ซีพี-บีทีเอส ชิงไฮสปีด3สนามบิน
Loading

ซีพี-บีทีเอส ชิงไฮสปีด3สนามบิน

วันที่ : 13 พฤศจิกายน 2561
กลุ่มบีทีเอส และซีพีเปิดศึกยื่นซองชิงรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.2 แสนล้าน ซีพีชูแผนพัฒนาชุมชนและให้คนพิการขึ้นฟรีตลอดชีพ ส่วนบีทีเอสมั่นใจมีหุ้นส่วนเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ เผยผู้ชนะได้สัมปทานเดินรถ พัฒนาพื้นที่ถึง 50 ปี
          สัมปทานเดินรถ-พัฒนาที่ดิน50ปีวงเงิน2.2แสนล.

          กลุ่มบีทีเอส และซีพีเปิดศึกยื่นซองชิงรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.2 แสนล้าน ซีพีชูแผนพัฒนาชุมชนและให้คนพิการขึ้นฟรีตลอดชีพ ส่วนบีทีเอสมั่นใจมีหุ้นส่วนเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ เผยผู้ชนะได้สัมปทานเดินรถ พัฒนาพื้นที่ถึง 50 ปี

          เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ซึ่งเป็นวันแรกยื่นเอกสารการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม(ไฮสปีดเทรน) สามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-ระยอง และการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ วงเงินลงทุน 2.2 แสนล้านบาท มีตัวแทนกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ได้เดินทางมายื่นเอกสารการประมูล โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน บริเวณที่ทำการสำนักงานบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า (มักกะสัน)

          สำหรับกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน)หรือ RATCH

          จากนั้นนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) เป็นตัวแทนกลุ่มกิจการร่วมค้า เดินทางมายื่นเอกสารการประมูล โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินด้วยเช่นกัน

          นายศุภชัยกล่าวว่า ซีพีร่วมกับ 4 ผู้ถือหุ้นหลักเข้าร่วมยื่นซองราคาประมูลครั้งนี้ โดยซีพีถือหุ้น 70% บริษัท China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ถือหุ้น 10%, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (ประเทศไทย) หรือบีอีเอ็ม และ บมจ. ช.การช่าง (ประเทศไทย) ถือหุ้นรวมกัน 15% บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (ประเทศไทย) ถือหุ้น 5%

          "ซีพีมั่นใจ ที่จะเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ โดยบริษัทตั้งใจที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์หลักของประเทศ นอกจากนี้บริษัทยังยื่นข้อเสนอพิเศษเพิ่มเติมสนับสนุนการพัฒนา ชุมชนท้องถิ่น และหากบริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลจะให้สิทธิ์ ผู้พิการได้ใช้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงฟรีตลอดชีพด้วย"

          ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่ามั่นใจเต็ม 100 ที่จะชนะการประมูลในการยื่นซอง เนื่องจากบริษัทมีหุ้นส่วนเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ และหากบริษัทชนะจะเจรจาหาความร่วมมือกับพันธมิตรเพิ่มเติมอีกหลายกลุ่ม

          สำหรับโครงการดังกล่าวมีวงเงินการพัฒนารวม 224,544.36 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 168,718 ล้านบาท, การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ 45,155.27 ล้านบาท และสิทธิการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 10,671.09 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูลจะได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 50 ปี ประกอบด้วยระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง 5 ปี และระยะเวลาการดำเนินการ 45 ปี
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ