ชงรถไฟฟ้าสีน้ำตาล6หมื่นล. ผ่าตัดวิกฤตจราจรแคราย-ลำสาลี
Loading

ชงรถไฟฟ้าสีน้ำตาล6หมื่นล. ผ่าตัดวิกฤตจราจรแคราย-ลำสาลี

วันที่ : 20 กรกฎาคม 2560
ชงรถไฟฟ้าสีน้ำตาล6หมื่นล. ผ่าตัดวิกฤตจราจรแคราย-ลำสาลี

คมนาคมทะลวงโซนเหนือ แก้รถติดวิภาวดีฯ-เกษตร-นวมินทร์ ดันโปรเจ็กต์ยักษ์ 6 หมื่นล้าน รถไฟฟ้าสายใหม่สีน้ำตาล "แคราย-ลำสาลี" ตัดผ่าน 6 รถไฟฟ้า 6 สี พ่วงตอม่อทางด่วนขั้นที่ 3 ประชาพิจารณ์นัดแรก 26 ก.ค.เคาะรูปแบบ พ.ย.ปีนี้ เผยเชื่อมโครงข่ายโทลล์เวย์-ด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตก ชี้แลนด์ลอร์ดทุนใหญ่หน้าเดิมปักหมุดจอง เจ้าสัวเจริญมากสุด

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า วันที่ 26 ก.ค.นี้ จะรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ซึ่งเป็นโครงการมีแนวคิดจะมาทดแทนระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N1, N2 และ N3 บางใหญ่-งามวงศ์วานเกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก หลังตอน N1 บางใหญ่-รัตนาธิเบศร์-งามวงศ์วาน-แยกเกษตร ได้รับการคัดค้านจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้โครงการหยุดชะงักเมื่อปี 2556

อีกทั้งเป็นการใช้ประโยชน์เสาตอม่อ 281 ต้นบนกึ่งกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ที่สร้างค้างมานานหลาย 10 ปี ล่าสุดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปรับแผนการสร้างใหม่ จะเริ่มจาก N2 เกษตร-วงแหวนตะวันออก ระยะทาง 11.9 กม. เงินลงทุน 14,382  ล้านบาท

พ.ย.เคาะแก้รถติด

แต่ สนข.ประเมินแล้วอาจจะเกิดปัญหาจราจรตรงแยกเกษตรศาสตร์ ทางคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ สนข.ศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและระบบทางด่วนสายเหนือตอน N2-วงแหวนรอบนอกตะวันออก รูปแบบการลงทุนโครงการไหนจะตอบโจทย์การเดินทางเชื่อมกรุงเทพฯตะวันตกกับตะวันออก และแก้ปัญหาจราจรภาพรวมได้มากสุด ภายในเดือน พ.ย.นี้จะได้ข้อสรุป

"ต้องดูการแก้จราจรภาพรวมและความคุ้มค่าการลงทุน ระหว่างการทางพิเศษฯจะสร้างทางด่วนแล้วมาด้วนอยู่ตรงแยกเกษตรจะส่งผลต่อการจราจรแค่ไหนกับสร้างรถไฟฟ้าที่มีแนวซ้อนทับกับทางด่วนช่วงเกษตร-นวมินทร์ แต่สามารถจะเป็นฟีดเดอร์ให้กับรถไฟฟ้าอีกหลายสาย อยู่ที่การสนับสนุนของคนในพื้นที่ ผลการศึกษาที่จะออกมาอีก 5 เดือน และนโยบายรัฐบาล" นายชัยวัฒน์กล่าวและว่า

บริษัทที่ปรึกษาเสนอ 4 ทางเลือก คือ 1.สร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล 2.สร้างทางด่วนเกษตร-วงแหวนตะวันออก 3.สร้างทางด่วนจากบางใหญ่-วงแหวนตะวันออก และ 4.สร้างทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วนบนเส้นทางเดียวกัน

ลงทุน 4.5 หมื่นล้านสายสีน้ำตาล

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อปี 2556 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. แล้ว เป็นระบบไรต์เรล มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 6 สาย แนวเริ่มจากแยกแคราย เชื่อมสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) และสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน เชื่อมกับสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่สถานีบางเขน ผ่านแยกเกษตร เชื่อมกับสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ที่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แล้วไปตามแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ (ประเสริฐมนูกิจ) ถนนนวมินทร์และสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง เชื่อมกับสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) บริเวณแยกลำสาลี ระยะทางรวม 21.5 กม. เงินลงทุน 44,064 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 24,379 ล้านบาท งานระบบ 13,073 ล้านบาท ค่าเวนคืน 5,780 ล้านบาท และที่ปรึกษาคุมงาน 832 ล้านบาท

เปิดโผที่ตั้ง 22 สถานี

มี 22 สถานี ได้แก่ 1.ศูนย์ราชการนนทบุรี ตรงข้ามไทยคม 2.งามวงศ์วาน ใกล้ ซ.งามวงศ์วาน 3 3.บัวขวัญ ตรงชุมชนวัดบัวขวัญ 4.แยกพงษ์เพชร 5.ชินเขต หน้า ซ.งามวงศ์วาน 43 6.บางเขน หน้าเรือนจำคลองเปรม 7.คุณหญิงอิศรา หน้า ม.เกษตรฯ 8.เกษตร ทางแยก 9.กรมยุทธโยธาทหารบก 10.ลาดปลาเค้า 39 11.ประเสริฐมนูกิจ 25 12.เสนานิเวศน์ 13.สตรีวิทยา 2 14.ประดิษฐ์มนูธรรม บริเวณจุดตัดทางด่วน 15.คลองลำเจียก จุดตัด ถ.ลำเจียก

16.รามอินทรา-นวมินทร์ จุดตัดนวมินทร์ 17.นวลจันทร์ แยกซอยนวลจันทร์ 11 18.โพธิ์แก้ว บน ถ.นวมินทร์ตัด ถ.โพธิ์แก้ว 19.นวมินทร์ 73 20.แฮปปี้แลนด์ จุดตัดนวมินทร์กับแฮปปี้แลนด์ 21.การเคหะแห่งชาติ และ 22.ลำสาลี บริเวณแยกลำสาลี จะใช้เวลาสร้าง 3 ปี มีปริมาณผู้โดยสารวันเปิดบริการปี 2564 อยู่ที่ 32,000 เที่ยวคน/วัน

รายงานข่าวกล่าวว่า ส่วนทางด่วนตอน N2-วงแหวนรอบนอกตะวันออกปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้บรรจุไว้ในแผนลงทุนเร่งด่วนปี 2560 ใช้เงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) คาดว่าจะเปิดใช้ปี 2564 มีปริมาณการจราจร 150,000 เที่ยวคัน/วัน แนวเริ่มจากแยกลาดปลาเค้าวิ่งตรงไปเชื่อมกับทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา แล้วสร้างซ้อนทับบนเกาะกลางถนนเกษตร-นวมินทร์ถึงแยกนวมินทร์

จากนั้นวิ่งตรงไปบนเกาะกลางถนนของกรมทางหลวง (ทล.) จนบรรจบกับวงแหวนตะวันออก ออกแบบเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ส่วนการเวนคืนที่ดินมีจุดใหญ่ตรงจุดตัดทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ซึ่ง กทพ.อยู่ระหว่างเคลียร์สัญญาเช่าพื้นที่

สร้างทั้งทางด่วน-รถไฟฟ้า

"มีแนวโน้มสูงจะสร้างทั้ง 2 ระบบ ดูตามความพร้อมของโครงการ อาจจะเริ่มจากสร้างทางด่วนก่อน เพราะการทางพิเศษฯยืนยันพร้อมจะเดินหน้าโครงการ ล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาว่าผู้บริหารการทางพิเศษฯจะขอใช้มาตรา 44 เพื่อก่อสร้างทางด่วนสายนี้ด้วย ทั้งนี้ก็ต้องสร้างส่วนต่อขยายจากแยกลาดปลาเค้าออกไปอีกไม่ให้เกิดคอขวด และเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการทางพิเศษฯกำลังศึกษาแนวเส้นทางไปเชื่อมกับโทลล์เวย์และทางด่วน"

จะสร้างเป็นทางยกระดับโดยเบี่ยงแนวอ้อมไปทางคลองบางบัวด้านหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เชื่อมโทลล์เวย์ หรือสร้างต่อจากแยกเกษตรผ่านหน้าโรงพยาบาลวิภาวดีแล้วเลี้ยวซ้ายคู่ขนานไปกับถนนวิภาวดีจนถึงแยกรัชวิภาแล้วบรรจบกับทางเชื่อมที่กระทรวงคมนาคมจะให้เอกชนร่วม PPP วงเงิน 6,220 ล้านบาท สร้างทางยกระดับเชื่อมโทลล์เวย์กับทางด่วนศรีรัชวงแหวนตะวันตก ระยะทาง 2.6 กม.

"ส่วนสายสีน้ำตาลเมื่อศึกษาจบ สนข. จะบรรจุโครงการไว้ในแผนแม่บทรถไฟฟ้า จากนั้น รฟม.จะออกแบบรายละเอียดเพื่อก่อสร้างต่อไป"

ทั้งนี้พื้นที่โซนนี้จะต้องมีโครงข่ายการคมนาคมใหม่ ๆ มารองรับการเดินทาง เนื่องจากปัจจุบันเมืองมีการขยายตัวมีบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียมและคอมมิวนิตี้มอลล์เกิดขึ้นมาก ส่งผลทำให้ถนนเกษตร-นวมินทร์มีการจราจรหนาแน่น 100,000 เที่ยวคัน/วัน

ปลุกที่เจ้าสัวเจริญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ย่านถนนเกษตร-นวมินทร์ มีโครงการนวมินทร์ เฟส 1 ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี กำลังล้อมรั้วเตรียมก่อสร้างโครงการ แบบมิกซ์ยูส บนที่ดินกว่า 300 ไร่ ทำเลตรงข้ามโครงการนวมินทร์ซิตี้ อเวนิว ด้านหน้าติดถนนประเสริฐมนูกิจ หน้ากว้าง 300-400 เมตร และด้านชนกับถนนเสนานิคม มีแผนจะพัฒนาเป็นอาคารศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม 200 ห้อง และ ที่จอดรถกว่า 2,000 คันจะพัฒนา 2-3 เฟส ใช้งบฯลงทุนรวม 7,000-8,000 ล้านบาท เฟสแรกจะก่อสร้างอาคารศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า พื้นที่ 200,000 ตร.ม.

บจ.เค.อี.แลนด์ของตระกูลเอี่ยมสกุลรัตน์ ผู้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรร "คริสตัล พาร์ค" และคอมมิวนิตี้มอลล์ "เดอะ คริสตัลและซีดีซี" มีที่ดินรอพัฒนาอยู่ติด ถ.เกษตร-นวมินทร์ 15 ไร่และบริเวณจุดตัด ทางด่วนกับถนนเกษตร- นวมินทร์อีกกว่า 100 ไร่ ขณะที่กระทรวงการคลังก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดจะนำที่ดินเรือนจำกลางคลองเปรม 500 ไร่ เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโคงการ มิกซ์ยูสสร้างรายได้ระยะยาว

ล่าสุด บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ เข้าไปพัฒนาโครงการ "เดอะ ซีเล็คเต็ด เกษตร-งามวงศ์วาน" คอนโดฯ ไฮไรส์ 20 ชั้น บนที่ดิน 2 ไร่ 310 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท  ราคาเริ่มต้น 120,000 บาท/ตร.ม. หรือเริ่มต้น ยูนิตละ 2.9 ล้านบาท

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ