คมนาคม ชูอุตฯรถไฟ ดันตั้งโรงงานในประเทศ
Loading

คมนาคม ชูอุตฯรถไฟ ดันตั้งโรงงานในประเทศ

วันที่ : 9 มกราคม 2562
"ไพรินทร์" เดินหน้า จัดตั้งโรงงานผลิต-ประกอบรถไฟในประเทศ รับเมกะโปรเจคทางรางขยายต่อเนื่อง ลั่นช่วยลดต้นทุนการนำเข้า 10 เท่า ชี้ "ญี่ปุ่น-เกาหลี-เยอรมนี" จีบลงทุน
          ไพรินทร์" เดินหน้า จัดตั้งโรงงานผลิต-ประกอบรถไฟในประเทศ รับเมกะโปรเจคทางรางขยายต่อเนื่อง ลั่นช่วยลดต้นทุนการนำเข้า 10 เท่า ชี้ "ญี่ปุ่น-เกาหลี-เยอรมนี" จีบลงทุน

          นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากโครงการลงทุนพัฒนาโครงข่ายระบบรางทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มากกว่า 10 โครงการ ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องใช้ขบวนรถ ตู้รถไฟ อะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในปริมาณ มากขึ้น กระทรวงจึงมีแนวนโยบายที่จะให้จัดตั้งโรงงานผลิตประกอบรถไฟในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะมีการผลิตประกอบรถไฟในประเทศแล้ว ในอนาคตสามารถส่งออกรถไฟฟ้าไปสู่ประเทศ เพื่อนบ้านได้ด้วย

          จากผลการศึกษาพบว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานผลิตประกอบรถไฟ รถไฟฟ้า ควรอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจะจัดตั้งโรงงานผลิตได้ภายในปี 2564 ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนรถไฟ รถไฟฟ้าของภาครัฐที่จะทยอยแล้วเสร็จ โดยมั่นใจว่าจะสามารถจัดตั้งโรงงานได้ก่อน 1 แห่ง รองรับกำลังการสั่งผลิต ไม่น้อยกว่า 300 ตู้ต่อปี และจากการศึกษาพบว่าสามารถตั้งโรงงานในไทยได้สูงสุด 3 โรงงาน มียอดการผลิตรวมสูงกว่า 900 ตู้ ต่อปีในปี 2570

          "ปัญหาของการให้บริการรถไฟและรถไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมาพบว่าหากมีปัญหาเกี่ยวกับระบบราง รถไฟ รถไฟฟ้า หรือระบบอาณัติสัญญาณ จะต้องใช้เวลานานในการเข้ามาแก้ไขปัญหา บุคลากรคนไทยไม่สามารถซ่อมแซมได้ทันทีภายใน 2-3 ชั่วโมง บางครั้งต้องรออะไหล่จากต่างประเทศที่ต้องใช้เวลากว่า 2-3 วัน"

          ดังนั้น หากจัดตั้งโรงงานผลิตประกอบรถไฟในไทยได้สำเร็จจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้ารถไฟ รถไฟฟ้า อุปกรณ์ต่างๆ ได้ 10 เท่า จากเดิมที่มีการนำเข้ากว่า 7 หมื่นล้านบาท เมื่อมีโรงงานผลิตในไทยจะลดการนำเข้าเหลือเพียง 6,000-7,000 ล้านบาท และยังลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงรักษา ได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท

          "ตอนนี้มีนักลงทุนจากต่างชาติไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี และเยอรมนี แสดงความสนใจที่จะเข้ามาขอจัดตั้งโรงงานผลิตประกอบรถไฟในไทย ซึ่งนอกจากจะ ลดต้นทุนแล้ว ไทยยังจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 500 คน ช่วยลดการนำเข้าอะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟ รถไฟฟ้าได้อีกกว่า 3,000 รายการ จากเดิมต้องนำเข้ากว่า 7,000-1 หมื่นรายการ ดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟในอาเซียน"

          สำหรับขั้นตอนในการดำเนินการจัดตั้ง โรงงานผลิตประกอบรถไฟ คือ 1.เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการจัดตั้งกรมราง เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการควบคุมระบบราง 2.กระทรวงคมนาคมร่วมกับภาคเอกชนพิจารณาออก พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีระบบราง เพื่อเป็นคนกลางของการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งหากดำเนินการสำเร็จ ไทยจะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระบบรางในภูมิภาคอาเซียน
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ