มูลค่าโอนห้องชุดต่างชาติพุ่งสวนทางหน่วยขาย สะท้อนดีมานด์ลักชัวรีคอนโดฯ "จีน รัสเซีย" นำโด่ง เซอร์ไพรส์ "พม่า" ยอดโอนอันดับ3
Loading

มูลค่าโอนห้องชุดต่างชาติพุ่งสวนทางหน่วยขาย สะท้อนดีมานด์ลักชัวรีคอนโดฯ "จีน รัสเซีย" นำโด่ง เซอร์ไพรส์ "พม่า" ยอดโอนอันดับ3

วันที่ : 9 เมษายน 2567
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) รายงานสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในไตรมาส 4 ปี 66 พบว่าหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น และโดยภาพรวมปี 66 หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ เพิ่มขึ้น 25.0% จากปีก่อน โดยเป็นผลบวกจากนโยบายในการเปิดประเทศ

    ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 67 ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟอ หนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดอสังหาฯ หดตัว และที่สำคัญ มีผลต่อการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปฏิเสธสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าตลาดที่อยู่อาศัยกลาง-ล่าง ระดับราคา 2 -3 ล้านบาท

   สถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ หันไปเจาะตลาดที่อยู่อาศัยระดับบนมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มลูกค้าระดับบนยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยเพราะกลุ่มลูกค้าในตลาดระดับบนยังคงเป็นกลุ่มที่มีสภาพคล่องสูง และมีเงินออมและพึ่งพาสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินน้อย อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการขยายตัวของกลุ่มบ้านแนวราบ ทำให้ดีมานด์บ้านในตลาดระดับบนถูกดูดซับไปจำนวนไม่น้อย ส่วนดีมานด์ที่มีอยู่ก็ไม่เร่งรีบในการตัดสินใจซื้อ

   ขณะที่ดีมานด์คอนโดมิเนียมในตลาดกลาง-ล่าง ก็มีสถานการณ์ไม่ต่างจากบ้านแนวราบมากนัก โดยกลุ่มราคาระดับกลาง-ล่าง ยังคงติดปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่ในระดับสูงโดยบางโครงการมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 50-60% แต่ทิศทางของตลาดคอนโดฯดูจะมีอนาคตที่ดีกว่ากลุ่มที่อยู่อาศัยแนวราบ เนื่องจากยังมีดีมานด์จาก ตลาดต่างชาติเข้ามาดูดซับซัปพลายสะสมในตลาดในบางส่วนออกไปโดยเฉพาะคอนโดฯในตลาดเมืองท่องเที่ยว และกทม.ในระดับราคา 3 ล้านบาท

    นอกจากนี้ ในตลาดคอนโดฯระดับบน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตลาดไฮเอนด์ ตลาดลักชัวรี ซูเปอร์ลักชัวรี หรืออัลตราลักชัวรี ต่างได้รับความนิยมและสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดฯ ลักชัวรีในเมืองท่องเที่ยว และกทม. ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าต่างชาติอย่างมาก จากกลุ่มลูกค้ารัสเซีย ยุโรป อเมริกา จีน ตะวันออกกลางและพม่า โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐีจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงคราม และมองว่าการลงทุน ในพันธบัตร ตราสารหนี้ ทองคำมีความมั่นคงและผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในอสังหาฯ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ยอดซื้อ และโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจากกลุ่มชาวต่างชาติขยายตัวขึ้นในทุกๆ ปี

    ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC รายงานสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในไตรมาส 4 ปี 66 พบว่าหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น และโดยภาพรวมปี 66 หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ เพิ่มขึ้น 25.0% จากปีก่อน โดยเป็นผลบวกจากนโยบายในการเปิดประเทศ ซึ่งประเทศไทยนับเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และ รัฐบาลได้ออกมาตรการ "วีซาฟรีชั่วคราว" ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน และชาวคาซัคสถาน เป็นระยะเวลา 5 เดือน จนถึงเดือน ก.พ. 67 มีการเพิ่มฟรีวีซ่าให้กับประเทศอินเดีย และไต้หวัน เป็นระยะเวลา 7 เดือน จนถึง 10 พ.ค. 67 และต่อมารัฐบาลได้เปิดฟรีวีซ่าให้กับชาวจีน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 67 เป็นต้นไป โดยชาวไทย และชาวจีนสามารถเดินทางเข้าประเทศอีกฝ่ายหนึ่งได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า นับเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจช่วยสร้างโอกาสในการซื้อห้องชุดของคนต่างชาติเพิ่มขึ้น รวมถึงเหตุปัจจัยความขัดแย้งทางภูมิ รัฐศาสตร์ที่ส่งผลให้มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมากขึ้นตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

     ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เปิดเผยว่า ภาวการณ์ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ของห้องชุดของคนต่างชาติในปี 66 ที่ผ่านมามีสัดส่วนการซื้อห้องชุดของคนต่างชาติมีการปรับเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหน่วยและมูลค่าเมื่อเทียบกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งระบบ โดยเพิ่มเป็น 13.4% และ 24.0 ตามลำดับ จาก 10.8% และ 20.5% ในปี 65 เมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในปี 66 พบว่าอยู่ที่ 3,600 หน่วยต่อไตรมาส โดยมีหน่วยใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ที่มีจำนวนอยู่ที่ 3,300 หน่วยต่อไตรมาส แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะที่ดีและเริ่มเป็นปกติแล้ว

    ใน ปี 66 (ม.ค.-ธ.ค.) มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติจำนวน 14,449 หน่วย และมีมูลค่าจำนวน 73,161 ล้านบาท หากพิจารณาลงไปในรายพื้นที่จังหวัด พบว่า หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในชลบุรีมาเป็นอันดับ 1 ที่มีสัดส่วน 41.1% ขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นอันดับ 2 ที่มีสัดส่วน 38.0% ของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ ทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยรวมกันสูงถึง79.0% และมูลค่ารวมกันสูงถึง 85.4% ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ชลบุรีเพิ่งมีการขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปี 66 ซึ่งมีความแตกต่างจากช่วงปี 61 - 65 ที่กรุงเทพฯเคยเป็นจังหวัดที่มียอดโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติมาเป็นอันดับ 1

    ทั้งนี้ ผู้ซื้อสัญชาติจีนยังคงเป็นกลุ่มที่มีหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติมาเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วน 45.8% และ 46.7% ตามลำดับ ส่วนอันดับ 2 เป็นสัญชาติรัสเซีย มีสัดส่วน 8.7% และ 6.1% ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้ซื้อจากสหรัฐอเมริกามีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเป็นอันดับ 3 มีสัดส่วน 4.4% ขณะที่ผู้ซื้อจากพม่ามีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเป็นอันดับ 3 มีสัดส่วน 5.1% นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจว่า ในไตรมาสนี้สัญชาติพม่ายังคงมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่มีราคาเฉลี่ยต่อหน่วยสูงสุดที่ 6.6 ล้านบาท ในขณะที่สัญชาติสหราชอาณาจักรมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดขนาดเฉลี่ยใหญ่สุดอยู่ที่ 56.5 ตารางเมตร

     สำหรับจำนวนหน่วย มูลค่า และพื้นที่ห้องชุดที่โอนกรรมสิทธิ์ให้คนต่างชาติ ภาพรวมสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศ ในไตรมาส 4 ปี 66 พบว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 3,746 หน่วย ลดลง-0.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 20,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ในมิติของพื้นที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 171,722 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

     ในไตรมาส 4 ปี 66 มีสัดส่วนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ 12.8% ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศ ซึ่งเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วน 11.5% ขณะที่มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ มีสัดส่วน 26.1% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศ ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วน 21.1% ส่วนพื้นที่ห้องชุดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้คนต่างชาติ มีสัดส่วน 17.0% ของพื้นที่การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วน 14.9% ทั้งนี้สัดส่วนที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 ปี 66 เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 (ปี 62) ที่มีสัดส่วนหน่วยและมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10.1% และ 15.6% ข้อมูลที่ปรากฏเช่นนี้ทำให้เห็นได้ว่า ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่เป็นชาวต่างชาติเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีการซื้อห้องชุดที่มีราคาสูงขึ้นกว่าช่วงปีก่อนหน้า

    สัดส่วนห้องชุดใหม่และห้องชุดมือสอง ที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้คนต่างชาติ ในไตรมาส 4 ปี 66 มีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติเป็นห้องชุดใหม่ต่อห้องชุดมือสองเป็นอัตราส่วน 59 : 41 และพบว่าห้องชุดมือสองมีการโอนกรรมสิทธิ์ให้กับคนต่างชาติเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติเป็นห้องชุดใหม่ต่อ ห้องชุดมือสองเป็นอัตราส่วน 70 : 30 พบว่าห้องชุดมือสองมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และในส่วนพื้นที่ที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ ห้องชุดให้คนต่างชาติเป็นห้องชุดใหม่ต่อห้องชุดมือสองเป็นอัตราส่วน 55 : 45 ซึ่งพื้นที่ห้องชุดใหม่และห้องชุดมือสองมีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

     ดร.วิชัยกล่าวว่าการที่สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติเป็นห้องชุดมือสองเพิ่มมากขึ้นทั้งจำนวนหน่วย มูลค่า และพื้นที่โดยมีข้อสังเกตว่าคนต่างชาติอาจมีความต้องการห้องชุดมือสองมักอยู่ในทำเลพื้นที่ชั้นใน หรือ พื้นที่ใกล้ศูนย์กลางธุรกิจของเมือง ซึ่งในปัจจุบันมีอุปทานให้เลือกน้อยลง ประกอบกับราคาห้องชุดมือสองในทำเลเหล่านี้มีราคาที่ต่ำกว่าโครงการเปิดใหม่ในทำเลเดียวกัน ดังนั้น ห้องชุดมือสองจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อสัญชาติจีน ที่ต้องการซื้อเพื่อการลงทุนและเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย

     สำหรับระดับราคาห้องชุดที่เป็นที่นิยมของคนต่างชาติ ในไตรมาส 4 ปี 66 ห้องชุดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ให้คนต่างชาติมากที่สุดอยู่ในช่วงราคาไม่เกิน 3.00 ล้านบาท โดยมีการโอนจำนวน 1,849 หน่วย คิดเป็น49.4% ของหน่วยทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับราคาที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่นิยมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุดตั้งแต่ปี 62 ถึงปัจจุบัน รองลงมาคือ ระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท มีจำนวน 880 หน่วย คิดเป็น 23.5% ระดับราคา 5.01-7.50 ล้านบาทมีจำนวน 458 หน่วย คิดเป็น 12.2% ระดับราคามากกว่า 10.00 ล้านบาทขึ้นไปมีจำนวน 355 หน่วยคิดเป็น 9.5% และระดับราคา 7.51-10.00 ล้านบาท มีจำนวนน้อยที่สุด คือ 204 หน่วย คิดเป็น 5.4% ตามลำดับ

    ขนาดพื้นที่ห้องชุดที่เป็นที่นิยมของคนต่างชาติ ในไตรมาส 4 ปี 66 ขนาดห้องชุดที่เป็นที่นิยมของคนต่างชาติ คือ ขนาดพื้นที่ 31 - 60 ตารางเมตร (ประเภท 1-2 ห้องนอน) โดยมีจำนวนหน่วยที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ จำนวน 1,884 หน่วย คิดเป็น 50.3% รองลงมา คือ ห้องชุดขนาดพื้นที่ไม่เกิน 30 ตารางเมตร (สตูดิโอ หรือ 1 ห้องนอน) มีจำนวน 1,240 หน่วย คิดเป็น 33.1% ถัดมา คือ ห้องชุดขนาดพื้นที่ 61-100 ตารางเมตร (2-3 ห้องนอนขึ้นไป) จำนวน 409 หน่วย คิดเป็น 10.9% และห้องชุดขนาดพื้นที่มากกว่า 100 ตารางเมตร (3 ห้องนอนขึ้นไป) มีจำนวนน้อยที่สุด คือ 213 หน่วย คิดเป็น 5.7% ตามลำดับ เมื่อพิจารณาย้อนหลังไปถึงปี 62 พบว่า ห้องชุดขนาดไม่เกิน 30 ตารางเมตร และขนาด 31 - 60 ตารางเมตร เป็นประเภทห้องชุดที่คนต่างชาตินิยมมากที่สุด โดยมีสัดส่วนจำนวนหน่วยที่โอนกรรมสิทธิ์รวมกันสูงกว่า 80% ในแต่ละไตรมาส

    สัญชาติคนต่างชาติที่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ในปี 66 (ม.ค.- ธ.ค.) พบว่าผู้ซื้อสัญชาติจีนเป็นกลุ่มที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุดทั่วประเทศ โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ผู้ซื้อสัญชาติจีนไปแล้วทั้งหมด 6,614 หน่วย คิดเป็น 45.8% ของหน่วยทั้งหมด และอีก 4 สัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอันดับรองลงมา ได้แก่ รัสเซีย จำนวน 1,260 หน่วย คิดเป็น 8.7% ถัดมาคือ สหรัฐอเมริกาจำนวน 631 หน่วย คิดเป็น 4.4% พม่า จำนวน 564 หน่วย คิดเป็น 3.9% อันดับ 5 คือ ไต้หวัน จำนวน 532 หน่วย คิดเป็น 3.7% ตามลำดับ หากพิจารณาตั้งแต่ ปี 2561 ถึงปี 65 พบว่าสัญชาติที่มีจำนวนหน่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ ฝรั่งเศส ตามลำดับ แต่ในปี 66 (ม.ค.-ธ.ค.) กลับพบว่า หน่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรกเปลี่ยนแปลงดังนี้ จีน รัสเซียสหรัฐอเมริกา พม่า และไต้หวัน ตามลำดับ

    ส่วนของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศให้คนต่างชาติทั่วประเทศในปี 66 (ม.ค.-ธ.ค.) พบว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ผู้ซื้อสัญชาติจีน เป็นมูลค่าสูงสุด จำนวน 34,132 ล้านบาท คิดเป็น 46.7% ของมูลค่าทั้งหมด ส่วนอีก 4 สัญชาติที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์รองลงมาคือ รัสเซีย จำนวน 4,455 ล้านบาท คิดเป็น 6.1% ถัดมา คือ พม่า จำนวน 3,707 ล้านบาท คิดเป็น 5.1% สหรัฐอเมริกาจำนวน 3,227 ล้านบาท คิดเป็น 4.4% และไต้หวัน จำนวน 2,908 ล้านบาท คิดเป็น 4.0% ตามลำดับ

    ดร.วิชัยกล่าวว่าจากข้อมูลที่พบในปี 66 (ม.ค.-ธ.ค.) มีข้อสังเกตว่า ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดสัญชาติจีนมีจำนวน 6,614 หน่วย คิดเป็น 45.8% และมีมูลค่า 34,132 ล้านบาท คิดเป็น 46.7% ของชาวต่างชาติที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งหมด ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของผู้ซื้อสัญชาติจีนในปี 66 (ม.ค.-ธ.ค.) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 65 (ม.ค.-ธ.ค.) ทั้งนี้เนื่องจากผู้ซื้อสัญชาติอื่นมีการซื้อห้องชุดจำนวนหน่วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน แม้ว่าผู้ซื้อสัญชาติจีนมีการซื้อในจำนวนหน่วยที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

    สำหรับในเรื่องขนาดและราคาห้องชุดเฉลี่ย ในปี 66 พบว่า ห้องชุดที่ชาวต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์ มีขนาดเฉลี่ย 45.6 ตารางเมตร มูลค่าเฉลี่ย 5.1 ล้านบาท/หน่วย หรือ 110,981 บาทต่อ ตารางเมตร (ตร.ม.) ทั้งนี้ สัญชาติที่มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด 10 ลำดับแรก ในปี 66 พบว่า พม่าเป็นสัญชาติที่มีมูลค่าการโอนต่อหน่วยสูงสุดเฉลี่ย 6.6 ล้านบาทต่อหน่วย และสหราชอาณาจักรเป็นสัญชาติที่โอนห้องชุดขนาดใหญ่ที่สุดเฉลี่ย 56.5 ตร.ม. โดยชาวจีนซึ่งเป็นสัญชาติที่มีสัดส่วนการโอนห้องชุดมากที่สุด โดยมีมูลค่าการโอนเฉลี่ย 5.2 ล้านบาทต่อหน่วย และพื้นที่ห้องชุดเฉลี่ย 39.5 ตร.ม.

   สำหรับจังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคนต่างชาติสูงสุด ในปี 66 พบว่า จังหวัดที่มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคนต่างชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ตและสมุทรปราการ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน 2 จังหวัดแรก คือ ชลบุรี มีจำนวน 5,935 หน่วย คิดเป็น 41.1% และกรุงเทพฯ จำนวน 5,484 หน่วย คิดเป็น 38.0% ตามลำดับ โดยทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยรวมกันสูงถึง 79% ของทั่วประเทศ เมื่อพิจารณา พบว่าในปี 66 ชลบุรีมีจำนวนหน่วยโอนห้องชุดให้คนต่างชาติมากกว่ากรุงเทพฯ แต่ถ้าพิจารณาย้อนกลับไปในช่วง ปี 61 -65 กรุงเทพฯมีจำนวนหน่วยโอนห้องชุดให้คนต่างชาติมากกว่าชลบุรีมา โดยตลอด

    นอกจากนี้ ยังพบว่าจังหวัดที่มีจำนวนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคนต่างชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ตเชียงใหม่ และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน 2 จังหวัดแรก คือกรุงเทพฯ มีจำนวน 5,484 หน่วย มูลค่า 44,250 ล้านบาท คิดเป็น 60.5% ของมูลค่าทั้งหมดและชลบุรี มีจำนวน 5,935 หน่วย มูลค่า 18,221 ล้านบาท คิดเป็น 24.9% ของมูลค่าทั้งหมดตามลำดับ โดย ทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนมูลค่ารวม 85.4% ของทั่วประเทศ เมื่อพิจารณาย้อนหลังไปถึงปี 61 พบว่า กรุงเทพฯ และชลบุรี ยังคงเป็นจังหวัดที่มีจำนวนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติในสัดส่วนที่มากที่สุดเช่นเดียวกัน ส่วนอันดับรองลงมาเป็นจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ ภูเก็ตและเชียงใหม่ เป็นต้น

    จากการประมวลภาพของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คน ต่างชาติทั้งหมด ทำให้เราเห็นได้ว่า ปริมาณทั้งในมิติของจำนวน หน่วย มูลค่า และพื้นที่ เริ่มฟืนตัวกลับมาแล้ว ทั้งนี้ มีข้อสังเกตต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนการซื้อขายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และแสดงให้เห็นว่าการซื้อขายห้องชุดของคนต่างชาติในช่วงที่ผ่านมาได้มีการโอนกรรมสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง