ระยองอยากได้รถรางไฟฟ้า เส้นสีแดงห้วยโป่ง-ไออาร์พีซี
Loading

ระยองอยากได้รถรางไฟฟ้า เส้นสีแดงห้วยโป่ง-ไออาร์พีซี

วันที่ : 22 ธันวาคม 2560
ระยองอยากได้รถรางไฟฟ้า เส้นสีแดงห้วยโป่ง-ไออาร์พีซี

ผศ.ดร.ศักรธร บุญทวียุวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตศรีราชา จ.ชลบุรี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะตามแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (ทีโอดี) ในเขตเทศบาลนครระยอง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นครั้งสุดท้ายโดยนำเสนอผลการศึกษาระบบขนส่งมวลชนระยอง 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.รถรางไฟฟ้า (LRT) โครงข่ายสายสีแดงเส้นทางสถานีห้วยโป่ง-ไออาร์พีซี ระยะทาง 23 กม. 18 สถานี ได้แก่ R1 ห้วยโป่ง, R2 สถานีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, R3 สถานีมาบตาพุด, R4 สถานีศูนย์ราชการเนินสาลี, R5 สถานีวัดโขดหิน, R6 สถานีแยกขนส่งใหม่, R7 สถานีกรอกยายชา, R8 สถานีเพลินใจ, R9 โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง, R10 สถานีหนองสนม, R11 สถานีแหลมทอง พลาซ่า, R12 สถานีแยกออคิด, R13 สถานีโลตัส (ศูนย์การค้าสตาร์), R14 โรงพยาบาลระยอง, R15 สถานีเพลินตา, R16 สถานีสองพี่น้อง, R17 สถานีคลองคา และ R18 สถานีไออาร์พีซี ซึ่งเป็นสถานีสุดท้าย

ผศ.ดร.ศักรธร กล่าวต่อว่า ใช้แนวเส้นทางเกาะกลางถนนสุขุมวิทตลอดสาย เงินลงทุน 17,000 ล้านบาท มี 8 ขบวน 1 ขบวน บรรจุผู้โดยสาร 300 คน ค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท ต่อไปคิด 1.8 บาท ต่อ กม. หรือจากต้นทาง-ปลายทาง 15-56 บาท ก่อสร้าง 3 ปี 62-64 เปิดให้บริการปี 65 โดยเสนอก่อสร้างจุดจอดและจร 3 สถานี ได้แก่ สถานีห้วยโป่ง สถานีไออาร์พีซี และสถานีเทศบันเทิง เพื่อขอพื้นที่เทศบาลนครระยอง

ผศ.ดร.ศักรธร กล่าวอีกว่า 2.รถไฟฟ้าล้อยาง (Trolley Bus) โครงข่ายสายสีแดง สถานีห้วยโป่ง-ไออาร์พีซี ระยะทาง 23 กม. วิ่งบนถนนสุขุมวิทตลอดแนวเส้นทางใช้เงินลงทุน 4,000 ล้านบาท จัดซื้อรถไฟฟ้าล้อยาง 12 คัน คันละ 16 ล้านบาท พร้อมค่าประจุไฟฟ้าและก่อสร้างสายไฟ และ 3.รถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (ชัตเติ้ลบัส) แบบเส้นทางเฉพาะ (Exclusive Lane) โครงข่ายสายสีแดง สถานีห้วยโป่ง-ไออาร์พีซี 23 กม. วิ่งถนนสุขุมวิทตลอดสายใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท ซื้อรถ 12 คัน คันละ 16 ล้านบาท แต่ไม่มีค่าใช้จ่ายประจุไฟฟ้าและไม่มีก่อสร้างสายไฟ สามารถดำเนินการได้ทันที

ผศ.ดร.ศักรธร กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาได้ระบุโครงข่ายสายสีแดงเหมาะที่จะใช้ระบบรถรางไฟฟ้า เนื่องจากมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ช่วยประหยัดเวลาเดินทาง จากปกติใช้รถยนต์ประมาณ 1 ชม. ถึงจุดหมาย ขณะเดียวกันหากเดินทางด้วยรถไฟฟ้ารางเบาจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ช่วยประหยัดเวลา 30 นาที นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการเดินทางและช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนด้วยแต่การลงทุนรถรางไฟฟ้าอาจขาดทุน หากรัฐบาลช่วยสนับสนุนบางส่วน เช่น ที่ดินที่อยู่ตามแนวเส้นทางทำให้โครงการดังกล่าวเดินไปได้

นอกจากนี้ได้เสนอนำระบบชัตเติ้ลบัสเป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองโครงข่ายสายสีเหลือง เส้นทางแยกขนส่งใหม่สถานีโรงเรียนมัธยมตากสินระยอง 13 กม. 14 สถานี ได้แก่ Y1 สถานีแยกขนส่งใหม่, Y2 สถานีขนส่ง 2, Y3 สถานีโกลบอลเฮ้าส์, Y4 สถานีทับมา, Y5 สถานีศูนย์ฮอนด้า, Y6สถานีเซ็นทรัล, Y7 สถานีจันทอุดม, Y8 สถานีโรงพยาบาลระยอง, Y9 สถานีเทศบันเทิง, Y10 สถานีวัดลุ่ม, Y11 สถานีอนุบาลระยอง, Y12 สถานีระยองวิทย์, Y13 สถานีก้นปึก และ Y14 สถานีโรงเรียนมัธยมตากสินระยอง วิ่งบนถนนสายรอง เช่น ถนนตากสินมหาราช ใช้วงเงินลงทุน 500 กว่าล้านบาท จัดซื้อรถ 12 คัน คันละ 12 ล้านบาท รูปแบบการเดินรถวิ่งแชร์เลนร่วมกับรถประเภทอื่น ต้องขอความร่วมมือตำรวจจราจร เช่น ห้ามจอดรถตามไหล่ทาง โดยเฉพาะถนนตากสินมหาราชที่ประชาชนนำรถยนต์ส่วนตัวมาจอดข้างทางจำนวนมาก

ผศ.ดร.ศักรธร กล่าวต่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยให้มีระบบขนส่งมวลชนในจังหวัด และอยากให้สร้างรถรางไฟฟ้ามากกว่าเพราะสะดวก ตรงต่อเวลา ทำความเร็วได้ 40 กม. ต่อ ชม. เหมาะกับสภาพจราจรในเมืองระยองที่เริ่มติดขัดใน ชม. เร่งด่วน ใช้ความเร็วได้แค่ 20 กม. ต่อ ชม. และเป็นระบบที่ทันสมัย รองรับผู้โดยสารได้จำนวนมาก แต่บางส่วนมีข้อเสนอว่าจำนวนสถานีใกล้กันเกินไปควรตัดออก หรือลดจำนวนสถานี หรือบางสถานีบนเชิงเนินเขา เช่น สถานีสองพี่น้อง และสถานีคลองคา พื้นที่เทศบาลตำบลเชิงเนินควรจัดรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมด้วย รวมทั้งต้องการให้แนวเส้นทางขยายไปยังโครงการอื่น ๆ ที่ระยองกำลังดำเนินการ อาทิ โครงการเมืองใหม่อัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อความสะดวกสบายในการเดินทาง

ทั้งนี้จะสรุปผลเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ และคาดว่า มี.ค. 61 จะนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ให้ทุนวิจัยโครงการนำเสนอเทศบาลนครระยองเสนอผู้บริหารจังหวัดผลักดันต่อไป

 
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ