุดแรกที่ควรพัฒนา คือ ลากโครงข่ายจากสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชาเชื่อมนิคมอุตฯ "บ่อวิน ปลวกแดง แหลมฉบัง" โดยทำเลศรีราชาเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจหรือ CBD ในพื้นที่ ปัจจุบันการจราจรติดขัดมาก คนที่มาอยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เช่น คนญี่ปุ่น เกาหลี ทั้งอยากให้เชื่อมโยงอู่ตะเภารองรับการเติบโตในอนาคตด้วย ส่วนบางแสนการจราจรยังไม่วิกฤต วางตำแหน่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัยของคนท้องถิ่น ไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม

          ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมชลบุรีเตรียมนัดหารือร่วมกับหอการค้าชลบุรี สมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี เพื่อรวบรวมความคิดเห็นนำเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอต่อ สนข.เป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

          แปดริ้วขอซิตี้ไลน์เลียบบางปะกง

          นายจีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นักธุรกิจฉะเชิงเทราต้องการให้วางแนวระบบรถไฟฟ้ารางเบา (ซิตี้ไลน์) แนวเส้นทางเลียบแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่ตัวเมืองแปดริ้ว เนื่องจากสถานที่ สำคัญ ชุมชนต่าง ๆ อยู่หนาแน่นบริเวณ ริมแม่น้ำบางปะกง ทำให้ลดภาระไม่ต้อง เวนคืนมาก ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด

          และเสนอให้กำหนดจุดจอดรถอยู่รอบนอกตัวเมือง เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการนำรถวิ่งเข้าตัวเมืองซึ่งมีปัญหาการจราจรหนาแน่นในช่วงจากบางปะกงเข้าตัวเมือง 10-15 กิโลเมตร

          นอกจากนี้ ช่วงนิคมอุตฯมีการจราจรหนาแน่น ควรวางระบบรถไฟฟ้ารางเบามารองรับ ส่วนรถซิตี้บัสสามารถเชื่อมต่อได้ช่วงสั้น แต่ไม่เหมาะนำมาวิ่งทางยาว ขณะที่ถนนก็แคบมาก การใช้รถซิติ้บัส มองว่ายิ่งเพิ่มปัญหาจราจรมากขึ้นไปอีก รวมถึง สนข.ต้องศึกษาเกี่ยวกับค่าโดยสารให้ชัดเจน หากแพงผู้โดยสารอาจใช้บริการน้อยลง

          "เสาร์-อาทิตย์รถติดจนคนแปดริ้วไม่กล้าออกจากบ้าน ในอนาคตแปดริ้วจะมีคนเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า การเลือกแนวเส้นทางต้องแก้ปัญหาการแออัดที่เกิดขึ้น อย่างเส้นเลียบบางปะกง แม่น้ำกว้างใหญ่ ออกแบบดี ๆ ไม่บดบังทัศนียภาพ ไม่ต้อง เวนคืนมาก สถานที่สำคัญหลายแห่งตั้งอยู่ริมน้ำ เช่น วัดหลวงพ่อโสธร, โรงพยาบาล, ศาลากลาง, ตลาด 100 ปี แต่จะคุ้มทุนหรือไม่ สนข.ต้องกลับไปคิดแล้วค่อยกลับมาคุยกันอีกที"

          ระยองขอรถไฟลอยฟ้า

          นายนพพล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า อยากให้ทำระบบรถไฟฟ้าแบบ BTS วิ่งเชื่อม 3 จังหวัด โดยยกระดับเลียบตามเกาะกลางถนนสุขุมวิทเป็นหลัก เชื่อม อ.เมืองระยองและสนามบินอู่ตะเภา เพราะในอนาคตคนจะบินมาลงจำนวนมาก

          ทั้งนี้แนวเส้นทางที่นำเสนอเป็นคนละเส้นกับสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานี 10 จากอู่ตะเภาสิ้นสุดปลายทางที่หน้าห้างเซ็นทรัลระยอง และเสนอว่าควรทำโครงข่ายรองเชื่อมนิคมอุตสาหกรรม เช่น มาบตาพุด, EECi อ.วังจันทร์, บ้านค่าย, ปลวกแดง ให้เข้ามาตัวเมืองได้สะดวก ลดความแออัดการจราจร และลด สถิติการก่ออุบัติเหตุภายในตัวเมือง
 
ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ