รถไฟเชื่อม 3 สนามบินผ่านฉลุย!
Loading

รถไฟเชื่อม 3 สนามบินผ่านฉลุย!

วันที่ : 29 พฤษภาคม 2562
ครม.ผ่านฉลุยร่วมลงทุนไฮ สปีด เทรนสายแรกของไทยเชื่อม 3 สนามบิน อนุมัติงบลงทุน 149,650 ล้านบาท โดย รฟท.จ่ายให้กลุ่ม CPH ปีละ 14,965 ล้านบาท นาน 10 ปี นับจากปีแรกที่เปิดให้บริการในปี 2567 พร้อมสั่งตั้งหน่วยงานกำกับ 5 ด้าน ขณะที่ "อาคม" เผย ครม.ไฟเขียวสร้างรถไฟทางคู่ "บ้านไผ่-นครพนม" หลังรอคอยมากว่า 50 ปี
          รัฐลงขัน1.4แสนล้าน-รฟท.แบ่งจ่าย10ปี

          ครม.ผ่านฉลุยร่วมลงทุนไฮ สปีด เทรนสายแรกของไทยเชื่อม 3 สนามบิน อนุมัติงบลงทุน 149,650 ล้านบาท โดย รฟท.จ่ายให้กลุ่ม CPH ปีละ 14,965 ล้านบาท นาน 10 ปี นับจากปีแรกที่เปิดให้บริการในปี 2567 พร้อมสั่งตั้งหน่วยงานกำกับ 5 ด้าน ขณะที่ "อาคม" เผย ครม.ไฟเขียวสร้างรถไฟทางคู่ "บ้านไผ่-นครพนม" หลังรอคอยมากว่า 50 ปี

          นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเปิดเผยว่า  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (28 พ.ค.) มีมติอนุมัติและเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM,บริษัท China Railway Construction Corporation Limited, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนที่ได้รับคัดเลือกตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ได้เห็นชอบไว้ โดย ครม.เห็นชอบให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการนี้ วงเงิน 149,650 ล้านบาท ซึ่ง รฟท.จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการแก่เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกด้วยการแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละไม่เกิน 14,965 ล้านบาท เป็นเวลา 10 ปีหลังจากเริ่มการให้บริการโครงการ

          "กลุ่ม CPH ได้ยื่นเสนอมูลค่าเงินที่รัฐร่วมลงทุน 149,650 ล้านบาท เมื่อคำนวณเป็นมูลค่าปัจจุบัน (เอ็นพีวี) มีค่าเท่ากับ 117,226.87 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติไว้ที่ 119,425.75 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 2,198.88 ล้านบาท โดยให้เอกชนร่วมลงทุนเป็นเวลา 50 ปี และเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านจำนวนผู้โดยสารของโครงการโดยมีมูลค่าโครงการ ณ ราคาปัจจุบัน 224,500 ล้านบาท และอีก 50 ปี ข้างหน้าโครงการจะกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ คาดมูลค่าในขณะนั้นกว่า 300,000 ล้านบาท โดย รฟท.จะลงนามในสัญญากับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่ภาคเอกชนต้องจัดตั้งขึ้นมากลางเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ต้นปี 2567"
          ขณะเดียวกัน ครม.ได้เห็นชอบให้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อติดตาม กำกับและบริหารจัดการสัญญาร่วมลงทุนของโครงการ พร้อมทั้งกรอบอัตรากำลังและกรอบวงเงินค่าใช้จ่าย โดยต้องเริ่มทำงานทันทีที่สัญญาร่วมลงทุนโครงการมีผล คาดว่าประมาณเดือน ก.ค.2562 มีหน้าที่ความรับผิดชอบ 5 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายก่อสร้างและเดินรถ 2.ฝ่ายกำกับดูแลการส่งมอบโครงการAirport rail Link 3.ฝ่ายกำกับดูแลการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสารและพื้นที่เชิงพาณิชย์ 4.ฝ่ายกำกับดูแลสัญญา 5.ฝ่ายบริหารจัดการโครงการ โดยมีผู้อำนวยการโครงการ ซึ่งเป็นผู้แทนสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)บริหารและกำกับการทำงานของทั้ง 5 ฝ่าย

          นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบร่างประกาศ กพอ.เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการและพิธีการศุลกากรสำหรับเขตปลอดภาษีภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวกับกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้การจัดเก็บภาษีศุลกากร และการส่งของกลับเข้าเขตปลอดภาษีในเขตส่งเสริม เป็นไปด้วยความสะดวก และยังช่วยสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

          ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ครม.มีมติให้ รฟท.ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงินงบประมาณ 66,848.33 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 8 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2562-68 โดยในปี 2562 จะเริ่มเวนคืนที่ดิน 7,100 แปลงเพื่อมาก่อสร้าง ส่วนปี 2563 จะเริ่มประกวดราคา หลังจากนั้นก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2567 หรือต้นปี 2568 ซึ่งจากผลการศึกษาระบุว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะรองรับผู้โดยสารได้กว่า 3.8 ล้านคน/ปี รองรับปริมาณสินค้าได้ 700,000 ตัน/ปีและเมื่อเปิดให้บริการจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 13% นอกจากนั้นคาดการณ์ว่าในปี 2599 จะขนผู้โดยสารได้ 8.3 ล้านคน/ปี ขนสินค้าได้กว่า 1 ล้านตัน/ปี

          "รถไฟทางคู่สายนี้ ถือเป็นรถไฟสายใหม่ที่เพิ่งอนุมัติให้ก่อสร้าง เป็นโครงการที่จะทำมานานกว่า 50 ปีแล้ว และได้ศึกษาเมื่อปี 2532 โดยรัฐบาลจะรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ค่าเวนคืนต่างๆ ขณะที่กระทรวงการคลังจะจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ และ รฟท.เป็นผู้กู้เงิน จะมีพื้นที่เวนคืน 7,000 แปลง วงเงินเวนคืน 10,000 ล้านบาท"
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ