แบงก์กระอัก สินเชื่อบ้านทรุด 20%
Loading

แบงก์กระอัก สินเชื่อบ้านทรุด 20%

วันที่ : 28 กรกฎาคม 2562
แบงก์ระบุครึ่งปีสินเชื่อบ้านหด 20%เผยโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์-ชะลอก่อสร้าง คุมสต๊อก ขณะผู้ประกอบการรายใหญ่หันออกหุ้นกู้ดอกเบี้ย 3-4% ซื้อที่ดิน "เกียรตินาคิน-กรุงศรี-ซีไอเอ็มบีไทย" ประสานเสียง เศรษฐกิจซ้ำเติม LTV ประเมินครึ่งปีหลังตลาดซึมทั้งระบบ หากรัฐบาลไม่ส่งสัญญาณกระตุ้น-คนมีความพร้อมยังรอตัดสินใจ
           แบงก์รอวัดใจรัฐบาล
           แบงก์ระบุครึ่งปีสินเชื่อบ้านหด 20%เผยโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์-ชะลอก่อสร้าง คุมสต๊อก ขณะผู้ประกอบการรายใหญ่หันออกหุ้นกู้ดอกเบี้ย 3-4% ซื้อที่ดิน "เกียรตินาคิน-กรุงศรี-ซีไอเอ็มบีไทย" ประสานเสียง เศรษฐกิจซ้ำเติม LTV ประเมินครึ่งปีหลังตลาดซึมทั้งระบบ หากรัฐบาลไม่ส่งสัญญาณกระตุ้น-คนมีความพร้อมยังรอตัดสินใจ
           ครึ่งปีที่ผ่านมา 10 ธนาคารพาณิชย์มียอดปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 1.89 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมปีนี้ 9,966.39 ล้านบาทหรือคิดเป็น 0.53% เมื่อเทียบสิ้นปีที่ผ่านมาพบว่าตัวเลขเพิ่มขึ้น 42,979.38 ล้านบาทหรือ 2.33% เฉพาะสิ้นเดือนเมษายน2562 สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์รวม 3.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 249,754.36 ล้านบาทคิดเป็น 9.00% ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อ ผู้ประกอบการ (โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์) 715,196.78 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนปีก่อน 63,531.56 ล้านบาทคิดเป็น 2.30% และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล 2.29 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 186,222.8 ล้านบาทคิดเป็น 8.82%
           นายสำมิตร สกุลวิระ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน)(บมจ.) กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อ อสังหาริมทรัพย์ทรงตัวไม่เพิ่มและไม่ลด แต่หากดูเฉพาะรายสถาบันหรือบางบริษัทอาจจะแตกต่างกัน โดยโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ของเกียรตินาคินยังมีลูกค้ารายใหญ่เข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่มีการเบิกสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินยังไม่ทำโครงการเพราะยังคงเหลือสต๊อก ประกอบกับดีมานด์ยังไม่มาพอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาทสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 5.7หมื่นล้านบาท
           "ผู้ประกอบการนั้นมีความพร้อมจะทำโครงการใหม่แต่ดีมานด์ยังไม่มาแถมสัญญาณโอนก็ช้า ครึ่งปีแรกยังเห็นรายใหญ่ในตลาดท็อป 10 ออกหุ้นกู้รับดอกเบี้ยต่ำ 3-4% แทนกู้แบงก์บ้าง ส่วนใหญ่ใช้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดิน ซึ่งสิ่งที่แบงก์ชาติเป็นห่วงธุรกิจรายใหญ่นั้นอาจมองเชิงตัวเลขก้อนใหญ่ หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นอาจจะกระทบระบบ แต่ตอนนี้ทั้งแบงก์ทั้งผู้ประกอบการและลูกค้า คนซื้อเขาก็ระมัดระวังมากขึ้น"
           นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่าสถานการณ์ สินเชื่อบ้านในส่วนของบุคคลครึ่งปีนั้น ไตรมาส 1 ขยายตัว 20% จากปีก่อนแต่เมื่อรวมครึ่งปีหรือ 2ไตรมาสแล้วกลับหดตัว 20% (รอตัวเลขจริงครึ่งปีสิงหาคมนี้) ช่วงที่เหลือกรณีเลวร้าย (Worst Case) บนพื้นฐานไม่มีมาตรการกระตุ้นหรือประคองตลาดอสังหาฯจะเห็นทั้ง 3 ไตรมาส (ไตรมาส 2, 3 และ 4) ติดลบไตรมาสละ 20% ทำให้ภาพรวมทั้งปีติดลบ 10-15% แต่หากมีมาตรการประคองอาจหดตัวเพียง 5-10% เพราะทุกคนจะกลับเข้าสู่วงรอบ เพราะมาตรการกำกับอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 นั้นกระทบตลาดจริงเพียงประมาณ 10% แต่ภาวะเศรษฐกิจผสมโรงและคนมีกำลังซื้อระดับกลางที่ยังไม่ตัดสินใจซื้อทำให้ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยหดตัวแรง
           "ขณะนี้มีผลพวงจากเศรษฐกิจชะลอตลาดจึงหดตัว 20% ผสมโรงเกณฑ์คุม LTV ที่กระทบราว 10% บวกปัจจัยคนมีความพร้อมประวิงเวลาซื้อเพราะเศรษฐกิจไม่ดีด้วย และรอมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลใหม่เพราะเชื่อว่าสินเชื่ออสังหาฯมีผลต่อจีดีพีในระดับหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงกับหลายกิจกรรมของเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นหากจะมีมาตรการประคองหรือกระตุ้นคนที่มีความพร้อมจะไม่ประวิงเวลา "
           หากประเมินครึ่งปียอดสินเชื่อสุทธิอาจจะโต 2-3% หรือหดตัวนิดหน่อย ซึ่งปีนี้ตลาดคาดสินเชื่อปล่อยใหม่อาจติดลบ 15% ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างขยายตัวราว 3.5% เป็นอย่างน้อย ซึ่งสะท้อนแนวโน้มหดตัวลงจากปีก่อนที่ยอดสินเชื่อคงค้างในระบบรวมเติบโต 7.7% ขณะที่สินเชื่อปล่อยใหม่เติบโตได้ 10.9% ซึ่งเฉพาะกรุงศรีอยุธยายอดสินเชื่อคงค้างเติบโตต่อเนื่องโดยมีสินเชื่อปล่อยใหม่มากกว่ายอดสินเชื่อเก่าที่ปิดสัญญา
           นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ช่วงที่เหลือความต้องการที่แท้จริงยังคงมีอยู่ทั้งในบ้านหลังแรกและหลังที่ 2 สำหรับกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ ซึ่งหากทางการมีนโยบายออกมาชัดเจนว่าจะมีหรือไม่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯเชื่อว่ากลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อและโครงการต่างๆจะกลับมาตัดสินใจ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตจะมีการวางแผนที่ดีและมีทางเลือกที่ดีกว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการก็มีโปรโมชันออกมาทำตลาดแต่อาจเป็นผลจากปลายปีก่อนและไตรมาสแรกตลาดสินเชื่อบ้านเร่งโอนไปก่อนหน้าทำให้ไตรมาส 2 เริ่มรับผลกระทบจาก LTV ซึ่งแนวโน้มทั้งปีมีโอกาสต่ำเป้าหมายกันเป็นส่วนใหญ่เพราะลูกค้าเองต้องระวังมากขึ้นและธนาคารจะเน้นบริหารความเสี่ยงส่งเสริมคนมีเครดิตซื้อที่อยู่อาศัย
          "ทั้งปียอมรับสินเชื่อมีโอกาสต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยครึ่งปีแรกตัวเลขสินเชื่อปล่อยใหม่เข้ามาแล้ว 11,000 ล้านบาทซึ่งไม่เติบโตตามคาดที่ 30% แต่เราได้ลูกค้ามีเครดิตคุณภาพดี จึงไม่ห่วงเอ็นพีแอล เพราะบ้านเป็นสินเชื่อที่จำเป็นเพียงแต่ธปท.คุม LTV เพื่อลดความร้อนแรงและราคา อสังหาฯก็ยังไม่แพงเกินไป"
ข่าวนโยบายการเงิน-การคลัง อื่นๆ