ธอส.ส่งแอปฯเฟส2กู้ดิจิทัลมิ.ย.ป้อนรากหญ้า-โอดLTVฉุดลูกค้าลดวูบ
Loading

ธอส.ส่งแอปฯเฟส2กู้ดิจิทัลมิ.ย.ป้อนรากหญ้า-โอดLTVฉุดลูกค้าลดวูบ

วันที่ : 27 พฤษภาคม 2562
ธอส.อัพเกรดแอปฯ "GHB ALL" เฟส 2 เพิ่มฟังก์ชั่นยื่นกู้ป้อนลูกค้าสวัสดิการ มิ.ย. เผย 3 เดือนขยายกลุ่มวิน-แม่ค้า งัด "Virtual NPL" คุมหนี้เสียไม่เกิน 4% โอดผลกระทบ LTV ทำดีเวลลอปเปอร์ส่งแฟ้มลูกค้าขอกู้ ฮวบ 50% ลุ้นเจรจา ธปท.ผ่อนเกณฑ์
          ธอส.อัพเกรดแอปฯ "GHB ALL" เฟส 2 เพิ่มฟังก์ชั่นยื่นกู้ป้อนลูกค้าสวัสดิการ มิ.ย. เผย 3 เดือนขยายกลุ่มวิน-แม่ค้า งัด "Virtual NPL" คุมหนี้เสียไม่เกิน 4% โอดผลกระทบ LTV ทำดีเวลลอปเปอร์ส่งแฟ้มลูกค้าขอกู้ ฮวบ 50% ลุ้นเจรจา ธปท.ผ่อนเกณฑ์

          นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน มิ.ย.นี้ธนาคารจะเริ่มให้บริการแอปพลิเคชั่น "GHB ALL" เฟส 2 ซึ่งจะมีฟังก์ชั่นเพิ่มขึ้นหลายอย่าง ทั้งการยื่นกู้สำหรับลูกค้าที่มีสวัสดิการกับธนาคาร บริการแจ้งเตือนให้ชำระหนี้ การเชื่อมต่อกับระบบค้นหา โปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ซื้อทรัพย์ ระบบสะสมแต้ม เพื่อลุ้นรับของรางวัลต่าง ๆ  ในโครงการ "GHB Reward"

          รวมถึงในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะขยาย "GHB ALL" ไปยังลูกค้าอีกหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรืออาชีพอิสระ เช่น ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้า เป็นต้น โดยจะเพิ่มฟังก์ชั่นการรับจ่ายเงินจากลูกค้าที่ใช้บริการ เพื่อจะได้ใช้เก็บข้อมูลรายได้มาวิเคราะห์ปล่อยกู้ ทั้งนี้ปัจจุบัน ธนาคารมีลูกค้าดาวน์โหลดและใช้งานแล้วกว่า 1 แสนราย

          นอกจากนี้ ยังมีแผนทำโครงการ Virtual NPL ภายในปีนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหาด้านรายได้ ทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ตามปกติ และกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดย ธอส.จะเป็นศูนย์กลางรวบรวมที่อยู่อาศัยที่เป็น NPL ของธนาคาร ให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูข้อมูลและเลือกซื้อได้ ซึ่งเมื่อขาย NPL ได้แล้วธนาคารจะนำเงินไปหักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดเพื่อปลดภาระหนี้ให้แก่ผู้กู้เดิม

          "วิธีนี้ผู้ซื้อกับผู้ขายจะไม่เจอกัน แบงก์จับชนให้ โดยจะเป็นหนึ่งในมาตรการใหม่จากปัจจุบันที่มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็น NPL อยู่แล้ว 13 มาตรการ ซึ่งจะช่วยลด NPL ของธนาคารลงให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ไม่เกิน 4% ของสินเชื่อคงค้างในสิ้นปี 2562" นายฉัตรชัยกล่าว

          ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ ธอส.มี NPL อยู่ที่ 49,295 ล้านบาท คิดเป็น 4.37% ของยอดสินเชื่อรวม โดยเพิ่มขึ้น 0.03% ตามฐานสินเชื่อที่ใหญ่ขึ้น และมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ 166.81%

          สำหรับไตรมาสแรกที่ผ่านมา ธอส.ปล่อยสินเชื่อใหม่ 44,041 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 1,128,493 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.88% สินทรัพย์รวม 1,167,362 ล้านบาท โต 3.95% เงินฝากรวม 945,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.58% และมีกำไรสุทธิ 2,866 ล้านบาท

          นายฉัตรชัยกล่าวว่า แนวโน้มปีนี้ธนาคารอาจจะปล่อยสินเชื่อได้ต่ำกว่าเป้า 60,000 ล้านบาท จากเป้าหมายสินเชื่อใหม่ 203,000 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบของมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยในเดือน เม.ย.ปล่อยกู้ได้ราว 9,000 ล้านบาท และครึ่งแรกเดือน พ.ค.ปล่อยได้กว่า 4,000 ล้านบาท ลดลงถึง 30-35% และพบว่าตอนนี้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลลอปเปอร์) ส่งแฟ้มเอกสารลูกค้าในโครงการเพื่อยื่นขอสินเชื่อ ธอส.ลดลงไปถึง 50% โดยหันไปส่งให้ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์)แทน เนื่องจากแบงก์สามารถปล่อยกู้ส่วนเพิ่ม (on top) ได้

          อย่างไรก็ดี ลูกค้า ธอส.ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยหากไม่มีเงินออมเพียงพอก็จะไม่สามารถจ่ายเงินดาวน์ได้ ทำให้เข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เรียก ธอส.และธนาคารออมสินไปหารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และคาดจะหารือกับ ธปท.เพื่อแก้ปัญหาต่อไป

          อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธอส.ได้นำสื่อมวลชนศึกษาดูงานโครงการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ สถานสงเคราะห์ ผู้ยากไร้ "Darulaceze" ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี และเตรียมออกสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage (RM) กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท ก่อนวันที่ 17 มิ.ย.นี้ โดยวงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 50% ของราคาประเมิน และสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี ซึ่งผู้กู้สามารถรับเงินเป็นรายเดือนได้นานสูงสุด 25 ปี หรือจนถึงอายุ 85 ปี

          สำหรับการตอบรับสลากใบละ 1 ล้านบาท ที่ธอส.ขายนั้น นายฉัตรชัยกล่าวว่าภายใน พ.ค.-กลาง มิ.ย.นี้ ธอส. จะเริ่มให้ผู้ที่สนใจซื้อสลากดังกล่าว เข้ามา เปิดบัญชีเพื่อให้ธนาคารสุ่มเลือก ผู้มีสิทธิ์ โดยมีวงเงินทั้งสิ้น 27,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี ออกรางวัลครั้งแรกวันที่ 16 ก.ย. 2562 เดือนละ 27 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท

          "สลาก 1 ล้านบาทของ ธอส. จะเน้นขายยีลด์กับโอกาสในการถูกที่ สูงกว่า โดยมีโอกาสถูกถึง 0.1% ขณะที่ สลากทั่วไปอยู่ที่ 0.0001% ซึ่งเงินที่ได้จากสลากเราจะนำไปใช้ปล่อย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำราว 3% ต่อปี" นายฉัตรชัยกล่าว