สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Loading

สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วันที่ : 13 กันยายน 2566
รายงานสถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ระหว่างขายในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ของจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานสถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ระหว่างขายในช่วงครึ่งแรกปี  2566 ของจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม พบว่า จำนวนหน่วยเหลือขายในช่วงครึ่งแรกปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 และมีผลให้อัตราดูดซับของภาพรวมตลาดอยู่ที่ร้อยละ 2.1 REIC คาดการณ์ ปี 2566 จะมีที่อยู่อาศัยเข้ามาในตลาดจำนวน 4,511 หน่วย มูลค่า 15,446 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่ 3,689 หน่วย มูลค่า 13,349 ล้านบาท มีหน่วยเหลือขาย 12,535 หน่วย มูลค่า 42,843 ล้านบาท

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ครึ่งแรกปี 2566 พบว่า จำนวนอุปทานพร้อมขายจำนวนประมาณ 14,721 หน่วย มูลค่า 50,859 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการอาคารชุด 2,812 หน่วย มูลค่า 5,444 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านจัดสรร 11,909 หน่วย มูลค่า 45,415 ล้านบาท มีโครงการใหม่เข้าสู่ตลาด 3,007 หน่วย มูลค่า 10,297 ล้านบาท มีโครงการขายได้ใหม่จำนวน 1,892 หน่วย มูลค่า 6,854 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขาย 12,829 หน่วย มูลค่า 44,006 ล้านบาท 

“เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขายของ 5 จังหวัดนี้ พบว่า จังหวัดนครราชสีมา และ ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีขนาดตลาดเป็นลำดับ 1 และ 2 ในทุกด้าน ดังจะเห็นได้จากจำนวนและสัดส่วนที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่มีการเสนอขายถึง 6,577 หน่วย (ร้อยละ 44.7) มูลค่า 23,620 ล้านบาท (ร้อยละ 46.4) และ 4,979 หน่วย (ร้อยละ 33.8) มูลค่า 15,996 ล้านบาท (ร้อยละ 31.5) ของหน่วยที่เสนอขายทั้งหมด ตามลำดับ แต่กลับเห็นว่าจังหวัดขอนแก่นมีการเปิดตัวโครงการใหม่มากที่สุด โดยมีการเปิดตัวทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุดรวม 1,378 หน่วย (ร้อยละ 45.8) มูลค่า 4,400 ล้านบาท (ร้อยละ 42.7) ของหน่วยที่เปิดขายใหม่มากกว่าจังหวัดอื่น ทั้งนี้เป็นหน่วยบ้านจัดสรร 888 หน่วย (ร้อยละ 36.3) มูลค่า 3,687 ล้านบาท (ร้อยละ 39.2) และอาคารชุด 490 หน่วย (ร้อยละ 86.9) มูลค่า 712 ล้านบาท (ร้อยละ 88.9) 

แต่จังหวัดนครราชสีมามีจำนวนหน่วยขายได้ใหม่สูงสุด 746 หน่วย (ร้อยละ 39.4) มูลค่า 2,774 ล้านบาท (ร้อยละ 40.5) โดยมีอัตราการดูดซับที่ร้อยละ 1.9 ต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าจังหวัดอื่นเล็กน้อย รองลงมาเป็นจังหวัดขอนแก่น 739 หน่วย (ร้อยละ 39.1) มูลค่า 2,632 ล้านบาท (ร้อยละ 38.4) โดยมีอัตราการดูดซับที่ร้อยละ 2.5 ต่อเดือน ทั้งนี้ จังหวัดขอนแก่นมีอัตราดูดซับบ้านจัดสรรสูงสุดร้อยละ 2.7 และมหาสารคามมีอัตราดูดซับอาคารชุดสูงสุดร้อยละ 2.6”  

อุปทานโดยรวม ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั้งหมด จำนวน 14,721 หน่วย มูลค่า 50,859 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ร้อยละ 11.6 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ตามลำดับ โดยเป็นโครงการใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนเพียง 3,007 หน่วย มูลค่า 10,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) 
ร้อยละ 48.9 และร้อยละ 72.4 ตามลำดับ ขณะที่ที่อยู่อาศัยเหลือขาย ณ ครึ่งแรกปี  2566 จำนวน 12,829 หน่วย มูลค่า 44,006 ล้านบาท จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

โดย 5 ทำเล ที่มีจำนวนหน่วยเหลือขายมากที่สุดใน 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ อันดับ 1 ทำเลจอหอ จำนวน 1,606 หน่วย มูลค่า 5,173 ล้านบาท อันดับ 2 ทำเลในเมืองนครราชสีมา จำนวน 1,196 หน่วย มูลค่า 4,990 ล้านบาท  อันดับ 3 ทำเล ม.ขอนแก่น จำนวน 1,115 หน่วย มูลค่า 1,994 ล้านบาท อันดับ 4  ทำเลบ้านใหม่-โคกกรวด จำนวน979 หน่วย มูลค่า 2,884 ล้านบาท  อันดับ 5 ทำเลหัวทะเล จำนวน 942 หน่วย มูลค่า 3,103 ล้านบาท โดยระดับราคาที่มีหน่วยเหลือขายมากที่สุดคือ 2.00-3.00 ล้านบาท มีจำนวนถึง 3,986 หน่วย มูลค่า 10,706 ล้านบาท 

อุปสงค์โดยรวม  พบว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2566 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 1,892 หน่วย มูลค่า 6,854 ล้านบาท   แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 1,593 หน่วย มูลค่า 6,303 ล้านบาท และอาคารชุดเพียง 299 หน่วย มูลค่า 551 ล้านบาท ซึ่งทำเลที่มีหน่วยขายได้สูงสุด 5 อันดับแรกคือ อันดับ 1 บ้านเป็ด จำนวน 241 หน่วย มูลค่า 1,110 ล้านบาท  อันดับ 2 ในเมืองนครราชสีมา จำนวน 229 หน่วย มูลค่า 895 ล้านบาท อันดับ 3 จอหอ จำนวน 189 หน่วย มูลค่า 658 ล้านบาท  อันดับ 4 บึงแก่นนคร จำนวน 141 หน่วย มูลค่า 633 ล้านบาท และอันดับ 5 ม.ขอนแก่น จำนวน 132 หน่วย มูลค่า 282ล้านบาท ...
สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่