ประมูลไฮสปีดเชื่อม3แอร์พอร์ต กินสัมปทานยาว50ปี
Loading

ประมูลไฮสปีดเชื่อม3แอร์พอร์ต กินสัมปทานยาว50ปี

วันที่ : 17 เมษายน 2561
ประมูลไฮสปีดเชื่อม3แอร์พอร์ต กินสัมปทานยาว50ปี

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศ ไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน ช่วงกรุงเทพ-ระยอง ระยะทาง 260 กม. วงเงินลงทุน 2.15 แสนล้านบาท ว่า รฟท.ร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) เกือบเสร็จแล้วจากนั้นจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับทีโออาร์ทางเว็บไซต์ด้วย หากได้รับความเห็นชอบคาดว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาโดยเปิดให้เอกชนซื้อซองได้ภายในปลายเดือน เม.ย. ถึงต้น พ.ค.นี้ เพื่อให้ได้เอกชนผู้ชนะโครงการภายในเดือนมิ.ย.-ก.ค. ตามแผนที่วางไว้ โดยจะประมูลเพียง 1 สัญญาเท่านั้น เนื่องจากเป็นโครงการร่วมทุนแบบ PPP Net Cost เอกชนที่ชนะการประกวดราคาจะมีสัญญาสัมปทาน 50 ปี

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตเรลลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการในปัจจุบันโดยจะก่อสร้างทางรถไฟ ขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภาพร้อมเชื่อมทางเข้า-ออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. (สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมือง คือ สถานีสุวรรณภูมิถึง สถานีอู่ตะเภา) และความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. (สำหรับช่วงการเดินทางในเมือง คือ สถานีดอนเมืองถึงสถานีสุวรรณภูมิ) ประกอบไปด้วย สถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานี บางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา

ส่วนโครงสร้างทางวิ่ง ประกอบไปด้วยทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปัจจุบัน (ARL) ระยะทางประมาณ 29 กม. และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กม.โดยเบื้องต้นจำแนกลักษณะรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งทั้งโครงการเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ทางวิ่งยกระดับประมาณ 181 กม. 2.ทางวิ่งระดับดินประมาณ 2 กม. และ 3.ทางวิ่งใต้ดินประมาณ 8 กม. ทั้งโครงการจะเปิดให้บริการได้ในปี 66

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ