มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำหนุนอสังหาฯเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์
Loading

มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำหนุนอสังหาฯเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์

วันที่ : 11 พฤศจิกายน 2562
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงานจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาคครึ่งแรกปี 2562 ภาคตะวันตก ถือเป็นภาคที่มีการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด แบ่งเป็นแนวราบอยู่ที่ 4,659 หน่วย อาคารชุด 697 หน่วย รวมอยู่ที่ 5,356 หน่วย โดยมีเพียงจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ที่โดดเด่นในธุรกิจกลุ่มนี้
          ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงานจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาคครึ่งแรกปี 2562 ภาคตะวันตก ถือเป็นภาคที่มีการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด แบ่งเป็นแนวราบอยู่ที่ 4,659 หน่วย อาคารชุด 697 หน่วย รวมอยู่ที่ 5,356 หน่วย โดยมีเพียงจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ที่โดดเด่นในธุรกิจกลุ่มนี้ และจังหวัดเพชรบุรีติด 1 ใน 5 อันดับจังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดสูงสุด ด้วยจำนวน 398 หน่วย มีมูลค่ากว่า 989 ล้านบาท (ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอชะอำ เมืองเพชรบุรี และบ้านแหลม) และคาดว่าจะมีโอกาสที่ดีในอนาคตหากเกิดการปรับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ

          "ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์" ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. กล่าวว่า จากการสำรวจช่วงศรึ่งแรกปี 2562 โดยนับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า 6 หน่วย ของภาคตะวันตกใน 2 จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ พบว่าภาพรวมซัพพลายเหลือขาย ณ ครึ่งหลังปี 2561 กระจายตัวอยู่ประมาณ 6,295 หน่วย แบ่งเป็น เพชรบุรี 4,011 หน่วย ประจวบคีรีขันธ์ 2,284 หน่วย เฉลี่ยเป็นคอนโดฯ 59% อีก 41% เป็นบ้านแนวราบ ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 28% ทาวน์เฮาส์ 4% บ้านแฝด 4% และอื่น ๆ มีเปิดใหม่ในครึ่งแรกของปี 2562 ประมาณ 2,010 หน่วย ขายออกไปแล้ว 1,595 หน่วย ทำให้เหลือขายรวม 6,710 หน่วย

          "ภาพรวมตลาดอาคารชุดกว่า 1,953 หน่วย มียอดขายอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นหลัก ถัดมาเป็นบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ 105 หน่วย ราคาอยู่ที่ 2-3 ล้านบาทเป็นหลัก ส่วนบ้านเดี่ยว 584 หน่วย ที่ส่วนมากขายได้ในจังหวัดเพชรบุรี ด้านหน่วยที่ขายได้ใหม่ 1,595 หน่วย พบว่าเป็นปริมาณคอนโดฯ มากถึง 900 กว่าหน่วย และเกือบ 800 หน่วย ขายอยู่ในจังหวัดประจวบฯ บ้านแนวราบและบ้านเดี่ยว 240 หน่วย รวมทั้งทาวน์เฮาส์ บ้านแฝด หรืออาคาพาณิชย์ ขณะที่บ้านแนวราบและบ้านเดี่ยวขายอยู่ที่เพชรบุรีเพียง 167 หน่วย สังเกตว่าเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา เพชรบุรีขายได้ลดลงกว่าเดิมเล็กน้อย ติดลบไปประมาณ 1.5% แม้ว่าจะดีกว่าประจวบคีรีขันธ์ แต่ประจวบคีรีขันธ์กลับขายดีกว่า และส่วนใหญ่จะขายอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในย่านเขาตะเกียบและเขาหินเหล็กไฟ ราคาขายมากสุดอยู่ที่ 2-3 ล้านบาท และ 3-5 ล้านบาท"

          ขณะที่ภาพรวมตลาดบ้านจัดสรรและอาคารชุด มีจำนวนโครงการและจำนวนหน่วยที่อยู่ระหว่างขายทั้งหมด (total supply) ในจังหวัดเพชรบุรีเป็นบ้านจัดสรร 1050 หน่วย อาคารชุด 3,101 หน่วย รวม 4,151 หน่วย ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นบ้านจัดสรร 2,262 อาคารชุด 1,741 หน่วย รวม 4,003 หน่วย ฉะนั้น จำนวนหน่วยที่อยู่ระหว่างขายของ 2 จังหวัด ทั้งบ้านจัดสรรและอาคารชุดอยู่ที่ 8,154 หน่วย โดยเป็นสัดส่วนอาคารชุด 4,842 หน่วย บ้านเดี่ยว 2,325 หน่วย ทาวน์เฮาส์ 403 หน่วย บ้านแฝด 288 หน่วย อาคารพาณิชย์ 130 หน่วย และที่ดินเปล่า 166 หน่วย

          ทั้งนี้ ประมาณการอุปทานเหลือขายที่อยู่อาศัยในตลาด ภาคตะวันตก ปี 2563 ภาคตะวันตก มีจำนวนหน่วยเหลือขาย ณ ปี 2563 ประมาณ 4,566 หน่วย บ้านจัดสรรมีประมาณ 1,824 หน่วย คิดเป็น 39.9% อาคารชุดมีประมาณ 2,742 หน่วย คิดเป็น 60.1% หน่วยที่มีมากที่สุด คือ อาคารชุด 60.1% รองลงมาเป็น บ้านเดี่ยว 29.3% ทาวน์เฮาส์ 5.1% บ้านแฝด 4.0% ที่เหลือเป็นอาคารพาณิชย์ จังหวัดเพชรบุรีมีจำนวนหน่วยเหลือขาย ประมาณ 2,914 หน่วย เป็นบ้านจัดสรร 651 หน่วย คิดเป็น 22.3% อาคารชุด 2,263 หน่วย คิดเป็น 77.7% หน่วยมากที่สุดคือ อาคารชุด 77.7% รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว 18.8% ทาวน์เฮาส์ 2.2% บ้านแฝด 0.7% ที่เหลือเป็นอาคารพาณิชย์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีจำนวนหน่วยเหลือขาย ประมาณ 1,652 หน่วย เป็นบ้านจัดสรร 1,173 หน่วย คิดเป็น 71.0% อาคารชุด 479 หน่วย คิดเป็น 29.0% หน่วยที่มีมากที่สุด คือ บ้านเดี่ยว 47.8% รองลงมาเป็นอาคารชุด 29.0% ทาวน์เฮาส์ 10.2% บ้านแฝด 9.8% ที่เหลือเป็นอาคารพาณิชย์

          "พราวพุธ ลิปตพัลลภ" กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) บอกว่า ตลาดอสังหาฯระดับลักเซอรี่ระหว่างพื้นที่ชะอำ หัวหิน ปราณบุรี เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนเพราะมีอยู่น้อยมาก อย่างพื้นที่หัวหิน ปัจจุบันมีขายอยู่เพียง 3 โครงการ มีขายมาตั้งแต่ปี 2561 มีการลงทุนจากดีเวลอปเปอร์ชาวต่างชาติเข้ามาบ้าง โดยเป็นกลุ่มลูกค้าจากประเทศเดียวกันกับดีเวลอปเปอร์ที่มาลงทุน ซึ่งทางจังหวัดพยายามจะจัดอีเวนต์ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นสปอร์ตเฟสติวัล รวมไปถึงอินฟราสตรักเจอร์ด้านต่าง ๆ เพื่อจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้กับจังหวัดที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังแคบอยู่

          "เชื่อว่าอินฟราสตรักเจอร์หรือโครงสร้างต่าง ๆ ที่จะเข้ามา หรือที่จะเกิดขึ้นที่หัวหิน จะสามารถขยายโอกาสได้ เช่น โครงการมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ขยายการจราจรทำให้ผู้คนสัญจรไปมาได้สะดวกขึ้น โครงการขยายรันเวย์หัวหินของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งสายการบินกำลังมีการศึกษาเที่ยวบินเพิ่มจากที่มีไฟลต์บินจากมาเลเซียเพียงเที่ยวเดียว ภายใน 3 ปีต่อจากนี้จะมีคนแห่ซื้อที่ดินเพิ่มขึ้น และการลงทุนอยู่ที่ความสามารถในการหาที่ดิน"
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ