กทม.ลุย รถไฟฟ้าสีเขียว
เล็งชำระค่าระบบ-โครงสร้าง 8.4หมื่นล้านใน12ปี
กทม.มอบ "กรุงเทพธนาคม" หาผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลัง คนร.มีมติให้ กทม.รับดำเนินการ "อัศวิน"เผยได้ "บีทีเอสซี" เข้าดำเนินการพร้อมรับภาระค่าระบบ- โครงสร้าง 8.4 หมื่นล้านไปก่อน โดยกทม.จะทยอยชำระคืนทั้งหมดตั้งแต่ปี 72 เป็นต้นไป
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่าได้หารือ กับ บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (มหาชน) (เคที) ในฐานะวิสาหกิจ สังกัดกทม. และสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง- สมุทรปราการ ภายหลังจากที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติให้กทม. เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงดังกล่าว
โดยได้มอบหมายให้เคทีไปจัดหาผู้ดำเนินการเดินรถ และให้รับภาระทางการเงิน จากการรับมอบดำเนินทั้ง 2 โครงการรวม ทั้งสิ้น 84,517.72 ล้านบาทไปก่อน เนื่องจาก กทม.ไม่มีงบประมาณในการรับโอน จากนั้น กทม.จึงจะเริ่มทยอยจ่ายในปี 2572 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน จะเร่งให้เปิดใช้บริการภายในปีนี้
ด้านนายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการบริษัทกรุงเทพธนาคมกล่าวว่า ผู้ที่จะดำเนินการเดินรถ คือ บริษัทระบบขนส่ง มวลชนกรุงเทพ จำกัดมหาชน (บีทีเอสซี) เพราะบีทีเอสซี ได้เข้ามาดำเนินการติดตั้ง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกลการเดินรถ ไว้แล้ว หลังจากที่นายอมร กิจเชวงกุลอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.ได้เห็นชอบและมอบหมาย ให้เคที เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถรวมทั้งจัดการติดตั้งระบบเดินรถเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2559
โดยมูลค่างานติดตั้งระบบเดินรถใน 2 เส้นทาง เส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ8,895 ล้านบาท เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่- คูคต 14,807 ล้านบาท รวม 23,702 ล้านบาท เคทีจะชำระให้ภายใน 4 ปี หรือภายในปี 2563
ส่วนมูลค่างานโครงสร้างพื้นฐานใน2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 21,085.47 ล้านบาท เส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จำนวน 39,730.25 ล้านบาท รวมเป็น 60,815.72 ล้านบาทนั้น เคทีจะชำระให้ในปี 2572 เป็นต้นไป
ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมจำนวน 3,557.053 ล้านบาท นั้น ผู้ว่าฯ กทม. ได้ตั้ง คณะทำงานต่อรองค่าใช้จ่ายดังกล่าว ยืนยันว่า เคทีจะชำระค่าใช้จ่ายส่วนนี้อย่างแน่นอน แต่ต้องขอเวลาพิจารณาในรายละเอียดก่อน
ส่วนกรณีรถเมล์บีอาร์ทีนางสาวตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกกทม.กล่าวว่ากทม. ได้จัดทาแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 3,500 ราย ทั้งผู้โดยสารผู้ใช้ถนน ชาวบ้านในเส้นทาง รวมทั้งตำรวจจราจรเพื่อได้ความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ