มั่นใจส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ เปิด ธ.ค.นี้ บีทีเอส ทดสอบเดินรถฉลุย
Loading

มั่นใจส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ เปิด ธ.ค.นี้ บีทีเอส ทดสอบเดินรถฉลุย

วันที่ : 4 พฤศจิกายน 2561
กรุงเทพธุรกิจ อาคม ตรวจเข้มแผนเผชิญเหตุระบบรถไฟฟ้า แก้สถานการณ์จำลองกรณีผู้โดยสารหนาแน่น ประสาน โครงข่ายคมนาคมอื่น บีทีเอส ลั่นปัจจุบันติดตั้งเครื่องกรองสัญญารบกวนทั้งตัวรถ และสถานีแล้วเสร็จ ดึง บอมบาร์ดิเอร์ เดินหน้า วางซอฟต์แวร์ใหม่เสริมบริการคล่องตัว มั่นใจทันเปิดบริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ ธ.ค.นี้
          บอมบาร์ดิเอร์" วางระบบซอฟต์แวร์ใหม่เสริมบริการ
          กรุงเทพธุรกิจ "อาคม" ตรวจเข้มแผนเผชิญเหตุระบบรถไฟฟ้า แก้สถานการณ์จำลองกรณีผู้โดยสารหนาแน่น ประสาน โครงข่ายคมนาคมอื่น "บีทีเอส" ลั่นปัจจุบันติดตั้งเครื่องกรองสัญญารบกวนทั้งตัวรถ และสถานีแล้วเสร็จ ดึง "บอมบาร์ดิเอร์" เดินหน้า วางซอฟต์แวร์ใหม่เสริมบริการคล่องตัว มั่นใจทันเปิดบริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ ธ.ค.นี้
          หลังเหตุระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีปัญหาหลายครั้งในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ นำมาสู่การเร่งปรับปรุงระบบ เพื่อให้มีความพร้อมการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย และทดสอบระบบรองรับเหตุฉุกเฉินทุก 4 เดือน
          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมตามแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุของระบบการขนส่งสาธารณะทางรางใน กทม. และปริมณฑล เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2561 ณ ศูนย์บริหารและควบคุมการเดินรถไฟฟ้า อาคารบีทีเอส โดยระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันการให้บริการระบบรถไฟฟ้า เป็นหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนหลักของกรุงเทพมหานครที่รองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการให้บริการอย่าง ต่อเนื่องและปลอดภัย ในกรณีมีเหตุขัดข้อง จนไม่สามารถให้บริการได้จะต้องดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ให้กลับมาให้บริการเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว
          คมนาคมเข้มระบบความปลอดภัย
          ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินการ ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัด รวมทั้งบีทีเอส บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และแอร์พอร์ตเรลลิงค์ เพื่อเผชิญเหตุตามแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุของระบบการขนส่งสาธารณะทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยดำเนินการจัดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุฯ เป็นประจำทุก 4 เดือน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบวิธีปฏิบัติและสามารถนำไปประสานงานการแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
          สำหรับการฝึกซ้อมระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ในครั้งนี้ ได้จำลองสถานการณ์เวลา 07.00 -10.00 น. (เวลาจำลอง) เกิดเหตุการณ์มีวัตถุตกจากอาคารข้างเคียงกีดขวางเส้นทาง การเดินรถ ก่อนเข้าสถานีสะพานควาย(N7) ฝั่ง (NB) ทำให้ขบวนรถไม่สามารถวิ่งเข้าสถานีสะพานควาย (N7) ได้ ห้องศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าต้องเดินรถไฟฟ้าด้วยแผนการเดินรถสำรอง ระหว่างสถานีอารีย์ (N5) ถึงสถานีหมอชิต (N8) ทำให้เกิดความล่าช้าของขบวนรถไฟฟ้าประมาณ 15 นาที ต่อ 1 Head Way
          อีกทั้งยังได้ฝึกซ้อมการจัดการเหตุการณ์ ณ ห้องศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้า (CCR) และเดินทางร่วมฝึกซ้อม ณ สถานีหมอชิต (N8) ขั้นตอนการฝึกซ้อมประกอบด้วยการใช้บริการที่ชั้นพื้นถนนของผู้โดยสาร การเข้าใช้บริการที่ชั้นจำหน่ายตั๋ว การแจ้งคืนตั๋วยกเลิกการใช้บริการเนื่องจากการเดินรถล่าช้า และใช้บริการเสริมของ ขสมก. จากสถานีหมอชิตไปยังสถานีอารีย์ โดยการฝึกซ้อมครั้งต่อไปจะเป็นการจัดเหตุการณ์จำลองสถานการณ์ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินที่ทาง บีอีเอ็มดำเนินการอยู่
          "บีทีเอส"ติดเครื่องกรองสัญญาณครบ
          นายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบีทีเอสได้ปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณใหม่แล้วเสร็จ รวมทั้งติดตั้ง ที่กรองสัญญาณรบกวนจากภายนอก ทั้งบริเวณตัวรถโดยสาร และเสาส่งสัญญาณ เพื่อป้องกันคลื่นรบกวนการส่งสัญญาณจากห้องควบคุมมายังการทำงานของตัวรถโดยสาร ส่งผลให้บีทีเอสสามารถแก้ปัญหาการเดินรถขัดข้อง และสะดุดเรียบร้อยแล้ว โดยยืนยันว่าหลังจากนี้จะไม่มีปัญหาการเดินรถอัตโนมัติขัดข้อง รวมทั้งปัญหาตัวรถกระตุกจะลดลง
          "ตอนนี้เราแก้ไขปัญหาระบบอาณัติ สัญญาณ ป้องกันคลื่นรบกวนหมดแล้ว เหลือเพียงการแก้ไขซอฟต์แวร์ภายในห้องควบคุมใหญ่ ที่จะต้องพัฒนาต่อเนื่อง คาดว่า จะแล้วเสร็จพร้อมกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการเดือนธ.ค.นี้พอดี ทำให้หลังจากนั้นปัญหารถกระตุกก็จะไม่มีด้วย โดยบีทีเอสร่วมกับบริษัทบอมบาร์ดิเอร์ เจ้าของระบบและ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรถไฟฟ้าระดับโลกช่วยวางซอฟต์แวร์ใหม่นี้" นายอาณัติ กล่าว
          ขณะที่การเดินทางมาของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้ เพื่อชมการฝึกซ้อมแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุของระบบขนส่งสาธารณะทางราง โดยบีทีเอสจำลอง เหตุการณ์ในการให้บริการจากเหตุขัดข้องวัตถุตกจากอาคารข้างเคียงกีดขวางเส้นทางการเดินรถ ก่อนเข้าสถานีสะพานควาย (N7)
          นายอาณัติ กล่าวว่า การจัดเหตุการณ์จำลองเพื่อฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ ถือเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์จัดการความเสี่ยงที่กระทรวงคมนาคมจัดตั้งขึ้น โดยจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปทดสอบเหตุการณ์จำลองกับผู้ให้บริการระบบรางทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น แอร์พอร์ตลิงค์ รถไฟใต้ดินของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และรถไฟฟ้าที่บีทีเอสให้บริการ โดยกระทรวงคมนาคมจะทำการฝึกซ้อมแผน แนวทางแก้ไขปัญหา และบูรณาการงานระบบขนส่งมวลชนทุกระบบเพื่อรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะจัดซ้อมเหตุการณ์สลับหน่วยงานไปทุก 4 เดือน
          สถานการณ์จำลองของบีทีเอสครั้งนี้ มีการ แก้ไขสถานการณ์ตามขั้นตอน กรณีเกิดปัญหาผู้โดยสารหนาแน่น จะเริ่มต้นประกาศแจ้ง ผู้โดยสารเป็นระยะถึงข้อขัดข้องและเกิดความ ล่าช้า พร้อมทั้งแนะนำให้ใช้บริการทางเลือกอื่นๆ เช่น รถโดยสารจาก ขสมก. รวมทั้งจะประกาศผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ ในทุกช่องทาง
          การสื่อสาร ประสานไปยัง "ศูนย์ความปลอดภัย คมนาคม" (ศปภ.คค.) เพื่อแจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก ประสานแจ้งขอความช่วยเหลือจากรถเมล์ขสมก. มาช่วย รองรับผู้โดยสารที่ตกค้าง เป็นทางเลือก ในการเดินทางต่อไปของผู้โดยสาร และ ขสมก. นำรถวิ่งให้บริการระหว่าง สถานีรถไฟฟ้า บีทีเอสหมอชิต สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอารีย์ เพื่อช่วยลดปัญหาผู้โดยสารตกค้าง 
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ