ดีเดย์30ธ.ค.ตอกเข็มรถไฟฟ้าสายสีทองที่ดินฝั่งธนฯพุ่งรับอสังหา-ท่องเที่ยวบูม
Loading

ดีเดย์30ธ.ค.ตอกเข็มรถไฟฟ้าสายสีทองที่ดินฝั่งธนฯพุ่งรับอสังหา-ท่องเที่ยวบูม

วันที่ : 7 ธันวาคม 2560
ดีเดย์30ธ.ค.ตอกเข็มรถไฟฟ้าสายสีทองที่ดินฝั่งธนฯพุ่งรับอสังหา-ท่องเที่ยวบูม

    คนฝั่งธนฯเฮ ! ดีเดย์ 30 ธ.ค.นี้ กทม.ลุยตอกเข็มรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะทาง 1.8 กม. 3 สถานี "กรุงธนบุรี-ไอคอนสยาม-คลองสาน" ได้บิ๊กรับเหมา "อิตาเลียนไทยฯ" ก่อสร้าง จ้างบีทีเอสเดินรถ ใช้ระบบรถบอมบาร์ดิเอร์ เร่งสร้างให้เสร็จ 24 เดือน ปลายปี'62 เปิดหวูดให้บริการ ค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย พลิกโฉมทำเลเจริญนคร ราคาที่ดินพุ่งไม่หยุด อสังหาฯแห่ปักหมุด บูมคอนโดฯ- ท่องเที่ยวริมน้ำ

          นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) รัฐวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธาและวางรางโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง เฟสแรก กรุงธนบุรี-คลองสาน ระยะทาง 1.8 กม. เรียบร้อยแล้ว โดย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ชนะประมูล วงเงินก่อสร้าง 1,070 ล้านบาท เตรียมเซ็นสัญญาก่อสร้างภายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ จากนั้นจะประสานตำรวจปิดการจราจรถนนกรุงธนบุรีและถนนเจริญนคร ให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่ วันที่ 30 ธ.ค. 2560 เป็นต้นไป

          เร่งเสร็จใน 24 เดือน

          "กทม.เป็นห่วงปัญหารถติด เพราะถนนเจริญนครค่อนข้างคับแคบ ตามสัญญากำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ 30 เดือน แต่อยากให้การก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 24 เดือน เพราะโครงการล่าช้าจากแผนงานมามากแล้ว ตามแผนงานก่อสร้างจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการปลายปี 2562 คิดค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย คาดว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 47,300 เที่ยวคนต่อวัน"

          นายมานิตกล่าวว่า ในส่วนของการให้บริการเคที จะจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) เป็นผู้ติดตั้งระบบ และจัดหารถไฟฟ้า พร้อมรับจ้างเดินรถให้เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยบีทีเอสเสนอใช้ระบบอาณัติสัญญาณ และรถไฟฟ้าของบอมบาร์ดิเอร์ รุ่นอินโนวา 300 จำนวน 2 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ รวม 6 ตู้ เป็นระบบขนส่งมวลชนนำทางอัตโนมัติ (AGT) ระบบล้อยาง ควบคุมการเดินรถด้วยระบบคอมพิวเตอร์แบบไร้คนขับ ซึ่งรถ 1 ตู้สามารถรองรับ ผู้โดยสารได้ 80-100 คน และต่อพ่วงได้ถึง 6 ตู้ วิ่งด้วยความเร็ว 3 นาทีต่อขบวน

          "รถไฟฟ้าสายสีทองได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอเรียบร้อยแล้วทั้งโครงการ 2.7 กม. ตอนนี้เร่งเดินหน้าก่อสร้างให้ได้ตามแผน ซึ่งโครงการสามารถดำเนินการได้เร็วและไม่ต้องใช้เงิน กทม. เนื่องจากกลุ่มไอคอนสยามจะสนับสนุนค่าก่อสร้างให้ กทม. 2,080 ล้านบาท โดยเคทีขายสิทธิสัมปทานพื้นที่โฆษณาให้ 20 ปี เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนรูปแบบแมตชิ่งธุรกิจกัน"

          แนวเส้นทางโครงการเฟสแรก มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส กรุงธนบุรี วิ่งไปตามถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวเข้าถนนเจริญนคร ผ่านวัดสุวรรณ จากนั้นแนวเส้นทางเกาะไปตามถนนเจริญนคร ถนนเจริญรัถ จนถึงแยกคลองสาน และสิ้นสุดบริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน

          ปักหมุด 3 สถานี

          มีทั้งหมด 3 สถานี ได้แก่ 1.สถานีกรุงธนบุรี เชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส 2.สถานีเจริญนคร (ไอคอน สยาม) อยู่บริเวณเจริญนคร 6 บริเวณสะพานข้ามคลองวัดทองเพลง และ 3.สถานีคลองสาน อยู่เยื้องกับโรงพยาบาลตากสิน มีทางเดินหรือ sky walk เดินทางเข้าสู่โรงพยาบาลตากสินได้โดยตรง และจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (หัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย) ในอนาคต

          ส่วนระยะที่ 2 เริ่มจากโรงพยาบาลตากสิน-วัดอนงคารามวรวิหาร ระยะทาง 0.9 กม. มี 1 สถานี ได้แก่ สถานีประชาธิปก อยู่บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับซอยสมเด็จเจ้าพระยา 8 อนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูนราษฎร์บูรณะ) ตามแผนจะดำเนินการระยะถัดไป ใช้เงินลงทุน 1,333 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จปี 2566 มีผู้ใช้บริการ 81,800 เที่ยวคนต่อวัน ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (เดโป้) จะสร้างอยู่ที่สถานีกรุงธนบุรี

          ราคาคอนโดฯ-ที่ดินพุ่งไม่หยุด

          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เผยผลสำรวจทำเลพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าริมถนน เจริญนคร เป็นพื้นที่ที่มีการขยายตัวค่อนข้างมากและต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่สะพานสาทรขึ้นไป มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากการเปิดตัว ของโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ "ไอคอน สยาม" ของกลุ่มสยาม พิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น มูลค่าโครงการกว่า 5 หมื่น ล้านบาท

          รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีทองที่มีความชัดเจน จะทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมในแนวถนนเจริญนครช่วงสะพานสาทรไปทางคลองสาน มีการเปลี่ยนแปลง มากขึ้น โดยราคาขายเฉลี่ยของ โครงการคอนโดฯในทำเลนี้ปรับขึ้นที่ 3-10% ซึ่งโครงการที่เปิดขายใน ปี 2557-2558 ราคาขายเฉลี่ยที่ 270,500 บาท/ตร.ม.

          ขณะราคาที่ดินก็ปรับเพิ่มขึ้น ค่อนข้างมาก ราคาซื้อขายในปี 2554 ที่ 265,000 บาท/ตร.ว. ปรับเพิ่มขึ้น จากก่อนหน้านั้น 240% ปี 2557 ที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาซื้อขายที่ราคา 450,000 บาท/ตร.ว. หรือปรับขึ้นมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับปี 2554 ขณะที่ราคาขายของที่ดินไม่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 300,000-400,000 บาท/ตร.ว.

          อนาคตถ้ารถไฟฟ้าสายสีทอง เริ่มสร้าง จะมีโครงการคอนโดฯใหม่ ๆ เปิดขายมากขึ้น จากเดิม 6,059 ยูนิต แต่อุปสรรคสำคัญคือพื้นที่ริมถนนเจริญนครแทบไม่มีที่ดินขนาดใหญ่เหลือให้พัฒนาแล้ว อนาคตจะทำให้ทำเลนี้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์บนที่ดินจากบ้านพักอาศัย ตึกแถวเก่า ไปสู่รูปแบบอื่นที่สอดคล้องกับมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น

          บิ๊กอสังหาฯลุยลงทุน

          ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในแนวเส้นทาง นอกจากโครงการ "ไอคอน สยาม" ในซอยเจริญนคร 6 พื้นที่ 50 ไร่ ครบครันทั้งศูนย์การค้า โรงแรม 5 ดาว คอนโดฯหรู ศูนย์ประชุม พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาไทย พร้อมทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 500 เมตร จะเปิดให้บริการในเดือน ต.ค. 2561 ใกล้ ๆ กันมี "หอชมเมืองกรุงเทพฯ" พื้นที่ 7 ไร่ จะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ที่สวยและสูงที่สุด

          ด้านผู้ประกอบการอสังหาฯปัจจุบันมีเข้าไปพัฒนาโครงการหลายราย เช่น บมจ.ศุภาลัย ซื้อที่ดิน 5 ไร่ ติดถนนเจริญนคร ทำเลติด สถานีคลองสาน พัฒนาคอนโดฯ "ศุภาลัย พรีเมียร์ เจริญนคร" มูลค่า 2,800 ล้านบาท เป็นอาคารพักอาศัย สูง 26 ชั้น 1 อาคาร มีห้องชุดพักอาศัย 578 ยูนิต ร้านค้า 6 ยูนิต ขนาดห้องชุดตั้งแต่ 1-3 ห้องนอน และ penthouse 4 ห้องนอน 34.5-331 ตร.ม. ราคาเริ่ม 3.1 ล้านบาท โดยได้สร้างปรากฏการณ์ปิดการขายได้ภายในวันจองวันเดียวด้วยมูลค่ากว่า 2,900 ล้านบาท

          บมจ.เนอวานา ไดอิ ร่วมกับบันยันทรีกรุ๊ป เชนโรงแรมระดับโลก พัฒนาคอนโดฯระดับซูเปอร์ลักเซอรี่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา "บันยัน ทรี เรสซิเดนซ์ ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ" บนที่ดิน 5 ไร่ บนถนนเจริญนคร 130 ยูนิต มูลค่าโครงการกว่า 6,000 ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ย 300,000 บาท/ตร.ม. จะแล้วเสร็จเดือน ธ.ค. 2561

          ล่าสุด "ตระกูลหวั่งหลี" นำที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตั้งท่าเรือเก่าอายุกว่า 160 ปี บูรณะใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ไทย-จีน ภายใต้ชื่อ "ล้ง 1919"

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ