สั่งสนข.เร่งศึกษาภายใน1เดือน พร้อมเดินหน้าปีนี้สร้าง ทางคู่ เชื่อม3ท่าเรือ
Loading

สั่งสนข.เร่งศึกษาภายใน1เดือน พร้อมเดินหน้าปีนี้สร้าง ทางคู่ เชื่อม3ท่าเรือ

วันที่ : 5 พฤษภาคม 2560
สั่งสนข.เร่งศึกษาภายใน1เดือน พร้อมเดินหน้าปีนี้สร้าง ทางคู่ เชื่อม3ท่าเรือ

"มาบตาพุด-แหลมฉบังสัตหีบ"ชี้ขาดอนาคตอีอีซี

 

บอร์ดบริหารอีอีซีมีมติสร้างรถไฟทางคู่ เชื่อมโยง 3 ท่าเรือ "มาบตาพุด-แหลมฉบังสัตหีบ" พร้อมชง"อีอีซีดี - อีอีซีไอ"เป็น เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ให้กนอ.จัด พื้นที่สำหรับเอสเอ็มอี คาดกันพื้นที่ใน 3-5 นิคมฯ ขณะนักลงทุนฮ่อกง 60 ราย ดูพื้นที่ 8 พ.ค.นี้

การประชุมคณะกรรมการบริหาร การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาค ตะวันออก (กรศ.) วานนี้(4 พ.ค.) มีมติ เห็นชอบกับโครงการลงทุนท่าเรือหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือมาบตาพุด, แหลมฉบัง และสัตหีบ และการเชื่อมโยงท่าเรือด้วยระบบรถไฟทางคู่ ซึ่งจะเป็นโครงการหลักที่จะต้องเร่งดำเนินการภายในปีนี้

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธาน กรศ.  กล่าวว่า การพัฒนาท่าเรือทั้ง 3 แห่ง จะช่วยเพิ่มศักยภาพในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)

 

"โครงการรถไฟทางคู่เชื่อมโยง 3 ท่าเรือหลักมีความสำคัญมาก หากโครงการนี้ ไม่เกิด ก็ไม่สามารถใช้ศักยภาพในภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีได้ไม่เต็มที่ ทำให้อุตสาหกรรมเกิดได้ลำบาก ดังนั้น จึงเป็นโครงการเร่งด่วนที่ต้องเร่งให้เดินหน้า ภายในปีนี้"

 

นายอุตตม กล่าวว่า ท่าเรือทั้ง 3 แห่งจะเพียงพอกับการขยายตัวของพื้นที่อีอีซี ในอนาคต รวมทั้งการพัฒนาระบบรางเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ จะช่วยลดต้นทุนขนส่งของไทย โดยได้ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เร่งศึกษา เพื่อกำหนดกรอบแนวคิดการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าทางคู่เชื่อมโยง 3 ท่าเรือให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ก่อนศึกษารายละเอียดแผนแม่บทโครงการลงทุนท่าเรือหลักทั้ง 3 แห่ง และเชื่อมโยงโดยระบบรถไฟทางคู่อย่างไร้รอยต่อ

           

นอกจากนี้ยังให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทยร่วมศึกษาออกแบบปรับปรุงสถานีขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ(เอสอาร์ทีโอ) ที่โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้มี ประสิทธิภาพสูงสุดโดยเน้นการใช้ระบบขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติรวมทั้งการวางทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่าง อีอีซี ยังชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชา

 

ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษนวัตกรรม-ดิจิทัล

 

นายอุตตม กล่าวว่ายังมีมติให้นำโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (อีอีซีดี) ให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายใน ครั้งหน้า โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศึกษาความเหมาะสมโครงการเพิ่มเติม ให้สร้างประโยชน์ต่อท้องถิ่น มีมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มีแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีแผนที่แนวเขตชัดเจน และมีแผนการเผยแพร่ผลการศึกษาเพื่อรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งยังได้เตรียมที่จะเสนอโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพิจารณายกขึ้นเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษต่อไป

 

ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาการจัดตั้งพื้นที่รองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งจะประกอบด้วยห้องทดสอบทดลองพัฒนาสินค้าต้นแบบที่มีอุปกรณ์วิจัยพัฒนาที่เพียบพร้อม โดยจะมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขนาดใหญ่เป็นตัวนำ และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาเสริมให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้ รวมทั้งยังได้ให้กลุ่มจังหวัดที่อยู่รอบพื้นที่ อีอีซี พัฒนาแผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดให้สอดคล้องกับการพัฒนาอีอีซี เพื่อเชื่อมโยง แผนการพัฒนาให้เป็นเนื้อเดียงกัน ให้จังหวัดโดยรอบได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาอีอีซี

 

คาดตั้ง3-5นิคมฯเอสเอ็มอี

 

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่า ที่ประชุม กรศ. ได้ให้โจทย์กับ กนอ. ไปหาพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอีอีซี โดยในเบื้องต้นจะไปศึกษาว่าแต่ละคลัสเตอร์เหมาะสมที่จะอยู่ในพื้นที่นิคมฯใดบ้าง และจะจัดสรรพื้นที่ในนิคมบางส่วนพัฒนาสร้างโรงงานสำเร็จรูป และพื้นที่ส่วนกลางทำงานร่วมกันสำหรับเอสเอ็มอีต่อไป ซึ่ง กนอ.จะสรุป รายงานเบื้องต้นเสนอให้กับที่ประชุม กรศ. ในครั้งหน้า

 

"พื้นที่เอสเอ็มอีในแต่ละนิคมฯจะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมฯแต่ละแห่ง เพื่อให้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน ในเบื้องต้นมองว่า จะมีนิคมฯในอีอีซีที่เหมาะจะแบ่งเขตสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 3-5 นิคมฯ และแต่ละนิคมฯน่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 5-10 ไร่ เป็นเขตโรงงานเอสเอ็มอี"

 

ที่ประชุม กรศ. ยังได้เห็นชอบในการตั้งคณะอนุกรรมการ 6 ด้าน เพื่อจัดทำแผนและ ขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญตามมติ ของคณะกรรมการนโยบาย ได้แก่ 1. คณะ อนุกรรมการจัดทำระเบียบร่วมทุนเอกชน (พีพีพี) 2.คณะอนุกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3.คณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี 4.คณะอนุกรรมการพัฒนาเมืองใหม่ 5.คณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ อีอีซี และ6. คณะอนุกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมนวัตกรรมดิจิทัล

 

เผยนักลงทุนฮ่องกงสนใจลงทุนอีอีซี

 

นายอุตตม กล่าวว่า จากการที่ไปเยือนอ่องกงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการฮ่องกงได้เสนอความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นในวันที่ 8 พ.ค.นี้ ทางสภาการค้าแห่งฮ่องกง (เอชเคทีดีซี) จะนำนักลงทุนชุดใหญ่กว่า 60 ราย เข้ามาเยือนไทย

 

นายอุตตม กล่าวว่า นักลงทุนกลุ่มนี้ สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอากาศยาน การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด แหลมฉบัง และสัตหีบ โครงการรถไฟ และการลงทุนในอุตสาหกรรมกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มี ความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี

 

ในวันที่ 8 พ.ค. จะนำคณะเอชเคทีดีซี เข้ารับฟังการบรรยายความคืบหน้าล่าสุดของโครงการอีอีซี ในช่วงบ่ายจะแยกห้องสัมมนาเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี และกลุ่มการจัดตั้ง อุตสาหกรรมกำจัดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม และน้ำเสียต่างๆ เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มนี้ นักลงทุนฮ่องกงให้ความสนใจ มาก หลังจากนั้นเวลา 16.00 น. จะนำคณะ นักธุรกิจฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ