รฟท.ชง'บอร์ด'จ่าย1.3พันล้าน กรณีส่งมอบพื้นที่'รถไฟสายสีแดง'ช้า
Loading

รฟท.ชง'บอร์ด'จ่าย1.3พันล้าน กรณีส่งมอบพื้นที่'รถไฟสายสีแดง'ช้า

วันที่ : 24 ตุลาคม 2560
รฟท.ชง'บอร์ด'จ่าย1.3พันล้าน กรณีส่งมอบพื้นที่'รถไฟสายสีแดง'ช้า

          นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทางคณะกรรมการการรถไฟได้มีมติเห็นชอบในการขยายระยะเวลางานบริการที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยจะขยายระยะเวลาสัญญาออกไปอีก 800-1,000 วัน เพื่อให้ระยะเวลาของสัญญาสอดคล้อง กับงานก่อสร้างโครงการที่จะแล้วเสร็จ ในปี 2563

          ส่วนของการพิจารณาค่าชดเชยให้ เอกชนกรณีที่ทางการรถไฟฯไม่สามารถ ส่งมอบพื้นที่ได้ตามแผนที่กำหนดขณะนี้ ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวแต่ขณะนี้ ทางผู้รับเหมาได้แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากที่คำนวณไว้โดยทางการรถไฟฯได้มีการรับเรื่องและส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณารายละเอียดแล้วหลังจากนั้นอัยการจะส่งเรื่องกลับมาแจ้งอีกครั้ง

          นายอานนท์ กล่าวว่า สำหรับความความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล คืบหน้าไปแล้วประมาณ 57% และสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต 6 สถานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร คืบหน้าไปแล้วประมาณ 88%

          ด้านแหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ทางการรถไฟฯอยู่ระหว่างการคำนวณ ค่าชดเชยที่จะต้องจ่ายให้กับเอกชน ผู้รับเหมา โดยพบว่าวงเงินค่าชดเชยที่เหมาะสมของสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ค่าชดเชยอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท

          ส่วนสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต 6 สถานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ค่าชดเชยอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งการรถไฟฯมองว่ามีความเหมาะสมเนื่องจากความล่าช้า ของการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างนั้นทำให้ ผู้รับเหมามีต้นทุนมากขึ้น

          ก่อนหน้านี้ทางคณะกรรมการ การรถไฟฯได้สั่งการให้มีการทบทวนค่าชดเชยใหม่เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบ รายละเอียดให้รอบคอบ และสามารถชี้แจงสาเหตุของการพิจารณาจ่ายค่าชดเชยของ โครงการล่าช้าได้ เพราะปัจจุบันการดำเนินงาน ก่อสร้างมีความคืบหน้ากว่า 60%-70% แล้ว ซึ่งค่าชดเชยดังกล่าวต้องนำเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย

          สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสาย สีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 วงเงิน 29,640 ล้านบาท มีผู้รับเหมาคือ กิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยทาง คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯเห็นชอบขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปประมาณ 800 วัน ให้กำหนดสิ้นสุดสัญญาในปี 2562

          ส่วนสัญญาที่ 2 วงเงิน 23,925 ล้านบาท ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ก็มีการเห็นชอบ ให้มีการขยายระยะเวลาออกไปประมาณ 200 วัน ให้กำหนดสิ้นสุดสัญญาปี 2561

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ