เอกชน ชงรัฐหนุน ชิงโอกาส อุตฯระบบราง
Loading

เอกชน ชงรัฐหนุน ชิงโอกาส อุตฯระบบราง

วันที่ : 17 มกราคม 2563
ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการลงทุนในระบบราง โดยมีโครงการที่เตรียมจะก่อสร้าง เช่น โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงรถไฟฟ้าในต่างจังหวัด รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งทำให้มีความต้องการขบวนรถไฟเพิ่มขึ้นมาก
          วัชร ปุษยะนาวิน

          กรุงเทพธุรกิจ

          ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการลงทุนในระบบราง โดยมีโครงการที่เตรียมจะก่อสร้าง เช่น โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงรถไฟฟ้าในต่างจังหวัด รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งทำให้มีความต้องการขบวนรถไฟเพิ่มขึ้นมาก

          ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางภายในประเทศ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน การผลิตรถไฟ ทั้งขบวน รวมไปถึงระบบต่างๆ แต่ทั้งนี้ การที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นจะต้อง เพิ่มมาตรการส่งเสริมผู้ผลิตชาวไทยอีก หลายด้าน เพื่อลดการนำเข้า การสร้างเทคโนโลยีให้เกิดภายในประเทศ

          วีระชัย ตรีพรเจริญ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมระบบราง สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เปิดเผยว่า นโยบายการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมระบบราง ในประเทศเป็นเรื่องที่ดี แต่รัฐบาลควรช่วยเหลือ สนับสนุนในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการจัดทำ มาตรฐานชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมระบบราง เพราะโครงการรถไฟฟ้าและรถไฟทางคู่มีผู้ได้รับสัมปทานหลากราย  มีการใช้รถไฟจากหลายค่าย เช่น จีน ญี่ปุ่น ยุโรป ซึ่งหากไทยไม่มีมาตรฐานกลาง ของประเทศจะผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ป้อนให้บริษัทเหล่านี้ได้ยาก

          ปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนรถไฟและรถไฟฟ้าของไทย ผลิตสินค้าตามแบบและ มาตรฐานที่บริษัทต่างชาติมาจ้างผลิต ทำให้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ และแบรนด์ตัวเองได้ เพราะผู้ว่าจ้างเปลี่ยนไป จ้างโรงงานอื่น หรือโรงงานในประเทศอื่น ผลิตได้ตลอด หากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ถ้าไทย มีมาตรฐานชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมระบบราง ของตัวเอง ก็จะทำให้ผู้ได้รับสัมปทานก็จะต้อง ใช้มาตรฐานที่ไทยกำหนด ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วน ของไทยมีมาตรฐานรองรับ และบริษัทต่างชาติ ก็มีความมั่นใจในสินค้าชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ

          สำหรับชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมระบบรางมีเป็นจำนวนมาก หากให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมดก็จะต้องใช้เวลานานมาก ดังนั้นจึงควรดูแนวทางของจีนที่นำมาตรฐานประเทศผู้ผลิตรถไฟฟ้าและรถไฟชั้นนำมาปรับให้เหมาะสมกับไทย เช่น ปรับสภาพภูมิอากาศที่ไทยมีความแตกต่างจากประเทศที่มีอากาศหนาว

          รวมทั้งปรับให้เหมาะกับคุณสมบัติของผู้ผลิตไทย เพื่อให้ผู้ผลิตของไทยได้ประโยชน์มากขึ้น จากนั้นประกาศใช้เป็นมาตรฐานของไทย ซึ่งทำให้บริษัทผู้ผลิต ต่างชาติปรับไปใช้ได้ง่าย เพราะมาตรฐาน เหล่านี้คล้ายกันทั่วทั้งโลก รวมทั้ง สมอ.ก็ออก มาตรฐานชิ้นส่วนได้รวดเร็ว

          นอกจากนี้ รัฐบาลควรลงทุนทำ ห้องทดสอบและสนามทดสอบอุตสาหกรรมระบบราง เพราะชิ้นส่วนต่างๆ ต้องได้รับรองคุณภาพมาตรฐานจากห้องทดสอบที่สากลยอมรับ ซึ่งในไทยมีเพียงห้องทดสอบเฉพาะวัสดุ แต่ยังไม่มีห้องทดสอบชิ้นส่วน รถไฟขนาดใหญ่ หรือทดสอบทั้งโบกี้ ทำให้ต้องส่งชิ้นส่วนไปทดสอบในต่างประเทศ ที่มีราคาสูงมาก

          ส่วนการกำหนดทีโอาร์โครงการ ระบบราง รัฐบาลควรลงรายละเอียดการใช้ชิ้นส่วนวัสดุภายในประเทศให้ละเอียดขึ้น เพราะปัจจุบันกำหนดกรอบกว้างว่าแต่ละโครงการต้องใช้วัสดุและแรงงานในประเทศสัดส่วนเท่าใด ซึ่งทำให้มีเพียงงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาคาร หมอนคอนกรีตรางรถไฟและการจ้างแรงงานชาวไทยที่ได้รับ ประโยชน์ ซึ่งงานส่วนนี้ผู้ประกอบการไทย ดำเนินการได้นานแล้ว

          รวมทั้งทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ไม่ประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะงานโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้และการจ้างแรงงานคิดเป็นสัดส่วน 20% ของมูลค่าโครงการแล้ว ตรงตามที่ ทีโออาร์กำหนด โดยภาครัฐควรกำหนดชัดเจนว่า ต้องใช้ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ใดที่ผลิต ในประเทศ เพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย มีส่วนร่วมมากขึ้น และการกำหนดราคา ต้องไม่เน้นสินค้าที่ราคาถูกที่สุด เพราะจะมี แต่สินค้าจีนที่ราคาถูกมาก

          "การจัดทำมาตรฐานและห้องทดสอบ จะต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี เพราะหากนานกว่านั้นโครงการรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่จะผ่านการลงนามสัญญา และกำหนดทีโออาร์ไปหมดแล้ว ทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด ในปัจจุบันก็มีผู้ผลิตหลายรายสนใจที่จะผลิตโบกี้ทั้งคัน เช่น ช.ทวี อิตาเลียนไทย บีทีเอส ซึ่งไทยมีศักยภาพที่จะผลิตเองได้ แต่หากไม่มีการกำหนดมาตรฐาน หรือ ศูนย์ทดสอบก็ทำได้ยาก"

          นอกจากนี้ รัฐบาลควรกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าหรือต่างชาติที่มาตั้งโรงงานผลิตในไทย ให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีกับคนไทย ซึ่งที่ผ่านมามาเลเซียที่ซื้อรถไฟฟ้าจากต่างประเทศก็มีมาตรการเหล่านี้ ทำให้เกิด วิศวกรผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ระบบรางจำนวนมาก โดยโครงการลงทุนรถไฟฟ้าและรถไฟทางคู่มีความต้องการขบวนรถไฟและโบกี้อีกมาก ซึ่งมากพอที่จะชักจูงให้เกิดการลงทุนในไทย กำหนดการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงเหล่านี้ได้

          ขณะนี้ไทยควรเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางเพราะภายใน 20 ปีนี้ ไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มีโครงการรถไฟฟ้ามาก หากไม่เร่งทำก็จะถูกประเทศผู้ผลิตรถไฟฟ้ารายใหญ่จากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย แย่งส่วนแบ่งนี้ไปหมด โดยปัจจุบัน ผู้ผลิตชาวไทยสามารถผลิตได้หลายอย่าง เช่น ระบบประตูปิดเปิดในชานชาลาสถานี การผลิตตัวรถของรถไฟไม่รวมเครื่องยนต์ การตกแต่งต่างๆ การผลิตโบกี้ ระบบไฟฟ้าภายในสถานี

          ในช่วงแรกควรกำหนดให้โครงการระบบรางใช้วัสดุอุปกรณ์ชิ้นส่วน ในประเทศ 10% จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้มาก เพราะโครงการลงทุนระบบรางในปี 2563 ก็มีมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาท หากใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายในประเทศ 10% ก็มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งในอนาคต เมื่อผู้ผลิตไทยมีความพร้อมมากขึ้นก็ทยอยเพิ่มสัดส่วนนี้

          รัฐบาลควรกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าตั้งโรงงานผลิต
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ