ได้ฤกษ์ปรับปรุงสถานีตากสิน เฮทช.ไฟเขียวเร่งออกแบบ
Loading

ได้ฤกษ์ปรับปรุงสถานีตากสิน เฮทช.ไฟเขียวเร่งออกแบบ

วันที่ : 18 กรกฎาคม 2560
ได้ฤกษ์ปรับปรุงสถานีตากสิน เฮทช.ไฟเขียวเร่งออกแบบ

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า  ทช. ได้เห็นชอบในหลักการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าตากสินตามที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี (BTSC) เสนอเพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม โดยขั้นตอนหลังจากนี้บีทีเอสซีต้องจัดทำรายละเอียดการออกแบบ กรอบระยะเวลาการก่อสร้าง และขั้นตอนการจัดจราจร เพื่อเสนอให้ ทช. เห็นชอบอีกครั้ง โดยกระทรวงคมนาคมจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อทุกอย่างพร้อม และเห็นชอบให้เริ่มก่อสร้างได้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทบีทีเอสซี กล่าวว่า บริษัทฯและ (กทม.) กำลังรอหนังสือยืนยันมติ ทช. อย่างเป็นทางการ เมื่อได้รับหนังสือแล้ว บริษัทฯ จะเร่งออกแบบรายละเอียด เพื่อเสนอ ทช. พิจารณาโดยเร็ว รวมถึงหารือกทม. เรื่องรายละเอียดการดำเนินงานและภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย สำหรับขั้นตอนการอนุมัติโครงการหลังจากนี้คงใช้เวลาไม่นานนัก เพราะ ทช. เห็นชอบหลักการเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปีนี้

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การก่อสร้างจะเริ่มจากการปรับปรุงช่องจราจรบนสะพานตากสินให้เสร็จก่อน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับผู้ใช้รถยนต์ จากนั้นจึงขยายรางรถไฟฟ้าและสถานีบีทีเอสตากสิน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปีจึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาคอขวดของรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ ทั้งนี้ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีผู้ใช้บริการมากกว่า 100,000 คนต่อวัน มีอัตราการเติบโตราว 5% ต่อปี แต่พบว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า มีปัญหาความแออัดอย่างมาก โดยเฉพาะในชั่วโมง เร่งด่วน แต่ไม่สามารถเพิ่มความถี่ของขบวนรถเพื่อรองรับผู้โดยสารได้ เพราะปัญหาคอขวดบริเวณสถานีตากสินส่งผลให้ ขบวนรถต้องรอการสับหลีก ทำให้ผู้โดยสารต้องรอ 4 นาทีต่อขบวนจึงจะได้ขึ้น แต่หากแก้ปัญหาตรงคอขวดได้ ก็น่าจะรอเพียงแค่ 2 นาทีต่อขบวน

รายงานข่าวแจ้งว่า การปรับปรุงสถานีบีทีเอสตากสินจะเริ่มจากการก่อสร้างทางเบี่ยงบนสะพานตากสินข้างละ 1.80 เมตร ระยะทาง 230 เมตร เพื่อไม่ให้เสียช่องการ จราจรทางถนน จากนั้นจะรื้อชานชาลาบีทีเอสเดิมออก เพื่อก่อสร้างรางคู่จากเดิมเป็นรางเดี่ยว ก่อสร้างชานชาลา 2 ฝั่ง จากเดิมมี 1 ฝั่ง พร้อมปรับปรุงทางขึ้นลงให้เป็นตามมาตรฐาน โดยน่าจะใช้งบประมาณปรับปรุงทั้งหมดราว 1,000 ล้านบาท.

 
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ