ฝั่งธนฯเฮรับสายสีม่วงใต้17สถานีทำเลทองอสังหา
Loading

ฝั่งธนฯเฮรับสายสีม่วงใต้17สถานีทำเลทองอสังหา

วันที่ : 27 กรกฎาคม 2560
ฝั่งธนฯเฮรับสายสีม่วงใต้17สถานีทำเลทองอสังหา

ทำเล "ตากสิน-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ-ประชาอุทิศ-ทุ่งครุ-พระประแดง"แจ้งเกิด ครม.บิ๊กตู่ไฟเขียวแสนล้านสายสีม่วงใต้ เชื่อม 3 จังหวัด "นนทบุรี-กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ" เปิดหน้าดินโซนตะวันตกและฝั่งใต้ รฟม.จัดไทม์ไลน์เวนคืน 1.5 หมื่นล้าน ที่ดินโดนแจ็กพอต 410 แปลง บ้าน 267 หลัง เปิดใช้ปี'67 คาดผู้โดยสารเฉียด 5 แสนคน ลุ้นต่อคิวสีส้ม "ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์"

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ก.ค. 2560 อนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท โดยให้ รฟม.เปิดประมูลก่อสร้างไปก่อนระหว่างรอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เนื่องจากเป็นโครงการสำคัญและเป็นส่วนต่อขยายของสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่เปิดบริการเมื่อเดือน ส.ค. 2559

ตุลาฯประมูลงาน 7 หมื่นล้าน

"ครม.ให้ประมูลก่อน แต่จะเซ็นสัญญาได้ต่อเมื่ออีไอเอผ่าน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมเล็กน้อย จากการขยายเส้นทางเพิ่มและปรับลดขนาดศูนย์ซ่อมบำรุงลง ซึ่งเป็นนโยบายของ ครม.ให้ปรับลดค่าก่อสร้างลง ก็ทำให้ประหยัดไปได้ 2,837 ล้านบาท จากกรอบเงินลงทุนเดิม 103,949 ล้านบาท"

สำหรับเงินลงทุน 101,112 ล้านบาท ไม่รวมค่างานระบบ แยกเป็นค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท สำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท ก่อสร้างงานโยธา 77,385 ล้านบาท สิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง 1,335 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงาน 2,865 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดงานโยธา 3,582 ล้านบาท

ตอกเข็ม ก.ย.ปีหน้า

"หลัง ครม.อนุมัติโครงการ ภายในเดือน พ.ย.นี้ รฟม.จะสำรวจพื้นที่เพื่อเวนคืน จากนั้นเดือน ต.ค.เปิดประมูล เป็นรูปแบบ นานาชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน แยกเป็น 3-4 สัญญา ส่วนงานระบบและเดินรถ จะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จะคัดเลือกเอกชนลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 รับสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะเซ็นสัญญาและก่อสร้างเดือน ก.ย. 2561 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีครึ่ง เปิดบริการปี 2567 คาดการณ์ผู้โดยสาร 477,098 เที่ยวคน/วัน โครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 12.95% และผลตอบแทนด้านการเงิน 4.59%"

รายงานข่าวแจ้งว่า การประมูลก่อสร้างจะดำเนินการควบคู่ไปกับการรอผลอนุมัติอีไอเอ เนื่องจาก รฟม.ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม หลังขยายเส้นทางอีก 5 กม.จากราษฎร์บูรณะ-วงแหวนกาญจนาภิเษก และขอทบทวนขนาดจุดจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) ยุบเหลือที่สถานีคลองบางไผ่แห่งเดียวใช้ร่วมกับสายสีม่วง รวมถึงลดขนาดศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณวงแหวนกาญจนาภิเษกเป็นพื้นที่จอดรถไฟฟ้า ขนาด 50 ไร่ ส่วนจุดจอดแล้วจร มี 2 แห่ง ที่สถานีบางปะกอกกับสถานีราษฎร์บูรณะ

ขุดอีกอุโมงค์ลอดเจ้าพระยา

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นเป็นทางวิ่งยกระดับจากสถานีเตาปูนเชื่อมสายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ) และสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ไปตามแนวถนนตัดใหม่ของ กทม. (ถนน ง8 ตามผังเมืองรวมกรุงเทพฯ 2556) แล้วลดระดับลงเป็นทางวิ่งใต้ดิน ผ่านกรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวเข้าถนนทหาร ถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ ถนนมหาไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน

เมื่อลอดผ่านสี่แยกมไหสวรรย์แล้วจะเปลี่ยนเป็นทางวิ่งยกระดับไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุด

ปลายทางที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงข้างด่านเก็บค่าผ่านทางถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ระยะทางรวม 23.6 กม. เป็นทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และทางวิ่งยกระดับ 11 กม. มี 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี (สถานี 1-10) และยกระดับ 7 สถานี (สถานี 11-17)

เปิดจุดที่ตั้ง 17 สถานี

ได้แก่ 1.สถานีรัฐสภา เชื่อมกับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ อยู่ระหว่างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่และ ม.พัน 4 รอ. 2.สถานีศรีย่าน อยู่หน้ากรมชลประทาน 3.สถานีสามเสน อยู่หน้าโรงพยาบาล วชิรพยาบาล 4.สถานีหอสมุดแห่งชาติ อยู่หน้าหอสมุดแห่งชาติ และสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย

5.สถานีบางขุนพรหม อยู่หน้าวัด เอี่ยมวรนุช 6.สถานีผ่านฟ้า อยู่ก่อนถึงถนนราชดำเนินนอก หน้าร้านอาหารนิว ออลีนส์ เชื่อมสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 7.สถานีวังบูรพาอยู่หน้าสวนรมณีนาถ ใกล้แยกสามยอด เป็นสถานีร่วมของสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค

8.สถานีสะพานพุทธ อยู่ก่อนถึงสี่แยก บ้านแขก 9.สถานีวงเวียนใหญ่ อยู่ใกล้ วงเวียนใหญ่ เชื่อมกับสายสีเขียวช่วงยศเส-บางหว้าและรถไฟฟ้าสายสีแดงหัวลำโพง-มหาชัย 10.สถานีสำเหร่ อยู่ใกล้ตลาดสำเหร่และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

11.สถานีจอมทอง อยู่ระหว่างซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 44 และคลองบางสะแก 12.สถานีดาวคะนอง อยู่ระหว่างซอยสุขสวัสดิ์ 12 กับซอย 14 13.สถานีบางปะกอก อยู่ระหว่างซอยสุขสวัสดิ์ 23 และซอย 25 มีอาคารจอดรถ 1,700 คัน 14.สถานีประชาอุทิศ อยู่หน้าซอยสุขสวัสดิ์ 44

15.สถานีราษฎร์บูรณะ อยู่กลางถนน สุขสวัสดิ์ คร่อมคลองแจงร้อน มีอาคาร จอดรถ 2 แห่ง รวม 1,700 คัน 16.สถานีพระประแดง ใกล้กับถนนวงแหวนอุตสาหกรรมสามแยกพระประแดง และ 17.สถานีครุใน อยู่ปากซอยสุขสวัสดิ์ 70

ส่วนการเวนคืนที่ดินจะเป็นบริเวณจุดขึ้นลงของ 17 สถานี จุดใหญ่ อยู่ที่ด่านเก็บเงินสุขสวัสดิ์ วงแหวน กาญจนาภิเษกจะใช้พื้นที่สร้างที่จอดรถไฟฟ้า 50 ไร่ และย่านสถานีเตาปูน โดยตลอดเส้นทางมีที่ดินถูกเวนคืน 410 แปลงหรือ 102 ไร่ อาคารสิ่งปลูกสร้าง 267 หลังคาเรือน นอกจากนี้ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กรมสรรพาวุธทหารบก เพื่อขอใช้พื้นที่โรงเรียนทหารสรรพาวุธ จะย้ายไป อยู่ที่ปากช่องแทน

เชื่อมใต้-ตะวันตก

"สายสีม่วงใต้จะเดินรถเชื่อมต่อสาย สีม่วงไปบางใหญ่ โดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องลง จากขบวนรถ และจะช่วยเชื่อมการเดินทางและเปิดพื้นที่การพัฒนาของกรุงเทพฯโซนด้านใต้และตะวันตก และเมื่อสายสีม่วง เปิดบริการตลอดเส้นทางจากบางใหญ่ราษฎร์บูรณะ คาดว่าจะมีผู้โดยสารกว่า 7 แสนเที่ยวคน/วัน" รายงานข่าวกล่าว

นายอาคมยังกล่าวถึงรถไฟฟ้าสายต่อไปที่จะเสนอให้ ครม.อนุมัติโครงการคือ สายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ กรอบวงเงินลงทุน 90,271 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการลงทุนจะให้ รฟม.ก่อสร้างและให้เอกชนลงทุนงานระบบรับสัมปทานเดินรถหรือให้เอกชนลงทุน PPP ทั้งโครงการ จะพิจารณาหลัง ครม.อนุมัติโครงการแล้ว

เชื่อม 3 จังหวัด

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และโฆษกประจำตัวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า มีมติเห็นชอบให้ รฟม.ก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูนราษฎร์บูรณะ ส่วนต่อขยายของสายสีม่วงเหนือ บางใหญ่-เตาปูน จะเริ่มก่อสร้างเดือนก.ย.2561 และเปิดให้บริการเดือนพ.ค.2567  จะเชื่อมการเดินทาง 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ กรุงเทพฯและนนทบุรี ใช้ระบบรถไฟฟ้า ขนาดใหญ่ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. ปีแรก จะใช้รถ 38 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้

โดยสำนักงบประมาณจัดสรร งบประมาณ สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ วงเงิน 15,945 ล้านบาท และกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ก่อสร้างภายใต้กรอบวงเงิน 85,167 ล้านบาท

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ