อสังหาฯแข่งดุที่ดินกรุงพุ่งวาละ3ล้าน ที่ตาบอดก็ซื้อจับลูกค้าเกรดกลาง-บน เหตุตลาดล่างกู้ไม่ผ่านติดหนี้ครัวเรือน
อสังหาฯแข่งเดือดจับกลุ่มลูกค้าเกรดกลาง-บน แย่งซื้อที่ดินกลางกรุงดันราคาพุ่งสูงสุดวาละ 3 ล้าน ที่ตาบอดก็เอา เหตุตลาดล่างยังเจอปัญหาลูกค้ากู้ไม่ผ่านแบงก์เข้มหนี้ครัวเรือนยังสูง เปิดสถิติราคาบ้านในกรุงเทพฯตั้งแต่ปี'58 ราคาขยับขึ้น 105%
นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมปีนี้ ผู้ประกอบการยังเน้นโครงการในกรุงเทพฯใจกลางเมืองเป็นหลัก ซึ่งราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะที่ดินหายากขึ้น ขณะนี้ราคาซื้อขายสูงสุดอยู่ที่ 3 ล้านบาทต่อตารางวา (ตร.ว.) แล้ว ผลจากผู้ประกอบการมีการแข่งขันซื้อที่ดินรุนแรง โดยบางรายซื้อที่ดินตาบอดก่อนค่อยหาทางออกถนน สำหรับการซื้อที่ดินของบริษัทซื้อผ่านนายหน้าจัดหาที่ดิน โดยมีที่ดินที่รอการเจรจาอยู่กว่า 10 ปี ปีนี้ตั้งงบซื้อที่ดิน 8,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ปัจจุบันราคาที่ดินที่บริษัทซื้อสูงสุดอยู่ที่ 1.7 ล้านบาทต่อ ตร.ว. คาดว่าจะพัฒนาโครงการขายราคาเฉลี่ย 200,000 บาทต่อ ตร.ว.
"ราคาที่ดินจากเดิม 400,000-500,000 บาทต่อ ตร.ว. ขณะนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 800,000-1 ล้านบาทต่อ ตร.ว. จึงต้องบริหารต้นทุนก่อสร้างเพื่อขายในราคาใกล้เคียงกับราคาเดิมรองรับกำลังซื้อลูกค้าตลาดกลาง-บน ส่วนตลาดล่างยังมีปัญหาการกู้ไม่ผ่านผลจากหนี้ครัวเรือนยังสูง" นายวิทการกล่าว และว่า กำลังหาทางลดต้นทุน เช่นกฎหมายเปิดช่องให้ลดจำนวนที่จอดรถลงได้หรือไม่
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ ประจำประเทศไทย เว็บไซต์ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ราคาบ้านในกรุงเทพฯ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน พบว่าสูงขึ้นถึง 105% ถือเป็นอัตราการเติบโตที่น่าจับตา โดยเฉพาะราคาต่อ ตร.ม.ของคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันเมื่อเทียบกับที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 ดัชนีราคาคอนโดฯขึ้นไปแตะที่ระดับ 154 จุด เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีถึง 54% ทั้งนี้ ประเมินว่าภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยจะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปจากปัจจัยบวกที่ช่วยให้เกิดพื้นที่ศักยภาพเหมาะกับการพัฒนา รวมไปถึงการอยู่อาศัยมากขึ้น อาทิ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายหลายสายที่มีความคืบหน้า รวมไปถึงการลงทุนแผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี (2560-2579) ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยบนทำเลใหม่ๆ ทั้งในกรุงเทพฯและตามหัวเมืองสำคัญๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี)