รายงาน: รถไฟฟ้าบีทีเอส ต่อขยายสายสีน้ำเงิน พลิกฝั่งธนฯ... เทียบชั้นพระนคร
Loading

รายงาน: รถไฟฟ้าบีทีเอส ต่อขยายสายสีน้ำเงิน พลิกฝั่งธนฯ... เทียบชั้นพระนคร

วันที่ : 20 มกราคม 2562
ย่านฝั่งธนบุรีก่อนหน้านี้อาจไม่ใช่ทำเลที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจขึ้นคอนโดมิเนียม เท่าใดนัก เนื่องจากถูกมองว่าห่างไกล จากศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) อย่าง สุขุมวิท สีลมสาทร ซึ่งเป็นแหล่งงานสำคัญของกรุงเทพมหานคร
          ย่านฝั่งธนบุรีก่อนหน้านี้อาจไม่ใช่ทำเลที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจขึ้นคอนโดมิเนียม เท่าใดนัก เนื่องจากถูกมองว่าห่างไกล จากศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) อย่าง สุขุมวิท สีลมสาทร ซึ่งเป็นแหล่งงานสำคัญของกรุงเทพมหานคร

          เมื่อมีการต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีลม (บีทีเอสสายสีเขียว) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเปิดให้บริการที่สถานีวงเวียนใหญ่ และกรุงธนบุรีเป็น 2 สถานีแรก ในปี 2552 ประกอบกับปี 2556 มีการต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้า บีทีเอส สายสีเขียว เพิ่มอีก 4 สถานีถึงปลายทางที่สถานีบางหว้า ทำให้มีคอนโดมิเนียมเปิดขายในพื้นที่ฝั่งธนบุรี มีหน่วยสะสมประมาณ 90,300 ยูนิต และขายได้ประมาณ 88%

          ช้ากว่าฝั่งพระนคร 10 ปี

          แม้ปริมาณที่อยู่อาศัยแนวสูงจะมากขึ้นในโซนนี้แต่หากเทียบกับฝั่งพระนครแล้วถือว่ายังน้อยกว่ามาก อาจเป็นเพราะรถไฟฟ้าที่ขยายมายังฝั่งธนบุรี มีความล่าช้ากว่าฝั่งพระนครถึง 10 ปี แต่มีหลายทำเลที่ผู้ประกอบการเห็นศักย ภาพ และพุ่งเป้าพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นปิ่นเกล้า ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าพระ ฯลฯ

          ขณะเดียวกัน เมื่อมีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าต่อขยายสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ/หัวลำโพง-บางแค กระชับพื้นที่ฝั่งธนบุรีเข้าหาฝั่งพระนครราคาที่ดินเริ่มขยับสูงไปตามความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้า ราคาคอนโดมิเนียมก็ปรับตัวสูงตามเช่นกัน

          ส่งผลให้ปี 2560 เป็นต้นมาปริมาณคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่เริ่มลดลง เนื่องจากมีการตั้งราคาขายที่สูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยในพื้นที่ บางโครงการเปิดขายมากกว่า 120,000 บาทต่อตารางเมตรในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยในพื้นที่ฝั่งธนบุรีจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 85,000 บาทต่อตารางเมตร

          สูงสุดตร.ม.ละ 3 แสน

          ในภาพรวมย่านนี้มีคอนโด มิเนียมขายประมาณ 20,000 บาทต่อตารางเมตรไปจนถึงสูงสุดกว่า 330,000 บาทต่อตารางเมตร เพราะพื้นที่ฝั่งธนบุรียังมีความแตกต่างกันค่อนข้างสูง หลายพื้นที่อยู่ไกลจากศูนย์ กลางกรุงเทพมหานคร ขาดเรื่องของเส้นทางคมนาคมที่สะดวก และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก ผู้ประกอบที่เปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมราคาต่ำในพื้นที่ฝั่งธนบุรีมีกลุ่มเป้าหมายที่กลุ่มคนรายได้ต่ำที่เช่าอพาร์ต เมนต์หรือหอพักอยู่ แต่ไม่สามารถซื้อคอนโดมิเนียมในราคาสูงเกินกว่า 1 ล้านบาทได้ ส่วนคอนโด มิเนียมที่มีราคาขายสูงกว่า100,000 บาทต่อตารางเมตร โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้ากำลังก่อสร้างมีอัตราการขายที่ต่ำมาก เนื่องจากคนในพื้นที่ฝั่งธนบุรียังสามารถหาซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่แพงได้ เพราะทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นบนที่ดินขนาด 18 ตารางวาในบางโครงการยังมีราคาเริ่มต้นที่ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อยูนิต แม้ว่าจะไกลจากเส้นทางรถไฟฟ้าหรืออยู่ในซอยที่ค่อนข้างลึกก็ตาม แต่ก็ยังน่าสนใจกว่าคอนโดมิเนียมราคามากกว่า 2.5 ล้านบาทขนาด 30 ตารางเมตรใกล้สถานีรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้าง

          แนวรถไฟฟ้ายังเนื้อหอม

          แม้พื้นที่นี้จะมียูนิตสะสมค่อนข้างมาก แต่ผู้ประกอบการหลายรายยังคงสนใจที่ดินเพื่อเปิดขายโครงการในพื้นที่ฝั่งธนฯโดยเฉพาะแนวเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสที่เปิดให้บริการแล้ว และเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอย่างสายสีน้ำเงิน รวมไปถึงเส้นทางรถไฟฟ้าที่จะเริ่มการก่อสร้างในอนาคต เช่น เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมและสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูนราษฎร์บูรณะ เป็นต้น หรือเส้นทางอื่นๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจน

          พื้นที่ในฝั่งธนบุรียังคงเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เพียงแต่กำลังซื้อในภาพรวมของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ดังนั้น ทางออกเดียวคือ รอการขยายตัวของเศรษฐกิจ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          "แม้พื้นที่นี้จะมียูนิตสะสมค่อนข้างมาก แต่ผู้ประกอบการหลายรายยังคงสนใจที่ดินเพื่อเปิดขายโครงการในพื้นที่ฝั่งธนฯโดยเฉพาะแนวเส้นทางรถไฟฟ้า"
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ