รับเหมารีเทิร์นลุยอสังหาฯลดเสี่ยง-ผวาทุนจีนไล่ฮุบบิ๊กโปรเจกต์
Loading

รับเหมารีเทิร์นลุยอสังหาฯลดเสี่ยง-ผวาทุนจีนไล่ฮุบบิ๊กโปรเจกต์

วันที่ : 5 สิงหาคม 2562
บิ๊กรับเหมาไทย'รีเทิร์น'อสังหาฯกระจายความเสี่ยงธุรกิจ-เร่งรายได้ผวา!จีนรุกหนัก'เงิน-เทกฯ'เจาะโปรเจกต์รัฐ
          บิ๊กรับเหมาไทย'รีเทิร์น'อสังหาฯกระจายความเสี่ยงธุรกิจ-เร่งรายได้ผวา!จีนรุกหนัก'เงิน-เทกฯ'เจาะโปรเจกต์รัฐ

          จีนขยายอาณาจักร จากผู้ตามสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมก่อสร้าง จับตาทุนจีนเร่งเข้ามาชิงเค้กงานรับเหมาขนาดใหญ่จากภาครัฐมากขึ้น โชว์ศักยภาพด้านเงินทุน เทคโนโลยี ร่วมวงชิงประมูล ขณะที่บิ๊ก รับเหมาไทยปรับตัวอีกรอบ หวนคืนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

          ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทย ถือเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่มีการเติบโตอย่าง ต่อเนื่อง ซึ่งมูลค่าตลาดของรับเหมาก่อสร้างขยายตัว ทั้งจากโครงการลงทุนของรัฐบาล หน่วยงานรัฐบาล และการลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งจากฟากบริษัทพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โครงการในเชิงพาณิชย์ หรือแม้แต่การก่อสร้างที่เกี่ยวอุตสาหกรรมทางด้านคลังสินค้า เป็นต้น โดยความสำคัญของตลาดรับเหมาก่อสร้างตาม ข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ช่วงปี 2552-2561 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างมีสัดส่วนเฉลี่ย 8.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) มีผลถึงการว่าจ้างงานและยังเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจตกแต่งภายใน เป็นต้น

          โดยในปีที่ผ่านมา เค้กในตลาดรับเหมาก่อสร้างจะมีมูลค่าที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องในปี 2562 ต่อเนื่องไป อีกหลายปี เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ที่ได้มีการอนุมัติในการก่อสร้างจะเดินหน้าต่อเนื่อง ภายใต้การนำจากรัฐบาลชุดที่เคยบริหารประเทศมาแล้ว ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีการประเมินว่า ในปี 2561 มูลค่า ตลาดรับเหมาก่อสร้างในไทยจะสูงถึง 1,264.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 4.3% เทียบกับปี 2560

          ...และถึงแม้ ธุรกิจก่อสร้างจะเป็น "บ่อน้ำ" ใหญ่ ที่จะสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แต่ความรุนแรงของการแข่งขันในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจ รับเหมาก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็ก ต่างมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้องค์กรมีรายได้และกำไรที่ดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มาร์จิ้นไม่มากประมาณ 3-8% การกระโจนเข้าสู่ "ผู้เล่น" รายใหม่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาพดังกล่าว มีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นธุรกิจที่มีอัตราเติบโตของ กำไร (GP) ไม่ต่ำกว่า 30% (แล้วแต่กลยุทธ์และวิธีการ บริหารต้นทุนของโครงการ) มี อัตรากำไรสุทธิ (NP) เฉลี่ย 13-15% แค่นี้ ก็เย้ายวน ให้ใครต่อใคร อยากได้ลิ้มลอง ในเวทีธุรกิจอสังหาฯ!!

          แหล่งข่าวในวงการรับเหมาก่อสร้างรายหนึ่ง กล่าวว่า เรื่องการขยายไลน์ไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นภาพที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การขับเคลื่อนธุรกิจค่อนข้างต่างจากอดีต เพราะใน 5-10 ปีที่ผ่านมา การแข่งขันในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะเป็นบริษัทเอกชนที่มีฐานธุรกิจอยู่ในประเทศ งานก็อยู่ในวงของกลุ่มที่ผูกขาดอยู่แล้ว ซึ่งช่วงนั้น ก็การรุกสู่ธุรกิจอสังหาฯ ก็เพื่อขยายโอกาสรองรับการสร้างธุรกิจให้เติบโต เป็นการลดความเสี่ยงให้กับองค์กร แทนการพึ่งพาธุรกิจเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเห็นว่า ช่วงนั้น จะมีบริษัทรับเหมา มาทำธุรกิจอสังหาฯกันเยอะ เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำลังเงิน บุคลากร และที่ดินรองรับการพัฒนาโครงการ

          รับเหมา ผุดโปรเจกต์ใหญ่-ร่วมทุนพันธมิตร

          ความคึกคักของผู้รับเหมาในธุรกิจอสังหาฯ จะเริ่มกลับมาอีกครั้ง แต่รูปแบบและวิธีการจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพตลาด และการเสริมสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อความยั่งยืนในธุรกิจนี้

          นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ ให้มุมมองต่อ "การมูฟ" ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างอีกครั้งว่า จากศูนย์บริการข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไทยของเจแอลแอล ซึ่งครอบคลุมธุรกรรมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยโดยบริษัทและกองทุน ทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ การลงทุนซื้อขาย ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทในครึ่งแรกของปีนี้ มีเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 4 รายการ

          โดยเฉพาะในรายการลงทุนมูลค่าสูงสุดรองลงมา เป็นการซื้อที่ 2 แปลง รวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท โดย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ โดยในเดือนเมษายน ซิโน-ไทย ได้ซื้อที่ขนาด 11 ไร่ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต จาก บริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในราคาสูงถึง 4,300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาคอมเพล็กซ์อาคารสำนักงาน ส่วนในเดือนมิถุนายน บริษัทลูกของ ซิโน-ไทย คือเอสที พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ โลจิสติกส์ ได้เข้าซื้อคอมมูนิตีมอลล์ซัมเมอร์ฮิลล์ และอาคารสำนักงานซัมเมอร์ฮับ ออฟฟิศ จาก บริษัท บูทิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วยมูลค่า 957 ล้านบาท

          "การลงทุนของซิโน-ไทย และบริษัทในเครือในปีนี้ สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างเริ่มทยอยกลับเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง จากที่ได้เว้นช่วงไปเกือบ 2 ทศวรรษหลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง"

          ส่วน ไทย โอบายาชิ ได้ซื้อที่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสนานา ในราคาตารางวาละ 2.6 ล้านบาท ซึ่งทำสถิติราคาที่ดินต่อตารางวาแพงที่สุดในปี 2560 โดยขณะนี้กำลังใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคาร O-NES Tower ซึ่งเป็นการลงทุนพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานใหม่โครงการแรกของไทย โอบายาชิ นับตั้งแต่เคยลงทุนก่อสร้างอาคารนันทวัน ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชดำริในปี 2534 ขณะที่ ไทย โอบายาชิ ยังมีงานก่อสร้าง "สามย่านมิตรทาวน์" โครงการสมาร์ทมิกซ์ยูส มูลค่า 8,500 ล้านบาท

          จับตา "จีน" รุกหนักเบียดเค้กเมกะโปรเจกต์

          ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยนโยบายของรัฐบาลจีน ในการผลักดันบริษัทของคนจีนออกสู่ตลาดต่างประเทศ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจอย่างมาก เนื่องจากด้วยกำลังเงิน และเทคโนโลยี ที่เริ่มทันสมัย ทำให้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญต่อบริษัทรับเหมาของไทย เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้รับเหมาจีนเข้ามาชิงงานเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานในไทย รวมถึงมีการร่วมลงทุนกับพันธมิตรในไทย ที่ไม่ใช่แค่รายเดียว ทำให้เกิด ความได้เปรียบในการรับงาน และมีโอกาสที่จะคว้างานมาได้ หรือแม้แต่ยักษ์ใหญ่ก่อสร้างจีน กลุ่มจงเทียน คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาร่วมลงทุนกับบริษัท รุ่งฟ้าเสริม คอร์ปอเรชั่น ในนามบริษัท จงเทียนโอเวอร์ซีส์ เอ็นจิ เนียริ่ง (ประเทศไทย) เพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการขยายธุรกิจในอาเซียน คาดว่าใน 4 ปีข้างหน้า ปี 2564 จะได้งานมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท

          " ปีนี้ กระทรวงสำคัญอย่างคมนาคม ก็มีโครงการที่ต้องลงทุน และโครงการเมกะโปรเจกต์มูลค่ากว่า 2  ล้านล้านบาท หรือโครงการของการเคหะแห่งชาติ ที่มีบริษัทรับเหมาจีน แสดงความสนใจในโครงการเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งเราเชื่อเลยว่า จีนเอาแน่  อย่างเคส ที่เห็นอย่างชัดเจน คือ โครงการทางด่วนพระราม ๓ ดาวคะนอง ที่บริษัทเหมาจากจีนได้ไป นี้ยังไม่นับรวมโครงการก่อสร้างงานรถไฟไทย-จีน ขณะที่ จะเห็นโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมของบริษัทอสังหาฯจีนที่เข้ามา ลงทุน มีการใช้บริษัทรับเหมาของตนเองดำเนินการ" แหล่งข่าวกล่าว

          นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ ยืนยันได้ชัดเจนว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุนจีนประกาศแผนลงทุนคิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท ที่ประกาศตัวเลขการลงทุนออกมา โดยเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนารวมถึงโครงการที่จะก่อสร้างในอนาคต ขณะเดียวกันยังแฝงเข้ามาในรูปแบบนอมินี  .

          ตลาดวัสดุก่อสร้างปี 62 ไม่สดใสคาด 1-2 ปีจะเห็นที่อยู่อาศัยขยายตัว

          ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจของไทยถดถอยมาอย่างต่อเนื่องในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อเนื่องถึงภาคการผลิตในธุรกิจซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง แม้ว่า รัฐจะมีโครงการออกมา แต่ยังไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นตลาดในประเทศ โครงการภาคอสังหาฯในปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องถึงปีนี้ เริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่ การส่งออก ก็เจอผลกระทบทั้งจากเศรษฐกิจของคู่ค้าที่เติบโตลดลง ค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งค่าต่อเนื่องประมาณ 20% และอุปสรรคเรื่องมาตรการภาษีในบางประเทศ ที่นำมาใช้กับสินค้าของไทย

          ขณะที่ผู้นำในธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ของไทย อย่างบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ต้องปรับกลยุทธ์ในการสร้างมูลค่าของ สินค้า การเพิ่มนวัตกรรมโปรดักต์ออกสู่ตลาดให้ มากขึ้น

          โดยนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC สะท้อนสภาพตลาดในปีนี้ว่า ธุรกิจซีเมนต์ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เชื่อว่ายังคงเติบโตได้ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ที่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเติบโต 3% และคาดว่าจะเติบโตได้ 3-4% ในช่วงครึ่ง ปีหลัง ส่งผลให้ทั้งปีการเติบโตจะอยู่ในระดับ 3-4% เป็นผลจากงานโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ออกประมูลไปแล้วก็ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง

          ส่วนตลาดซีเมนต์สำหรับที่อยู่อาศัย คาดว่า จะยังคงต้องใช้ระยะเวลา 1-2 ปีจึงจะเห็นการขยายตัว ซึ่งทำให้มีผลต่อตลาดวัสดุก่อสร้างในประเทศที่ยังอยู่ระดับทรงตัว ท่ามกลางตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนตลาดซีเมนต์ในอาเซียน ยังคงเห็นการเติบโตทั้งในกัมพูชา, เมียนมา และเวียดนาม แต่ในตลาดอินโดนีเซีย ชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

          ด้านนายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ COTTO, SOSUCO, CAMPANA กล่าวเสริมว่า ไตรมาส  2/62  มีรายได้จากการขาย 2,790 ล้านบาท ลดลง 5% จากไตรมาส 2/61 และลดลง 7% จากไตรมาส 1/62 โดยไตรมาส 2 ตลาดในประเทศเติบโตใกล้เคียงกับเป้าที่วางไว้ แต่ ยอดขายหายจากยอดส่งออก

          "ครึ่งปีแรก 2562 ผลกระทบมาตรการ LTV ทำให้การตัดสินใจซื้อบ้านชะลอตัวลง ขณะที่ไตรมาส 3/62 ก็ยังไม่มีปัจจัยบวก โดยต้องรอไตรมาส 4/62 ที่คาดว่าตลาดจะกลับมาฟื้นตัว ดังนั้น เทรนด์ครึ่งปีหลังตลาดยังทรงๆ ตัว ในขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจะส่งผลบวกในปีถัดไปหรือปี 2563 เป็นช่วง รอยต่อไตรมาส 4/62 ไปจนถึงไตรมาสแรกปีหน้า"

          ดังนั้น กลยุทธ์ที่สำคัญ คือ เราต้องเน้นการ รักษาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้า ให้อยู่ในใจผู้บริโภคอย่างยั่งยืน โดยทุกโรงงานที่เป็นฐานการผลิตของเอสซีจี เซรามิกส์ มีห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพกระเบื้องที่ได้รับรองมาตรฐาน มอก. 17025 (ISo/IEC-17025)

          อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนายอดิศักดิ์ ตั้งมิตรประชา กรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME กล่าวว่า การชะลอตัวของตลาดอสังหาฯ ไทยในปัจจุบัน ไม่กระทบต่อยอดขายมากนัก เพราะกลุ่มลูกค้าหลัก ของบริษัทเป็นกลุ่มซ่อมแซมและตกแต่งบ้านที่ยังคง เห็นการเติบโตที่ดีอยู่

          ด้าน นายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT กล่าวสวนกระแสตลาดว่า ในไตรมาส 3 นี้ที่เป็นช่วงโลว์ซีซันหรือช่วงนอกฤดูกาลขายของสินค้าวัสดุก่อสร้าง บริษัทจะเร่งเดินเครื่องจักรในทุกไลน์การผลิต เพื่อผลิตสินค้าในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทั้งผลิตภัณฑ์กลุ่มระบบหลังคา กลุ่มไม้สังเคราะห์ และกลุ่มอิฐมวลเบา โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มระดับสต๊อกสินค้ารอง รับการขายทุกผลิตภัณฑ์จาก 20 วันเฉลี่ยเพิ่มเป็น 30 วัน และบริหารจัดการด้านการขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
 
ข่าววัสดุก่อสร้าง-เฟอร์นิเจอร์ อื่นๆ