ทัพนักลงทุนกวางตุ้งขานรับEEC ซีพี ปิดดีลเงินกู้ตอกเข็มไฮสปีด
Loading

ทัพนักลงทุนกวางตุ้งขานรับEEC ซีพี ปิดดีลเงินกู้ตอกเข็มไฮสปีด

วันที่ : 12 มิถุนายน 2562
เมกะโปรเจ็กต์รับรัฐบาลใหม่ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้าน ร.ฟ.ท.เผยหลัง 24 มิ.ย.นี้เซ็นแน่สัญญา รอบอร์ดอีไอเอเคาะครั้งสุดท้าย เร่งถกกลุ่ม ซี.พี. ทำแผนส่งมอบพื้นที่ให้จบ 14 มิ.ย.นี้ บิ๊ก ซี.พี.ลั่นเคลียร์เงินกู้จบ 6 เดือน เปิดไซต์ตอกเข็มทันที เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์กวางตุ้งขนทัพนักลงทุนจีนกว่า 200 ราย พบ "สมคิด" ยื่น 5 ข้อเสนอ หนุนการค้า ลงทุน ท่องเที่ยวอีอีซี
          เมกะโปรเจ็กต์รับรัฐบาลใหม่ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้าน ร.ฟ.ท.เผยหลัง 24 มิ.ย.นี้เซ็นแน่สัญญา รอบอร์ดอีไอเอเคาะครั้งสุดท้าย เร่งถกกลุ่ม ซี.พี. ทำแผนส่งมอบพื้นที่ให้จบ 14 มิ.ย.นี้ บิ๊ก ซี.พี.ลั่นเคลียร์เงินกู้จบ 6 เดือน เปิดไซต์ตอกเข็มทันที เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์กวางตุ้งขนทัพนักลงทุนจีนกว่า 200 ราย พบ "สมคิด" ยื่น 5 ข้อเสนอ หนุนการค้า ลงทุน ท่องเที่ยวอีอีซี

          นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปลายเดือน มิ.ย.ถึงต้นเดือน ก.ค.นี้ จะเซ็นสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัดและพันธมิตรหรือกลุ่ม ซี.พี. ผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเลื่อนจากเดิมวันที่ 15 มิ.ย. 2562

          เซ็นแน่หลังวันที่ 24 มิ.ย.นี้

          "ยังระบุวันไม่ได้ คาดว่าหลัง 24 มิ.ย.นี้ ต้องรอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอที่ผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว"

          อีกทั้งรอผลเจรจากลุ่ม ซี.พี.ทำ แผนส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการวันที่ 14 มิ.ย.นี้ หากทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกัน 90% ถึงจะไปสู่ขั้นตอนลงนามในสัญญาได้ เป็นการดำเนินการตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีข้อสังเกตให้ ร.ฟ.ท.ประสานหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องวางแผนส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนอย่างมีประสิทธิภาพและรอบคอบให้เอกชนสามารถเข้าดำเนินโครงการได้โดยไม่ทำให้ ร.ฟ.ท.ผิดสัญญา ถูกเรียกค่าเสียหาย ถูกบอกเลิกสัญญาเหมือนโฮปเวลล์

          "เซ็นสัญญาได้ไม่ได้อยู่ที่อีไอเอ กับแผนส่งมอบพื้นที่ หากทั้ง 2 ส่วนไม่มีปัญหาก็เซ็นสัญญาได้เร็ว ตอนนี้อีไอเอไม่มีปัญหาแล้ว เหลือส่งมอบพื้นที่จะเป็นประเด็นใหญ่ จะพยายามให้จบวันที่ 14 มิ.ย.นี้กำลังรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนเพื่อทำแผนร่วมกับ ซี.พี. ซึ่ง ซี.พี.ต้องบอกให้ชัดอยากได้พื้นที่จุดไหนเป็นพิเศษ ถ้าบอกว่า 2 ปีแรกยังไม่ต้องการขอไปทำอย่างอื่นก่อน เราจะมีเวลาแก้ปัญหา โดยเฉพาะผู้บุกรุกที่ต้องใช้"

          รอเคลียร์ส่งมอบพื้นที่

          ตลอดแนวมีพื้นที่เป็นอุปสรรค ได้แก่ 1.พื้นที่บุกรุกแยกอุรุพงษ์ถึงพญาไท 88 ราย 2.พื้นที่ติดสัญญาเช่า 314 สัญญา 3.สาธารณูปโภคที่กีดขวาง เช่น สายไฟฟ้า ท่อประปา ท่อส่งน้ำมันของ ปตท.และตอม่อโฮปเวลล์ 80-90 ต้นที่ต้องทุบทิ้ง และ 4.พื้นที่ทับซ้อนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กับรถไฟไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น และบางซื่อ-พญาไทกับสายสีแดงอ่อน Missing Link จะสร้างเป็นอุโมงค์เปิด ซึ่ง ซี.พี.ต้องออกค่าก่อสร้างไปก่อนทั้ง 2 ช่วง 7,100 ล้านบาท

          "ร.ฟ.ท.จะส่งมอบพื้นที่ให้เสร็จ 2 ปี ส่งมอบได้ทันที 100 ไร่ที่สถานีมักกะสัน พัฒนาเชิงพาณิชย์ อีก 40 ไร่ส่งมอบใน 5 ปีติดรื้อย้ายพวงราง ส่วนบริเวณสถานีอู่ตะเภา ขอใช้พื้นที่กับกองทัพเรือแล้ว"

          ขณะที่การเวนคืนใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง 850 ไร่ 3,570 ล้านบาท จุดใหญ่อยู่จ.ฉะเชิงเทรา 550 ไร่ มีค่าเวนคืน 3,000 ล้านบาทและสิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง รอออก พ.ร.ฎ.เวนคืน

          การเซ็นสัญญาทางกลุ่ม ซี.พี. ต้องตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 4,000 ล้านบาทมาเป็นคู่สัญญา จากนั้นจะให้เวลากลุ่ม ซี.พี.ทำแผนก่อสร้าง ออกแบบรายละเอียด แผนการเงิน ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้เสร็จ 270 วัน หรือ 9 เดือนนับจากเซ็นสัญญา ถึงจะเริ่มก่อสร้างได้

          รายงานข่าวแจ้งว่า อีอีซีได้กำหนดวันเซ็นสัญญาไว้แล้วหลังคณะกรรมการผู้ชำนาญการอนุมัติอีไอเอ เป็นหลังวันที่ 24 มิ.ย. แต่ไม่สามารถบอกวันได้ เกรงจะไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ คาดว่า จะเป็นช่วงเดียวกับที่จัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จปลาย มิ.ย.นี้ หากเป็นตามกำหนดการนี้ เท่ากับว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นโครงการใหญ่โครงการแรกที่รัฐบาลชุดใหม่ได้เซ็นสัญญา

          "เซ็นสัญญาแล้วยังเริ่มสร้างไม่ได้ ซี.พี.ต้องออกแบบรายละเอียด ทำแผน การกู้เงิน แผนธุรกิจ อย่างเร็วปลายปีนี้ น่าจะเริ่มสร้างได้"

          ซี.พี.ขอเวลา 6 เดือนตอกเข็ม

          ก่อนหน้านี้นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พร้อมจะเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นการลงทุนโครงการใหญ่ที่ท้าทาย เนื่องจากมีความเสี่ยงและผลตอบแทนไม่สูง เอกชนจะต้องหาเงินลงทุนทั้งหมดตั้งแต่เริ่มโครงการ ได้เจรจาในหลักการกับพันธมิตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว ต้องลงรายละเอียดเรื่องการระดมทุน หาเงินกู้มาลงทุนโครงการ ตั้งเป้าจะให้จบใน 6 เดือนหรืออาจจะเร็วกว่านั้น จากนั้นถึงจะเริ่มงานก่อสร้างได้

          แหล่งเงินทุนมีทั้งธนาคารไทยที่เป็นธนาคารรัฐและพาณิชย์ มีองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ของญี่ปุ่นและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน (CDB) เพราะทั้ง 2 ประเทศนี้ส่งเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว จะเข้าใจว่าผลตอบแทนโครงการไม่สูง ทำให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างดี ส่วนเรื่อง single lending limit หรือหลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้รายใหญ่สามารถขอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นรายโครงการได้ เพราะเป็นโครงการของประเทศและเป็นโครงการที่รัฐร่วมกับเอกชน สามารถจะพิจารณานอกกรอบปกติได้

          จีนกวางตุ้ง 200 รายบุก EEC

          งานสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจ การค้าจีน-ไทย เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายหลี่ ซี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า เพื่อขยาย ความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจของจีน เข้ากับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และไทยแลนด์ 4.0 สร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน ขยายมูลค่าการค้า ระหว่างไทยและจีน ให้บรรลุเป้าหมาย 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564 จะเสนอความร่วมมือ 5 ข้อ ให้กับรัฐบาลไทย พิจารณา

          ได้แก่ 1.นำพื้นที่กวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า สร้างเป็นคลัสเตอร์เชื่อม EEC 2.ขยายการลงทุนมาไทยมากขึ้น ที่ผ่านมา ไทยลงทุนที่จีน 755 โครงการ ส่วนจีนลงทุนที่ไทย 123 โครงการ

          3.ยกระดับการค้ากวางตุ้งมณฑลใหญ่ มี GDP เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 9.73 ล้านล้านหยวนในปี 2561 และปี 2562 จะถึง 10 ล้านล้านหยวน จีนนิยมสินค้าเกษตร ประมง เครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทย และจีนก็มีสินค้าสิ่งทอ เซรามิก ทั้ง 2 ประเทศสามารถใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซซื้อขายกันได้

          4.ร่วมมือแปรรูปสินค้าเกษตร ประมง เพราะไทยมีจุดแข็งด้านสินค้า ส่วนจีนมีพื้นที่ทางทะเลและพื้นที่ชนบทพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสวยงามได้ และ 5.ขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวไทยกับจีน

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า การนำคณะนักลงทุนจากมณฑลกวางตุ้งมาไทยถึง 200 คน ครั้งนี้สะท้อนว่า ไทยและจีนมีความสัมพันธ์อันดีร่วมกันมาโดยตลอด ตอกย้ำว่าไทยเป็นปิกแผ่น เป็นเอกภาพ ผ่านการเลือกตั้งและแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรีคนใหม่ สะท้อนความมีเสถียรภาพ ความต่อเนื่องของนโยบายที่จะสานต่อ โดยเฉพาะการเป็นภาคี One Belt One Road ซึ่งไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพ ประชุมอาเซียน ในเดือน มิ.ย.นี้ จะเสนอบทบาทการค้าการลงทุนกับจีนให้อาเซียนทราบ โดยการเชื่อมจีนทางตอนใต้กับ อาเซียนให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน

          "การเสนอ 5 ข้อของนายหลี่ เพื่อเชื่อมโยงการลงทุนมายัง EEC จับมือร่วมกันทางด้านการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว นับเป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ได้ประโยชน์ ทั้ง 2 ฝ่าย"
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ