ลงทุนอีสานลดฮวบ3พันล้าน โคราชดัน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฝ่าวิกฤต
Loading

ลงทุนอีสานลดฮวบ3พันล้าน โคราชดัน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฝ่าวิกฤต

วันที่ : 24 ธันวาคม 2562
"บีโอไอ" เผยยอดส่งเสริมลงทุนภาคอีสานปี'62 รวมกว่า 8 พันล้าน ลดฮวบจากปีที่แล้วกว่า 3 พันล้าน โคราชเจ้าเก่าครองแชมป์โกยเม็ดเงินมากสุด ชี้ปี'63 อุตฯเกษตร-พลังงานทดแทนยังรุ่งโดดเด่นต่อเนื่อง ด้านสภาอุตฯโคราชดันรัฐบาลผุด "เขตเศรษฐกิจพิเศษนครราชสีมา" ดึงดูดนักลงทุนฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจการลงทุน

        "บีโอไอ" เผยยอดส่งเสริมลงทุนภาคอีสานปี'62 รวมกว่า 8 พันล้าน ลดฮวบจากปีที่แล้วกว่า 3 พันล้าน โคราชเจ้าเก่าครองแชมป์โกยเม็ดเงินมากสุด ชี้ปี'63 อุตฯเกษตร-พลังงานทดแทนยังรุ่งโดดเด่นต่อเนื่อง ด้านสภาอุตฯโคราชดันรัฐบาลผุด "เขตเศรษฐกิจพิเศษนครราชสีมา" ดึงดูดนักลงทุนฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจการลงทุน
        นางสาวบังอร ฐิตะไพศาลผล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาวะการส่งเสริมการลงทุนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า ปี 2562 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากนักทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ และได้รับอนุมัติ ส่งเสริมการลงทุนสูง ในภาคอีสานยังคงเป็น 2 อุตสาหกรรมหลัก อุตฯการเกษตรและพลังงานทดแทน ซึ่งถือเป็น 2 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและเป็นจุดแข็งของภาคอีสาน อีกทั้งพลังงานทดแทนนั้นเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอุตฯ การเกษตร อย่างเช่น เมื่อการลงทุนกิจการโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ที่มีการปลูกกันจำนวนมากในภาคอีสาน ก็นำไปสู่การลงทุนกิจการผลิตก๊าซชีวภาพ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ตามมา
        โดยผลการส่งเสริมการลงทุนภาคอีสาน ปี 2562 ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ที่ผ่าน มีจำนวนโครง การได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน 77 โครงการ ใน 14 จังหวัดจากทั้งหมด 20 จังหวัด รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 8,322 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 2,744 คน ลงทุนโดยคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น 64 โครงการ ร่วมหุ้นไทยและต่างชาติ 4 โครงการ (จีน, ญี่ปุ่น) และหุ้นต่างชาติทั้งสิ้น 9 โครงการ (ญี่ปุ่น, จีน, ฮ่องกง, เนเธอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์)
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ที่มีโครงการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน 69 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 11,720 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 2,003 คน พบว่า มีจำนวนโครงการได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าเงินลงทุนลดลงถึง 3,398 ล้านบาท
        สำหรับรายละเอียดโครงการ เช่น จ.นครราชสีมา ได้รับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 25 โครงการ เงินลงทุน 2,093.7 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูป และ สำเร็จรูปแช่แข็ง กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ กิจการผลิตซุปปลา กิจการผลิตก๊าซ ชีวภาพ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กิจการผลิตแปรงถ่านในชิ้นส่วนยานพาหนะ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา เป็นจังหวัดที่มีการลงทุนมากสุดในภาคอีสาน, จ.บุรีรัมย์ จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุน 1,487.4 ล้านบาท ได้แก่ กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ กิจการเลี้ยงสุกรขุน กิจการผลิตเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา กิจการผลิตยางผสมอัดแท่ง, จ.ศรีสะเกษ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 522.5 ล้านบาท ได้แก่ กิจการสถานพยาบาล กิจการผลิตผ้าลูกไม้
        จ.ชัยภูมิ จำนวน 9 โครงการ เงินลงทุน 499.8 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตก๊าซชีวภาพ กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา, จ.อุดรธานี จำนวน 1 โครงการ เงินลงทุน 1,580.2 ล้านบาท คือ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก        พลังงานแสงอาทิตย์, จ.ขอนแก่น จำนวน 9 โครงการ เงินลงทุน 1,207.3 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องดื่มจากผักและผสมผลไม้ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา กิจการผลิตเอทานอล กิจการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานโดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิด MONOCRYSTALIN และ จ.ร้อยเอ็ด จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 401 ล้านบาท ได้แก่ กิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพ กิจการผลิตชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์สาหรับโทรคมนาคม เช่น CIRCULATOR เป็นต้น
        นางสาวบังอร กล่าวต่อว่า ส่วนแนวโน้มการลงทุนภาคอีสานใน ปี 2563 นั้น อุตสาหกรรมการเกษตรและพลังงานทดแทน จะยังเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่นต่อเนื่องและเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการส่งเสริมตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนเครื่องจักรที่พบว่า มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศต่อเนื่องคาดว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปไก่ กิจการเลี้ยงไก่เนื้อ และกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับการลงทุนในปี 2563 มีทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่ยังคงยืดเยื้อต่อไป
        ทั้งนี้ บีโอไอ มุ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร ตลอดห่วงโซ่ของการผลิต เพราะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีในระดับสูง เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน พร้อมสนับสนุน ให้เกิดกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย นำไปสู่การพัฒนาระบบเกษตรสมัยใหม่ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแท้จริง ปัจจุบันกิจการในหมวดเกษตร- กรรมและผลิตผลจากการเกษตร บีโอไอให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคลสูงสุด 5-8 ปี รวมไปถึงการให้การส่งเสริมการผลิตหรือบริการระบบเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming)
        โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ก.ย.) อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหารทั่วประเทศ มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 132 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28 เป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 30,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ดันผุด "เขตเศรษฐกิจพิเศษโคราช"ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจการลงทุนถดถอย
        ด้าน นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงการส่งเสริมการลงทุนในภาคอีสานโดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา เมืองใหญ่ของภูมิภาค ว่า เร็วๆ นี้ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จังหวัดนครราชสีมาได้เสนอโครงการต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการจัดตั้ง "เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครราชสีมา" ขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้าในพื้นที่และสามารถฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ การลงทุน ที่อยู่ในภาวะถดถอยมาอย่างต่อเนื่องนี้ไปได้
        ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ทั้ง 10 จังหวัด ไม่ประสบความสำเร็จ สาเหตุหลักเป็นเพราะประเทศไทยแทบจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร (GSP) จากสหรัฐฯ-สหภาพยุโรป แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในกลุ่มสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าแปรรูปเกษตร ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา ยังคงได้รับสิทธิพิเศษ GSP นี้อยู่ ทำให้ผู้ประกอบการที่สนใจจะตั้งโรงงานตามเขตแนวชายแดนเพื่อความได้เปรียบทางด้านแรงงานและต้นทุน ได้เปลี่ยนใจ" หันไปตั้งโรงงานในนิคมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ฝั่งตรงข้าม กันแทน
        "แม้การตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มจากปกติ 3 ปี รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี) หรืออยู่ในกลุ่ม A1-A2 ยกเว้น 8 ปีอยู่แล้ว แต่ยังให้ลดหย่อนร้อยละ 50 ต่ออีก 5 ปี หรือถ้าผลิตสินค้าในกลุ่มอุตฯ เป้าหมาย 13 กลุ่ม ได้รับยกเว้น 8 ปีก็ตาม แต่ก็ได้ไม่มากเท่ากับการได้รับสิทธิพิเศษ GSP ที่เสียภาษีนำเข้าต่ำกว่าอัตราปกติจากประเทศคู่ค้า" นายหัสดิน กล่าว
        สำหรับ จ.นครราชสีมา มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ซึ่งทางรัฐบาลได้จัดสรรมาให้แล้ว เช่น รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์  รถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือบกนครราชสีมา ( Dry Port) ซึ่งเกี่ยวข้องกับด่านศุลกากร แม้ จ.นครราชสีมาจะไม่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านแต่การที่มีด่านศุลกากร ทำให้มีองค์ประกอบคล้ายกับ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และ นครราชสีมา ยังมีทรัพยากรมนุษย์จำนวนมากโดยเป็นจังหวัดที่มีประชากรเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรุงเทพฯ และมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา หลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ซึ่งพร้อมจะผลิตบุคลากรเข้าสู่ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ
        อีกทั้ง จ.นครราชสีมา ยังมีพื้นที่ในการเพาะปลูกสินค้าเกษตรจำนวนมาก เช่น มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด อ้อยโรงงาน นอกจากนี้ในด้านปศุสัตว์ จ.นครราชสีมา มีการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ จำนวนมาก ซึ่งสามารถสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และโรงงาน ผลิตอาหารการสนับสนุนจากภาครัฐ
โดยกิจการที่เข้าไปลงทุนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.นครราชสีมา จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มาตรการสนับสนุนทางด้านภาษี การอำนวยความสะดวกของหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น โดยหากอยู่ในประเภทกิจการที่กำหนด จะได้รับสิทธิประโยชน์ ด้านภาษีอากร ได้แก่ มาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI มาตรการของกระทรวงการคลัง
        กลุ่มกิจกรรมเป้าหมายที่จะให้การส่งเสริมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นี้  มี 15 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร และกิจการที่เกี่ยวข้อง 2.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและกิจการที่เกี่ยวข้อง 3.กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร และชิ้นส่วน 4.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน 6.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกและ ไบโอพลาสติก
        7.กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง 8.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเรือน 9.กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ 10.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกส์และดินเผา 11.กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยาและเครื่องมือแพทย์ 12. อุตสาหกรรมตัดต่อยีนและขยายพันธุ์พืชและสัตว์ 13.กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 14.กลุ่มนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม 15.กลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนการ ท่องเที่ยวและบริการ
 

ข่าวเขตเศรษฐกิจพิเศษ อื่นๆ