รฟม.สรุปผลประมูลชมพู-เหลืองย้ำเซ็นกลุ่มBSRเม.ย.นี้แน่นอน
ย้ำเซ็นกลุ่มBSRเม.ย.นี้แน่นอน
“รฟม.” สรุปผลประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู-เหลืองแล้ว พร้อมรับข้อเสนอต่อขยายสายทางแนบท้ายสัญญาหลัก แต่ต้องขออนุมัติตามขั้นตอนก่อนลงมือก่อสร้าง ย้ำเซ็นสัญญา BSR Joint Venture เม.ย.นี้
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่า (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะประธานคณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 53,519.50 ล้านบาท และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 51,931.15 ล้านบาท เปิดเผยว่า วานนี้ (21 ก.พ.) คณะกรรมการตามมาตรา 35 ได้ประชุมสรุปผลการประกวดราคาโครงการลงทุนรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทางดังกล่าวแล้ว
สำหรับข้อเสนอการต่อขยายสายทางทั้ง 2 สายทางของผู้รับงาน คือ BSR Joint Venture (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC) นั้น คณะกรรมการตามมาตรา 35 มีมติที่จะแนบท้ายไปกับสัญญาหลัก พร้อมความเห็นประกอบว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่ต้องดำเนินการขออนุมัติก่อสร้างตามขั้นตอนต่อไป คือ นำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
“เมื่อวานคณะกรรมการตามมาตรา 35 ประชุมสรุปเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งสัญญาหลักนั้นแน่นอนว่าไม่มีปัญหาเคาะเรียบร้อยแล้ว สำหรับส่วนต่อขยายทั้ง 2 สายทางที่ผู้รับงานเสนอมา เราจะแนบท้ายไปกับสัญญาหลัก เพื่อให้เสนอขออนุมัติตามขั้นตอนต่อไป โดยคณะกรรมการฯจะส่งความเห็นไปด้วยว่าข้อเสนอนี้เป็นประโยชน์” นายธีรพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ BSR Joint Venture เสนอต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าสู่เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. และต่อขยายสายสีเหลือง ซึ่งจะสิ้นสุดเส้นทางตรงสถานีลาดพร้าว (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ไปจนถึงแยกรัชโยธิน เพื่อไปเชื่อมต่อกับสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 2.6 กม.
นายธีรพันธ์ กล่าวต่อว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการตามมาตรา 35 จะสรุปรายละเอียดทั้ง 2 สายทาง จากนั้นจะนำส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และนำส่งร่างสัญญาไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดคู่ขนานกัน โดยทั้ง 2 หน่วยงานมีเวลาพิจารณา 45 วัน จากนั้นจะนำส่งมายังกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงฯมีเวลาพิจารณา 30 วัน ก่อนนำส่ง ครม. ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามกับ BSR Joint Venture ได้ภายในเดือนเมษายน 2560
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ BTS ได้มีมติเห็นชอบให้ BTS จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของ BSR Joint Venture โดยจะดำเนินการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 2 บริษัท ซึ่งบริษัทร่วมทุนแห่งหนึ่งจะเข้าทำสัญญากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนอีกบริษัทหนึ่งจะเข้าทำสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองกับ รฟม. ส่วนชื่อบริษัททั้ง 2 แห่งจะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รับทราบหลังจากบริษัทร่วมทุนทั้ง 2 บริษัทจัดตั้งแล้ว
สำหรับทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 3,500,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 350,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ซึ่งก่อนเริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายทาง บริษัทร่วมทุนแต่ละแห่งจะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 14,000,000,000-17,423,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,400,000,000-1,742,300,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ส่วนโครงสร้างการถือหุ้นนั้น BTS จะถือหุ้นสัดส่วน 75% STEC จะถือหุ้น 15% และ RATCH ถือหุ้น 10%
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น