3 สิ่งต้องตรวจสอบตัวเอง ถ้าไม่อยากเจ๊งในการซื้อบ้าน
Loading

3 สิ่งต้องตรวจสอบตัวเอง ถ้าไม่อยากเจ๊งในการซื้อบ้าน

วันที่ : 21 กันยายน 2563
3 สิ่งต้องตรวจสอบตัวเอง ถ้าไม่อยากเจ๊งในการซื้อบ้าน

บ้านหลังแรก หรือคอนโดห้องแรกในชีวิต ถือเป็นสิ่งที่เราทุกคนปรารถนาและอยากไขว่คว้ามาไว้ครอบครองให้ได้เร็วที่สุด แต่ทั้งนี้แม้ดูเหมือนผู้ประกอบการจะอัดฉีดโปรโมชั่นมากมายดึงดูดใจว่าการจะซื้อบ้าน ซื้อคอนโดสักหลังนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ภาระค่าใช้จ่าย” ที่มาพร้อมกับการมีบ้านสักหลังนั้นก็ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นวันนี้ เพื่อให้การมีบ้านหลังแรกของทุกคน เป็นเรื่องดีที่ทำให้ชีวิตมีความสุขได้มากที่สุด โดยไม่กลายเป็นบ่วงฉุดรั้งให้ต้องเป็นหนี้เป็นสินจมกองทุกข์ในภายหน้า เราจะพาไปเช็คลิสต์สำรวจกันว่า มีอะไรบ้างที่จำเป็นต้องตรวจสอบให้ดี ก่อนการตัดสินใจซื้อบ้านสักหลัง

  1. ตรวจสอบเงินเดือนตัวเอง
    เป็นคำถามที่มักถูกถามกันอยู่บ่อยๆ ว่า “ต้องมีเงินเดือนเท่าไรถึงจะซื้อบ้านได้?” ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ปริมาณเงินเดือนอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่ต้องดู “สัดส่วนหนี้สินต่อเงินเดือนที่ต้องจ่ายด้วย” เพราะคำแนะนำของการจะซื้อบ้านสักหลังนั้น เราควรมีภาระผ่อนหนี้ “ทั้งหมด” รวมกันต่อเดือนไม่เกิน 40% หรืออธิบายง่ายๆ ว่า ถ้าเรามีเงินเดือน 30,000 บาท ก็ควรมีหนี้ที่ต้องผ่อนต่อเดือนไม่เกิน 12,000 บาท ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่า ถ้าเงินเดือน 30,000 บาท ก็ซื้อบ้านซื้อคอนโดที่ผ่อนไม่เกิน 12,000 บาท ต่อเดือนได้สบายๆ ทำให้เวลาเจอสื่อการขายว่า ผ่อนเดือนละหลักพัน จึงรู้สึกได้ง่ายว่า “เราพร้อม” ที่จะซื้อบ้าน แต่ในความเป็นจริงนั้น “12,000 บาท” คือ หนี้ทั้งหมดที่ผ่อนต่อเดือน คือไม่ได้หมายถึงแค่ค่าผ่อนบ้านอย่างเดียว แต่รวมถึงหนี้สินอื่นๆ ด้วย เช่นหนี้ผ่อนบัตรเครดิต หนี้ผ่อนรถ ฯลฯ เพราะหากเราไม่รวมหนี้อื่นๆ เข้าไปด้วยแล้ว ก็จะทำให้ภาระต่อเดือนเราสูง จนอาจไม่มีเงินเหลือกิน เหลือใช้ เหลือเก็บ ซึ่งในสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจไม่ดี หากบริษัทต้องปิดกิจการ หรือถูกปรับลดเงินเดือนล่ะก็ จะทำให้ชีวิตตกที่นั่งลำบากมากๆ

  2. ตรวจสอบเงินที่ต้อง “จ่ายทั้งหมด” ในการซื้อบ้าน
    เวลาจะซื้อบ้าน ซื้อคอนโดที หลายๆ คนมักโฟกัสไปแต่ว่าต้อง “ผ่อนเดือนเท่าไร?” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ค่าใช้จ่ายในการผ่อนต่อเดือนนั้น เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการซื้อบ้านเท่านั้น ซึ่งจุดนี้เองจึงทำให้ก่อนจะซื้อบ้านหรือคอนโด เราควรต้องเข้าใจให้ถี่ถ้วนเสียก่อนว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องรับผิดชอบ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนตัดสินใจ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ดังต่อไปนี้

    • เงินค่าจองและทำสัญญา ราคาอยู่ที่ตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นขึ้นไป
    • เงินดาวน์ ประมาณ 5-10% ของราคาบ้าน เช่นบ้านหลังละ 2 ล้าน ก็ต้องจ่าย 1-2 แสนบาท
    • เงินค่าประเมินราคาในการขอสินเชื่อ ประมาณ 1,000 – 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารกำหนด
    • เงินค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินจำนอง หรือราว 1% ของยอดกู้กรณีขอสินเชื่อ
    • เงินค่าอากรแสตมป์ 0.50% ของราคาซื้อ-ขาย
    • เงินค่าโอนกรรมสิทธิ์ 2% จากราคาประเมินโดยกรมที่ดิน
    • เงินค่าเบี้ยประกันภัยบ้าน ขึ้นอยู่กับมูลค่าบ้าน
    • เงินค่ามิเตอร์น้ำและมิเตอร์ไฟ ประมาณหลักพันถึงหลักหมื่น
    • เงินค่าส่วนกลาง เก็บตามขนาดพื้นที่ของห้องชุดหรือขนาดเนื้อที่ดินอาคาร
    • เงินค่าเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และตกแต่งบ้าน ประมาณ 10% ของมูลค่าบ้าน
  3. ตรวจสอบเงินเก็บในบัญชี
    หลังจากที่ตรวจสอบไปแล้วว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างนอกเหนือจากค่าผ่อนบ้านที่เราต้องจ่ายในการตัดสินใจซื้อบ้านหรือคอนโดสักหลัง เราจะเห็นภาพชัดได้ในทันทีว่า จริงๆ แล้วในการซื้อบ้านนั้น มีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นเงินสูงมาก และแน่นอนว่าจะตามมาด้วยภาระผูกพันอย่างเรื่อง ค่าน้ำ-ค่าไฟ ที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากบ้านมีขนาดใหญ่ขึ้น ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจไปยื่นขอกู้ซื้อบ้านนั้น ก็ควรต้องตรวจสอบเงินเก็บในบัญชีให้ดีว่าเรามีเงินเพียงพอต่อการจ่ายค่าใช้จ่าย “ก้อนใหญ่” อาทิ ค่าดาวน์ ค่าจดจำนอง ค่าส่วนกลาง ค่าเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่ง ฯลฯ เพราะหากไม่มีเงินก้อนนี้ ก็จะทำให้การซื้อบ้านของเรายากขึ้น หรือถ้ามีแบบพอดีเกินไป ก็เท่ากับว่า เราจะต้องเอาเงินเก็บทั้งหมดที่มีมาใช้จนหมด ซึ่งเมื่อไม่เหลือเงินออมสำรองฉุกเฉินเลย ก็จะทำให้เสี่ยงได้ เพราะหลังจากซื้อบ้านไปแล้ว เราจะมีภาระผูกพันทุกเดือนที่ต้องผ่อนส่ง รวมถึงยังต้องคิดเผื่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยไว้ด้วย เพื่อให้ชีวิตของเราไม่ต้องถูกกดดันมากจนเกินไป

การจะซื้อบ้านสักหลังนั้น มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราอาจไม่ได้คิดถึงเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกเหนือจากที่กล่าวมา การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย เปลี่ยนทำเลถิ่นฐาน ก็อาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ในการใช้ชีวิตของเราเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้น ก่อนจะซื้อบ้าน จึงจำเป็นต้องตรวจสอบสถานะการเงินของตัวเองให้รอบด้าน ต้องมั่นใจว่าสามารถมีเงินเพียงพอสำหรับค่าบ้าน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต อย่าเพียงคำนึงถึงแค่ “ค่าผ่อนต่อเดือน” ตามคำโฆษณาเท่านั้น เพราะหากการซื้อบ้านของเราเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยแล้ว บ้านคือภาระหนี้สิน ที่มีแต่จะทำให้เราต้องเสียค่าใช้จ่าย จะแตกต่างจากการซื้อบ้านหรือคอนโดมาปล่อยเช่าหรือลงทุน ที่เราไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรายเดือน และเป็นการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนในระยะยาว แต่ถึงจะเป็นการซื้อบ้านเพื่อลงทุนปล่อยเช่า ก็ต้องวางแผนให้ดี คำนวณโอกาสอย่างรอบคอบ เพราะก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนและเจอวิกฤติได้เช่นกัน ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจทั้งไทยและโลกในขณะนี้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://bit.ly/3jHERYE
https://bit.ly/3hZ2lYW



สมัครเป็นสมาชิกเว็บ REIC

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

รู้ข้อมูลอสังหาฯ ก่อนใคร

สมัครได้ฟรี ไม่มีเงื่อนไข

เพื่อให้การซื้อ-ลงทุนที่อยู่อาศัย

เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด

.

.

สมัครเลยที่

https://www.reic.or.th/Member/RegisterGeneral

.

.

------------------------

ติดตามศูนย์ข้อมูลฯ เพิ่มเติมได้ที่

 Website : www.reic.or.th

 Twitter : www.twitter.com/REICFan

 Youtube : www.youtube.com/user/REICPR

 Line : @REICFan

#ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ #REIC

Tags :  ซื้อบ้าน