รถไฟฟ้าชานเมืองเข้ากรุง ไม่คุ้มค่าลงทุน ไม่ตอบโจทย์แก้รถติด
Loading

รถไฟฟ้าชานเมืองเข้ากรุง ไม่คุ้มค่าลงทุน ไม่ตอบโจทย์แก้รถติด

วันที่ : 22 กุมภาพันธ์ 2560
รถไฟฟ้าชานเมืองเข้ากรุง ไม่คุ้มค่าลงทุน ไม่ตอบโจทย์แก้รถติด

นิติพันธุ์ สุขอรุณ

 

เมื่อปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักในกรุงเทพมหานคร ส่งผล กระทบต่อชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ทำให้ไม่สามารถกำหนดเวลาเดินทาง และนับวันยิ่งทวีความหนาแน่นของรถยนต์เพิ่มมากขึ้น นำมาสู่เวทีเสวนาโดยนักศึกษาอาสาวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นำเสนอหัวข้อเรื่อง "ผ่าเมือง ผ่ารถติด วิเคราะห์มหานคร" เพื่อระดมความเห็นว่าจุดเริ่มต้นของปัญหา อยู่ที่ใด และแนวทางแก้ไขควรทำเช่นไร

 

ประมวล สุรีจารุวัฒน อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยไม่สามารถนำแนวคิดพัฒนาถนนมาใช้พัฒนาระบบรางรถไฟฟ้าได้ เพราะเมืองที่มีระบบคมนาคมที่ดี คือ ระบบที่พัฒนาให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในเมืองใหญ่ภายในระยะรัศมี 10 กิโลเมตรได้ แต่ปรากฏว่าการพัฒนารถไฟฟ้ากำลังทำให้เกิดเส้นทางวิ่งออกนอกเมือง-เข้าสู่เมือง ถือเป็นการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ จะทำให้คนใช้รถไฟฟ้าไม่คุ้มค่าแล้วขาดทุนในที่สุด

 

"การวางผังเมืองที่ดีคือ คน ต่างจังหวัดสามารถเลือกอาชีพในบ้านเกิดได้ ไม่ใช่มีแต่ความจำเป็นต้องดิ้นรนเข้ามาหางานในเมืองใหญ่ ดังนั้นถ้าสังคมไม่มีความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ ผู้คนก็ไม่ต้องละทิ้งบ้านเกิด เพราะที่สุดแล้วทุกคนอยากกลับบ้านกันทั้งนั้น" ประมวล กล่าว

 

ดังนั้น การใช้รถไฟฟ้าเพื่อหวังแก้ปัญหารถติดถือเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะความจริงคือระบบขนส่งมวลชนต้องตอบสนองการใช้งานของคนในพื้นที่เมืองให้ได้ก่อน

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร คิวเฮ้าส์ และอดีต รมว.คมนาคม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการลงทุนสร้างถนนด้วยเงินจำนวนมหาศาล วงเงินงบประมาณกว่า 1.5 แสนล้านบาท นำไปสู่การออกแบบผังเมืองเพื่อรองรับรถยนต์ส่วนบุคคล มากกว่าลงทุนกับขนส่งสาธารณะอย่างที่ควรจะเป็นทั้งที่ในอดีตประเทศไทยมีรถรางสาธารณะ แต่ปรากฏว่ารถรางถูกยกเลิกไปเพราะถูกมองว่ารถรางกีดขวางถนน กรณีนี้ คือจุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญผิดที่ ทำให้ทุกวันนี้มีปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลวิ่งอยู่บนถนนจำนวนกว่า 4 ล้านคัน ขณะที่ถนนในกรุงเทพฯ ไม่อาจขยายเพิ่มเติมได้อีกแล้ว

 

ขณะที่รถไฟฟ้ากลายเป็นรถของคนมีเงินเท่านั้น เพราะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 1,400 บาท/คน ดังนั้นปัญหาหลักของการจราจรติดขัดคือ คนเลือกใช้รถส่วนตัวกันมากกว่า ฉะนั้นการแก้ปัญหารถติดต้องแก้เรื่องระบบขนส่งสาธารณะให้ดีก่อน ส่วนแนวทางระยะยาวต้องพัฒนาระบบรถราง รถไฟฟ้าเชื่อมต่อรถโดยสารประจำทางอย่างเป็นระบบ

 

"ส่วนตัวอยากให้พัฒนาระบบรถไฟฟ้าให้วิ่งออกนอกเมืองมากขึ้น เพราะเป็นไปได้ยากที่คนจะซื้อคอนโดมิเนียมราคาสูงใกล้รถไฟฟ้าในเมืองได้ แต่ถ้ารถไฟฟ้าวิ่งออกนอกเมืองจะทำให้ผู้คนเลือกเป็นเจ้าของบ้านชานเมืองได้ไม่ยาก"ชัชชาติ กล่าว

 

ชัชชาติ กล่าวอีกว่า การพัฒนาคุณภาพงานบริการรถโดยสารสาธารณะเป็นสิ่งสำคัญ และควรทำอย่างประเทศเกาหลีใต้ คือ รัฐเก็บเงินค่าโดยสารแต่เพียงผู้เดียวผ่านระบบคีย์การ์ด เมื่อได้เงินมารัฐจะจ่ายให้บริษัทเอกชนที่ว่าจ้างเข้ามาร่วมวิ่งตามระยะทางและคุณภาพของงานบริการ เมื่อทำเช่นนี้จะไม่เกิดปัญหาขับรถเร็ว พยายามวิ่งแซงกันเพื่อแย่งลูกค้า ที่สำคัญสามารถเพิ่มคุณภาพงานบริการได้เป็นอย่างดี

 

อดีต รมว.คมนาคม กล่าวว่า ทั้งหมดจึงอยู่ที่นโยบายของรัฐจะลงมือทำให้จริงหรือไม่ เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญกับมวลชน มากกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งการแก้ปัญหารถติดใน กทม. ต้องร่วมมือกันทุกหน่วยงานไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แต่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะทำสิ่งใดต้องถามความเห็นของประชาชน เพื่อทำให้เกิดการยอมรับร่วมกัน

 

ด้าน ทรงชัย ทองปาน อาจารย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทุกวันนี้บ้านในเมืองมีขนาดเล็กและราคาสูงมาก จึงต้องหาบ้านชานเมืองที่ราคาถูกกว่า ดังนั้นเมืองจึงขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาถนนราชพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ บางบัวทอง และบางใหญ่

 

ผลที่ตามมาคือรถติดในช่วงเช้าวันทำงานและติดอีกครั้งในช่วงเย็นที่คนเลิกงานกลับบ้าน กลายเป็นพฤติกรรมที่คนมีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนยังเข้าไม่ถึง หรือยังไม่อำนวยความสะดวกได้เต็มที่

 

ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาผังเมืองต่อจากนี้จึงต้องขยายเส้นทางระบบขนส่งมวลชนกระจายออกจากเมืองให้กว้างมากขึ้น เพื่อทำให้การเดินทางสะดวกต่อเนื่อง ไม่ต้องขึ้นลงรถหลายต่อให้ลำบาก หากทำได้ประชาชนจะมีวิถีชีวิตที่สามารถกำหนดเวลาเดินทางได้แม่นยำ ไม่รู้สึกอึดอัดจนสุดท้ายตัดสินใจซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ ซึ่งจะเข้าสู่วงจรที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

 

 

ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ