ธปท.แก้ล็อกปล่อยกู้รายใหญ่
Loading

ธปท.แก้ล็อกปล่อยกู้รายใหญ่

วันที่ : 24 กรกฎาคม 2562
"แบงก์ชาติ" ผ่อนเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ "ลูกหนี้รายใหญ่" รับแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เปิดทาง "สาขาธนาคารต่างประเทศ" ร่วมปล่อยสินเชื่อเมกะโปรเจ็กต์เต็มเหนี่ยว หนุนกระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศ ตอบโจทย์ "ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน" 2.2 แสนล้าน กลุ่ม ซี.พี. "ชาติศิริ" ยันแบงก์กรุงเทพพร้อมปล่อยกู้ไฮสปีด
          เปิดทางCPหาเงินลุยไฮสปีด

          "แบงก์ชาติ" ผ่อนเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ "ลูกหนี้รายใหญ่" รับแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เปิดทาง "สาขาธนาคารต่างประเทศ" ร่วมปล่อยสินเชื่อเมกะโปรเจ็กต์เต็มเหนี่ยว หนุนกระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศ ตอบโจทย์ "ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน" 2.2 แสนล้าน กลุ่ม ซี.พี. "ชาติศิริ" ยันแบงก์กรุงเทพพร้อมปล่อยกู้ไฮสปีด

          ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า เมื่อ 10 กรกฎาคม 2562 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศหนังสือเวียนเรื่อง แนวทางการพิจารณาผ่อนผันการกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (Single Lending Limit : SLL) แก่กลุ่มที่มีศักยภาพและฐานะกิจการมั่นคงให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติ ด้วยเหตุผลที่ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ขณะที่ระบบการเงินไทยยังมีขนาดเล็ก ทำให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มีข้อจำกัดในการระดมทุน เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีแหล่งเงินทุนเพื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยที่ยังคงสามารถรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ธปท.จึงได้ปรับปรุงแนวทางการผ่อนผันการกำกับลูกหนี้ รายใหญ่ให้สะท้อนความเสี่ยงจากการ กระจุกตัวกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น

          ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์การกำกับลูกหนี้ รายใหญ่ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ให้สถาบันการเงินให้สินเชื่อลงทุน ก่อภาระ ผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือแก่บุคคลหลายคนรวมกันในโครงการหนึ่งโครงการใด หรือเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ไม่เกิน 25% ของเงินกองทุนทั้งหมด

          ผ่อนผันลูกหนี้รายใหญ่

          นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธปท.ได้ปรับเกณฑ์ผ่อนผันการกำกับลูกหนี้รายใหญ่แก่กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพและมีฐานะกิจการที่มั่นคงสำหรับธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง ธปท.จะพิจารณาให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อ ได้เกิน 25% ของเงินกองทุน เป็นรายกรณีไป ภายใต้เกณฑ์การกำกับที่ต้องดูแลความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย

          "เกณฑ์ SLL เพดานยังอยู่ที่ 25% แต่ก็มีผ่อนผันได้เป็นรายกรณีไป ซึ่งก็มีหลักเกณฑ์ที่เราปรับปรุงประกาศไป โดยการปรับปรุงประกาศนี้ก็เพื่อรองรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และอะไรที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศทั้งหลาย ก็สามารถใช้ได้ แม้จะเป็นการปล่อยกู้ให้เอกชน แต่เอกชนลงทุนในโครงการของรัฐบาล ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ในประกาศฉบับนี้" นายรณดลกล่าว

          กระจายเสี่ยงไป ตปท.

          นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การปรับเกณฑ์ SLL เป็นการเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินในประเทศได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเพื่อให้กลุ่มลูกหนี้รายใหญ่สามารถใช้แหล่งเงินกู้ที่กระจายความเสี่ยงไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น ธปท.จึงผ่อนผันการคำนวณอัตราส่วนการกำกับลูกหนี้ รายใหญ่ กรณีการปล่อยสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่มีหนังสือค้ำประกันจากบริษัทแม่ใน ต่างประเทศ สามารถที่จะปล่อยกู้ได้ในสัดส่วนที่สูงกว่าเกณฑ์เดิม เป็นการกระจายความเสี่ยงให้สถาบันการเงินได้มีโอกาสร่วมกันให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการขนาดใหญ่

          "โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานมีหลายโครงการ ไม่ได้มีเฉพาะรถไฟความเร็วสูง เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โทรคมนาคม พลังงาน เป็นต้น โดยหากธนาคารพาณิชย์ขอผ่อนผันเกณฑ์สูงขึ้น เท่าใด ก็จะต้องใช้ค่าน้ำหนักความเสี่ยง (risk weight) มาคำนวณเพิ่มขึ้นไปเท่านั้น ตามที่กำหนดในตาราง risk weight เพื่อให้สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น"

          เพิ่มน้ำหนักความเสี่ยงลูกหนี้

          นางจันทวรรณกล่าวว่า โดยสรุปแนวทางการพิจารณาผ่อนผันการคำนวณอัตราส่วนการกำกับลูกหนี้รายใหญ่ (SLL) ฉบับใหม่ เน้นการยกระดับธรรมาภิบาล การบริหารจัดการความเสี่ยง และการมีเงินกองทุนรองรับที่เพียงพอ ซึ่ง ต่างจากแนวทางเดิม 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1) กำหนดนิยามของกลุ่มลูกหนี้ที่จะขอผ่อนผัน SLL ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือครอบคลุมถึงธุรกิจที่เป็นกลไกสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและธุรกิจที่ลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน

          2) การกำหนดค่าน้ำหนักความเสี่ยง (risk weight) จากเดิมใช้คำนวณเงินกองทุนส่วนเพิ่มในอัตราคงที่ (50%) เป็นให้ใช้น้ำหนักความเสี่ยงตามระดับการกระจุกตัว/วงเงินที่ขอผ่อนผันของกลุ่มลูกหนี้ หากธนาคารพาณิชย์ขอผ่อนผัน SLL ในวงเงินยิ่งสูง ก็ต้องใช้ค่าน้ำหนักความเสี่ยงในสัดส่วนที่สูงขึ้น (ตั้งแต่ 60-100%) เพื่อให้สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น

          3) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญกับข้อมูลความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ทางการเงินของกลุ่มลูกหนี้รายใหญ่ เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่มีต่อกันได้ รวมทั้ง มีเงินกองทุนเพียงพอเพื่อรองรับการ กระจุกตัวจากการให้สินเชื่อแก่กลุ่มลูกหนี้รายใหญ่ และในการขอผ่อนผัน SLL ต้องได้รับมติเอกฉันท์จากคณะกรรมการธนาคารพาณิชย์ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่พิจารณาอนุมัติเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ที่เหมาะสม และจัดทำ stress test หรือการทดสอบภาวะวิกฤตที่ความเสียหาย 100% เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้ที่ 36% และ 60% โดยต้องจัดทำแผนรองรับความเสียหายต่อเงินกองทุน หาก BIS ratio หลังทำ stress test ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงจัดทำแผนทยอยลดวงเงินสินเชื่อด้วย

          4) เปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในการให้สินเชื่อแก่โครงการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น โดยการผ่อนผันให้ไม่ต้องนำมาคำนวณ SLL กรณีการให้สินเชื่อ ของสาขา ธพ.ต่างประเทศ (full branch) ที่มี standby L/C เป็นประกันจากสำนักงานใหญ่ หรือสาขาอื่นในต่างประเทศ เฉพาะส่วนที่เกิน 25% แต่ไม่เกิน 100% ของเงินกองทุนของสาขา ธพ.ต่างประเทศ โดยต้องเข้าเงื่อนไขทุกข้อที่ ธปท.กำหนด

          โดยนโยบายการผ่อนผันดังกล่าว ธปท.บังคับใช้ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2562 ทั้งนี้ ธปท.ให้ธนาคารพาณิชย์จัดส่งแบบคำขอผ่อนผันและเอกสารประกอบการพิจารณา และกำหนดจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับจากวันที่ได้รับเอกสาร

          ซี.พี.ดิ้นหาเงินกู้ 2 แสนล้าน

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การผ่อนเกณฑ์ของ ธปท.ก็เพื่อ รองรับการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งทางเอกชนจะต้องหาเงินมาลงทุนก่อนราว 2 แสนล้านบาท เนื่องจากโครงการนี้ ภาครัฐจะจ่ายเงินให้เอกชนหลังจากโครงการเสร็จ และสามารถเดินรถได้แล้ว ดังนั้นช่วงแรกเอกชนก็ต้องหาแหล่ง เงินกู้เองทั้งหมด โดยวงเงินดังกล่าวถือว่าสูงมาก หากภาครัฐไม่ช่วยสนับสนุน เอกชนก็จะเหนื่อยในการหาแหล่งเงินทุน

          "ต้องดูด้วยว่ากลุ่มพันธมิตรของบริษัท ซี.พี. มีการแบ่งสัดส่วนการจัดหาแหล่งเงินทุนอย่างไร เพราะมีพันธมิตรจากจีนด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่าการจัดหาแหล่งเงินทุนทำในนามคอนซอร์เตี้ยม หรือในนามบริษัทต้องดูโครงสร้างตรงนี้ด้วย และมีความเป็นไปได้ที่ทางกลุ่ม ซี.พี.จะขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ด้วย เนื่องจากวงเงินลงทุนสูง ต้องใช้เงินจำนวนมาก"

          "ชาติศิริ" ถกปล่อยกู้ไฮสปีด

          นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การหารือเรื่อง เงินกู้โครงการไฮสปีดเทรน คิดว่าคงต้องรอความชัดเจนจากฝั่งผู้ลงทุนก่อน "ช่วงนี้ ยังอยู่ระหว่างคุยกันอยู่ ยังเร็วไปที่จะพูดในรายละเอียด" ซึ่งธนาคารกรุงเทพก็พร้อมจะพิจารณาปล่อยกู้ โดยร่วมกับสถาบันการเงินอื่น ๆ (ซินดิเคตโลน)

          สำหรับการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารกรุงเทพในช่วงครึ่งปีแรกยังทรงตัว ขณะที่ในครึ่งปีหลังคาดการณ์ว่า ความต้องการสินเชื่อในภาพรวมจะ ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากขณะนี้มีการจัดตั้ง รัฐบาลเรียบร้อยแล้ว น่าจะทำให้นักลงทุน มีความมั่นใจมากขึ้น

          นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตนยังไม่เห็นเกณฑ์ SLL ที่ ธปท.ปรับปรุงใหม่ ซึ่งเข้าใจว่าเพดานปล่อยกู้ยังกำหนดไว้ไม่เกิน 25% ของเงินกองทุน เพียงแต่อาจมีการขอผ่อนผันได้เป็นรายกรณีไป หากจะปล่อยเกินจากเกณฑ์ดังกล่าว สำหรับโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินนั้น การปล่อยกู้ก็ขึ้นกับว่าโครงการมีความต้องการเงินลงทุนมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องมีการบริหารจัดการ ซึ่งจากที่ประเมินก็จะเป็นวงเงินที่สูง อย่างไรก็ดี ขณะนี้คงต้องรอความชัดเจน

          ลุ้นเซ็นสัญญาไฮสปีด ส.ค.นี้

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มีมูลค่าโครงการ 224,544 ล้านบาท โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพันธมิตร หรือกลุ่ม ซี.พี. เป็นผู้ชนะการประมูล โดย ซี.พี.เสนอให้รัฐร่วมลงทุน 10 ปี ตั้งแต่ปีที่ 6-15 ปีละ 14,965 ล้านบาท รวม 149,650 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 117,227 ล้านบาท แลกกับการได้รับสัมปทานบริหารโครงการและพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่มักกะสันและศรีราชา เป็นระยะเวลา 50 ปี

          ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ตั้งเป้าจะเซ็นสัญญาสิ้นเดือน ก.ค.นี้ แต่ยังติดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง คาดว่าการเซ็นสัญญาจะเลื่อนไป เป็นภายในเดือน ส.ค.นี้ หลังจากเซ็นสัญญา กลุ่ม ซี.พี.จะต้องตั้งบริษัทเฉพาะกิจบริหารโครงการด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท จากนั้นทยอยเพิ่มทุนตามที่กำหนดในทีโออาร์ 25,000 ล้านบาท รวมถึงจะต้องหาเงินกว่า 1 แสนล้านบาท มาก่อสร้างโครงการในช่วง 5 ปีแรก เนื่องจากรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ในปีที่6-15 ขณะที่ยังมีภาระค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชากว่า 5 หมื่นล้านบาท และค่าใช้สิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาท

          สำหรับพันธมิตรที่ร่วมประมูล โครงการนี้ ได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ถือหุ้น 5% บจ.ไชน่า คอนสตรักชั่น คอร์ปอเรชั่น จากประเทศจีน ถือหุ้น 10% บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ถือหุ้น 15% และกลุ่มพันธมิตร ซี.พี. 70%

          ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) ได้ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำหรับแหล่งเงินทุนในโครงการ ไฮสปีดที่เจรจามาด้วยตลอดมีทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ของไทย และองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ แห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ของญี่ปุ่น และธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (China Development Bank) เพราะทั้ง 2 ประเทศนี้ส่งเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อยู่แล้ว ซึ่งจะเข้าใจว่าผลตอบแทนโครงการไม่สูง ทำให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างดี ส่วนเรื่องการปล่อยกู้โครงการขนาดใหญ่ก็สามารถขอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นรายโครงการได้ เพราะเป็นโครงการของประเทศและเป็นโครงการที่รัฐร่วมกับเอกชน สามารถจะพิจารณานอกกรอบปกติได้
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ