ปิด3ปีรื้อใหญ่ศูนย์สิริกิติ์ อีเวนต์วุ่นอิมแพ็ค-ไบเทคงานล้น
ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ดีเดย์สิ้นปี'61 ปิดปรับปรุงยาว 3 ปี ร่อนหนังสือแจ้งลูกค้าหาพื้นที่ใหม่ รื้อ-ขยายพื้นที่จัดงานเพิ่ม 3 เท่า "ธนารักษ์" เผยอัยการตรวจร่างสัญญาเรียบร้อยต่อสัญญา 50 ปี ผู้จัดรายใหญ่วิ่งหาที่ใหม่อุตลุด กระทบต้นทุนเพิ่ม "ไบเทค" เสือปืนไวคว้า "สหพัฒน์แฟร์-โมบายเอ็กซ์โป" งานสัปดาห์หนังสือมองทางเลือกใหม่ "ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ" "อิมแพ็ค" เผยลูกค้าเข้าคิวเต็มทั้งปี 900 งาน
"เอ็นซีซี" แจ้งปิดสิ้นปี'61
นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (NCC) ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะปิดปรับปรุงอย่างเป็นทางการในปลายปี 2561 เป็นต้นไป โดยได้จดหนังสือแจ้งให้ร้านค้าและบริษัทออร์แกไนเซอร์ รวมถึงลูกค้าที่มาจัดงานภายในศูนย์ไปเรียบร้อยแล้ว
สำหรับแผนงานและรายละเอียดของโครงการใหม่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างสรุปกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปสุดท้ายในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งกรอบการดำเนินงานกว้าง ๆ น่าจะเป็นไปตามแผนเดิมที่วางไว้
ก่อนหน้านี้นายศักดิ์ชัยให้สัมภาษณ์ว่า การปิดปรับปรุงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลารวม 3 ปี โดยโครงการปรับปรุงศูนย์ประชุม จะมีพื้นที่การจัดงานเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 20,000 ตารางเมตร เป็นประมาณ 70,000 ตารางเมตร ทำให้มีศักยภาพในการรองรับงานแสดงสินค้าและอีเวนต์ต่าง ๆ เพิ่มเป็น 3 เท่าตัว ทั้งยัง จะเป็นศูนย์ประชุมที่มีความทันสมัย และเป็นมาตรฐานสากล เป็นการตอกย้ำให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจประชุม สัมมนา และจัดนิทรรศการของภูมิภาคอาเซียน
รอลงนามสัญญาใหม่ 50 ปี
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางบริษัทเอกชนที่บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ น่าจะอยู่ระหว่างเตรียมพร้อมเดินหน้าสัญญาใหม่ เนื่องจากโครงการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระยะที่ 3 จะเป็นการต่อสัญญากับเอกชนรายเดิมตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งโครงการที่จะต่อสัญญามีมูลค่าลงทุนราว 6,000 ล้านบาท หากมีการลงนาม ทางเอกชนก็คงเริ่มก่อสร้างทันที
โดยขณะนี้ทางอัยการได้ตรวจร่างสัญญาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีการปรับแก้ไขร่างสัญญาบางส่วน ดังนั้นจึงต้องส่งให้ทางคู่สัญญาพิจารณาก่อน ทั้งนี้ หากเอกชนพิจารณาแล้ว ไม่มีข้อขัดข้องก็เดินหน้าต่อได้ โดยกรมธนารักษ์จะเสนอ รมว.คลังเห็นชอบ จากนั้นก็สามารถลงนามกันได้ เมื่อลงนามแล้วเอกชนก็คงเร่งดำเนินการก่อสร้าง
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 ได้อนุมัติแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการแก้ไขสัญญาดังกล่าวจะปรับอายุสัญญาเช่าเป็น 50 ปี จากเดิม 25 ปี และปรับปรุงการก่อสร้าง โดยดัดแปลงอาคารศูนย์ประชุมเดิม ให้มีพื้นที่ศูนย์การประชุม พื้นที่เพื่อการพาณิชย์และที่จอดรถ รวมไม่น้อยกว่า 1.8 แสนตารางเมตร มูลค่าลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท แทนการก่อสร้างโรงแรม 4-5 ดาว รวม 400 ห้อง ตามสัญญาเดิม เนื่องจากติดปัญหาข้อกฎหมาย
ไบเทคคว้า "สหกรุ๊ปแฟร์"
นางสาวปนิษฐา บุรี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา (BITEC) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้เริ่มมีลูกค้าบางส่วนที่ย้ายสถานที่จัดงานจากที่เคยจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มาจัดที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา อาทิ กลุ่มสหพัฒน์ ที่ได้จัดงาน "สินค้าดี เครือสหพัฒน์ ช้อปรับตรุษจีน 2018" ไปเมื่อต้นปี และจะมีงานสหกรุ๊ปแฟร์อีกครั้งในช่วงกลางปีนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างการวางแผนการทำงานอีกหลายราย
"ในส่วนของกลุ่มบริษัทสหพัฒน์ ทางไบเทคชวนให้มาจัดงานที่ไบเทคมา 2-3 ปี แล้ว ตั้งแต่ไบเทคขยายพื้นที่เฟส 2 ส่วนงานอื่น ๆ ที่จะเข้ามา บางส่วนยังติดขัดในเรื่องตารางเวลาการจัดงาน รวมถึงขนาดการใช้พื้นที่ด้วย ซึ่งก็ต้องมีการขยับปรับเปลี่ยนรูปแบบของงานให้สอดรับกับพื้นที่จัดงานด้วย เพราะทุกงานต้องมีระยะเวลาในการเตรียมงานค่อนข้างนาน เช่น งานเทรดขนาดใหญ่บางงานใช้เวลาวางแผนกว่า 1 ปี"
"อิมแพ็ค" ลูกค้าต่อคิว 900 งาน
ด้านนายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีลูกค้าที่เช่าพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เข้ามาติดต่อขอเช่าพื้นที่ อิมแพ็คบ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าจองพื้นที่เต็มทั้งปี มีอยู่กว่า 900 งาน จะเป็นลูกค้าประจำและมีขยายพื้นที่จัดงานเพิ่ม
ปัจจุบันอิมแพ็คมีพื้นที่รองรับการจัดงานอยู่ประมาณ 140,000 ตารางเมตร ยังไม่มีแผนพัฒนาพื้นที่เพิ่ม แต่เน้นเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าที่เข้ามาในงานมากกว่า โดยที่ผ่านมาได้ลงทุน 150 ล้านบาท ก่อสร้างทางเดินเชื่อมจากโรงแรมไอบิสกับอาคารอิมแพ็ค ฮอลล์ 8 รองรับลูกค้าที่จอดรถกลางแจ้งบริเวณด้านหลัง ให้สามารถเดินเข้าอาคารได้สะดวก จะแล้วเสร็จสิ้นเดือน ก.ค.นี้ ทั้งยังลงทุน 600 ล้านบาท สร้างศูนย์การค้า "เดอะ พอร์ทอล" แหล่งรวมร้านค้า ร้านอาหาร ฟู้ดคอร์ต เอาต์เลตแบรนด์ชั้นนำ ไว้บริการลูกค้า
"โมบายเอ็กซ์โป" ซบไบเทค
นายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็มวิชั่น ผู้จัดงาน ไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป เปิดเผย ว่า จากที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์จะปิดปรับปรุงในปี 2562 คาดว่าจะใช้เวลา 3-4 ปี ทำให้บริษัทมีแผนย้ายสถานที่จัดงานไปที่ไบเทค บางนา ซึ่งอาจมีผลกระทบ ด้านการเดินทางบ้างที่ใช้เวลานานขึ้น 10-15 นาที แต่เนื่องจากสถานที่จัดงานอยู่บริเวณฮอลล์ 98-99 ที่มีการก่อสร้างใหม่ ติดกับรถไฟฟ้า BTS สถานีบางนา จึงมองว่ามีความสะดวกเช่นกัน อีกทั้งพื้นที่จอดรถยังมากกว่าที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อย่างน้อย 10 เท่า จึงเชื่อว่าจะสามารถดึงดูดคนในพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมงานได้มากขึ้น
"เรามองว่าผลกระทบมีบ้างแต่น้อย เพราะเชื่อว่าจะมีผลดีมากกว่า เช่นจะได้ลูกค้าใหม่ ๆ จากฝั่งตะวันออกที่มีกำลังซื้อสูง ลดความแออัด เพราะพื้นที่ใหญ่กว่าเดิม และด้วยพื้นที่ที่มีมากขึ้น ดังนั้นทุกโซนจึงสามารถมารวมอยู่ในพื้นที่เดียว การจัดโซนจึงทำได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ช่วยให้รูปแบบงานดูดีขึ้น ส่วนต้นทุนค่าพื้นที่เพิ่มขึ้นแน่นอนแต่ไม่มาก เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ"
นายพรชัย จันทรศุภแสง ผู้อำนวยการ ธุรกิจสื่อไอทีและดิจิทัล บริษัท เออาร์ไอพี ผู้จัดงานคอมมาร์ต กล่าวว่า การจัดงานคอมมาร์ตยังไม่มีแผนชัดเจนว่าปีหน้าจะย้ายไปจัดงานที่ไหน เนื่องจากการย้ายสถานที่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เงื่อนไขสัญญา และระยะเวลาที่ใช้พื้นที่ รวมทั้งความพร้อมของพาร์ตเนอร์ โดยขณะนี้อยู่ในช่วงการเจรจากับหลายพื้นที่ และไม่ได้มองว่าการต้องย้ายจากศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นปัญหาที่อาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ถือเป็นโอกาสใหม่ ๆ เนื่องจากการจัดงานแต่ละครั้งต้องคิดธีมใหม่ ๆ ทุกปีอยู่แล้ว
งานหนังสือเล็งศูนย์ราชการ
นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือเกี่ยวกับการปรับปรุงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จากเอ็นซีซี แต่ช่วงผ่านมามีการพูดคุยกันเป็นระยะ ๆ ว่าจะมีการปิดปรับปรุง ซึ่งน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี
"หลังจากเสร็จงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ วันที่ 29 มีนาคม-8 เมษายน 2561 คงจะมีการหารือกับทางเอ็นซีซีอย่างจริงจัง เพราะการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ (เดือนตุลาคม) ต้องมีการวางแผน เนื่องจากสมาชิกของ PUBAT มีกว่า 479 บริษัท พวกเขาคง อยากทราบว่าในปี 2562 จะใช้สถานที่ ไหนในการจัดงาน"
นางสุชาดากล่าวต่อว่า ตอนนี้มีสถานที่ อยู่ในใจ 2 แห่งคือ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งถือว่าสะดวกพอสมควร สถานที่กว้างขวาง ที่จอดรถมาก แต่ติดปัญหาที่ค่าเช่าราคาสูง และไม่มีรถไฟฟ้าผ่าน ขณะที่ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา ซึ่งมีปัญหาคล้าย ๆ กับอิมแพ็ค แต่ที่ดีกว่าคือมีรถไฟฟ้าผ่าน ที่สำคัญทั้ง 2 แห่งมีขนาดพื้นที่มากกว่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์หลายเท่า
"กลุ่มลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็น เยาวชน ครอบครัว และหนอนหนังสือ ทำให้ต้องคิดรอบด้าน ทำอย่างไรถึงจะให้พวกเขาอยากมาร่วมงาน และยิ่งใน ภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ เราจึงมองทางเลือกใหม่ไปที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา แจ้งวัฒนะ แต่คงต้องประชุมกับทางคณะกรรมการสมาคมเพื่อหาความชัดเจนอีกครั้งหนึ่งถึงจะตอบได้"
มหกรรมบ้านวิ่งหาพื้นที่ใหม่
นายปิติพัฒน์ ปรีดานนท์ รองเลขาธิการสมาคมอาคารชุดไทย ในฐานะประธานจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโดมิเนียม ครั้งที่ 39 กล่าวว่า การจัดงานครั้งต่อไปจะมีขึ้นวันที่ 4-7 ต.ค.นี้ ยังคงจัดที่ศูนย์การ ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่ปีหน้าจะต้องหาสถานที่ใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณามีหลายแห่ง เช่น ศูนย์การค้าสยามพารากอน ไบเทค และอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยต้องการพื้นที่ออกบูทจำนวน 400 บูท หรือมีพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร
ด้านนางศิริพร สิงหรัญ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า การจัดงาน มหกรรมรับสร้างบ้านครั้งต่อไปจะมีขึ้นใน เดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ จะยังคงจัดที่ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ แต่หลังจากนั้นจะต้องหาพื้นที่จัดใหม่ ซึ่งสมาคมมีความต้องการพื้นที่ เช่าประมาณ 5,000 ตารางเมตร