คอลัมน์ เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์: มอเตอร์เวย์ ชลบุรี-หนองคาย เชื่อมโซนอีสานสู่ย่านอุตฯอีอีซี
Loading

คอลัมน์ เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์: มอเตอร์เวย์ ชลบุรี-หนองคาย เชื่อมโซนอีสานสู่ย่านอุตฯอีอีซี

วันที่ : 4 มีนาคม 2561
คอลัมน์ เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์: มอเตอร์เวย์ ชลบุรี-หนองคาย เชื่อมโซนอีสานสู่ย่านอุตฯอีอีซี

กรมทางหลวง โดย สำนักงานสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ดำเนินการสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษ สายชลบุรี- หนองคาย ตอน ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ตอน 1 ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ในแผนพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-หนองคาย

มอเตอร์เวย์เส้นทางสายใหม่นี้จึงมีศักยภาพในการรองรับด้านคมนาคมและการขนส่งจากภูมิภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วขึ้นเนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ตามแนวเศรษฐกิจเหนือ ใต้ ประกอบกับมีท่าเรือแหลมฉบังซึ่งถือเป็นประตูการค้าที่สำคัญระดับประเทศสามารถเชื่อมไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศเพื่อนบ้านตามแผนการพัฒนาพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ของรัฐบาลอีกด้วย

ทั้งนี้พื้นที่ศึกษาสำรวจและออกแบบมอเตอร์เวย์เส้นทางนี้ ช่วงตอน 1 ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ระยะทางรวม  64.95 กิโลเมตร แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ (ตอนที่ 1 ส่วนที่ 1) มีจุดเริ่มต้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ต.บางละมุง  อ.บางละมุง  จ.ชลบุรี ไปสิ้นสุดที่บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 331 กม.19+500 ต.เข้าคันทรง อ.ศรีราชา  จ.ชลบุรี ระยะทางรวม 20.45 กิโลเมตร แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ จ.ชลบุรี 2 อำเภอ ได้แก่ อ.บางละมุง และอ.เภอศรีราชา

ในส่วน ตอนที่ 1 ส่วนที่ 2 มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 331 กม.ที่ 19+500  ต.เขาคันทรง  อ.ศรีราชา  จ.ชลบุรี  จุดสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 3340 กม.ที่ 64+000 บริเวณ อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ระยะทางรวม 44.5 กิโลเมตร  แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ จ.ชลบุรี 4 อ. ได้แก่ อ.ศรีราชา, อ.บ้านบึง, อ.หนองใหญ่ และอ.บ่อทอง

โดยรูปแบบการก่อสร้างได้กำหนดให้เป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 - 8 ช่องจราจร คาดว่าจะสำรวจพื้นที่แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2561 หลังจากนั้นจะดำเนินการศึกษาด้านวิศวกรรม, ด้านการจราจรและขนส่ง, ด้านสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องกันไป

สำหรับการเวนคืนนั้นจะทราบชัดเจนขึ้นในการประชุมรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 และเมื่อเข้าสู่กระบวนการเวนคืนโดยจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาการเวนคืน และประกาศพระราชกฤษฎีกาการเวนคืนซึ่งกรมทางหลวงจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แบ่งค่าทดแทนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน (ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และไม้ยืนต้นพืชผล)  2. ค่าทดแทนความเสียหายที่ได้รับจากการเวนคืน และ 3. ค่าเสียหายอื่นๆ จากการเวนคืนอสังหา ริมทรัพย์

ล่าสุดอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการเปิดรับฟังความเห็นประชาชน คาดว่าเมกะโปรเจ็กต์โครงการนี้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ด้วยเส้นทางการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น มีความสะดวก รวดเร็ว แข่งขันกับนานาประเทศได้  ช่วยเสริมศักยภาพการเดินทางและการขนส่งระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งการเดินทางและการขนส่งสินค้า ตลอดจนลดปริมาณเชื้อเพลิง เป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและช่วยบรรเทาปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ สามารถติดตามข้อมูลความคืบหน้าเพิ่มเติมได้ที่  www.thaimotorwaylaemchabang-pra-chinburi.com

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ