BTSลุยสารพัดโปรเจ็กต์มั่นใจคว้าอู่ตะเภา-สีส้ม
Loading

BTSลุยสารพัดโปรเจ็กต์มั่นใจคว้าอู่ตะเภา-สีส้ม

วันที่ : 9 ธันวาคม 2562
BTS ประกาศเอาจริง ลงชิงรถไฟฟ้า-มอเตอร์เวย์ พร้อมประมูลสายสีส้ม มั่นใจ คว้าอู่ตะเภา ด้านมอเตอร์เวย์คาดลงนามต้นปี 2563 เตรียมประมูลรางคู่สถานีตากสิน รอ ครม. อนุมัติสายสีเขียวอีก 30 ปี ยืนยันไม่เพิ่มทุนใน 3 ปี ขณะที่เปิดรถไฟฟ้า 4 สถานีผลตอบรับดี ดันผู้โดยสารโต 5% งบครึ่งหลังปี 2563ดีกว่าครึ่งแรก
    BTS ประกาศเอาจริง ลงชิงรถไฟฟ้า-มอเตอร์เวย์ พร้อมประมูลสายสีส้ม มั่นใจ คว้าอู่ตะเภา ด้านมอเตอร์เวย์คาดลงนามต้นปี 2563 เตรียมประมูลรางคู่สถานีตากสิน รอ ครม. อนุมัติสายสีเขียวอีก 30 ปี ยืนยันไม่เพิ่มทุนใน 3 ปี ขณะที่เปิดรถไฟฟ้า 4 สถานีผลตอบรับดี ดันผู้โดยสารโต 5% งบครึ่งหลังปี 2563ดีกว่าครึ่งแรก

    นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมองหา โอกาสในการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องการขนส่งทางบกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้บริการรถไฟฟ้า- มอเตอร์เวย์ ซึ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการได้มากขึ้นในอนาคต

    โดยสนใจเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 120,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้ซื้อซองประกวดราคาในช่วงครึ่งแรกของปี 2563

    ขณะที่การประมูลโครงการสนามบินอู่ตะเภาที่ร่วมกันกับ BA และ STEC นั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการรอผลแต่เบื้องต้นทางกลุ่มร่วมการค้าเองก็ค่อนข้างมีความมั่นใจ

    โปรเจ็กต์ล้นมือ ด้านความคืบหน้าการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ซึ่งเป็นโครงการกิจการร่วมค้าระหว่างบริษัท BTS กับทาง GULF STEC RATCH (สัดส่วนการลงทุน แบ่งเป็น 40%, 40%, 10% และ 10% ตามลำดับ) จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร และสายบางใหญ่- กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กิโลเมตร เบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะสามารถลงนาม (MOU) กับกรมทางหลวงได้ภายในช่วงต้นปี 2563

    ส่วนการก่อสร้างปรับเปลี่ยนสถานีสะพานตากสินเป็นรางคู่ ล่าสุดได้รับความเห็นชอบของรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการ (EIA) โดยขั้นตอนต่อไปจะเปิดประมูลผู้รับเหมาและดำเนินการก่อสร้าง และอยู่ระหว่างการเจรจากับทางกรุงเทพมหานครว่าจะแบกรับในสัดส่วนเท่าไร่ ไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากนัก ส่วนมูลค่าการลงทุนรวม 1,100 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเบี่ยงสะพาน 300 ล้านบาท และก่อสร้างสถานี 800 ล้านบาท

    รอต่อสัมปทาน

    บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี จากที่จะหมดสัญญาในปี 2573 ซึ่งได้ข้อยุติแล้วในการที่จะรับสัมปทานติดตั้งระบบไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นทาง โดยบริษัทยอมรับในหลักการจัดเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทต่อเที่ยว รวมทั้งภาระหนี้จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้และเหนือที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะโอนมา ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และการลงทุนเพิ่มในส่วนต่อขยาย รวมประมาณ 100,000 ล้านบาท

    โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการร่างสัญญาและได้รับการตรวจจากอัยการสูงสุด และได้ส่งให้กระทรวงมหาดไทย (หน่วยงานต้นสังกัดของกรุงเทพมหานคร)  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงได้นำเข้ายื่นกับทางคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อรอเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

    งบครึ่งหลังดีขึ้น

    สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังงบปี 2563 นี้ (ต.ค. 62-มี.ค 63) จะมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องจากครึ่งแรกปี ทั้งนี้ บริษัทยังคงประมาณการจำนวนผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้าสายหลัก (สายสุขุมวิท) เติบโตทั้งปี 2562/63 (เม.ย 62 - มี.ค. 63) ไว้ไม่ต่ำกว่า 4 - 5% จากปีก่อน โดยไตรมาส 2/2563 (ก.ค.-ก.ย. 62) มีจำนวนเที่ยวการเดินทางถึง 63.9 ล้านเที่ยวคน

    ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย. ต.ค. 62) มีจำนวนเที่ยวการเดินทางเติบโตแล้วมากกว่า 4.40% ซึ่งมองว่ายังคงอยู่ในกรอบการเติบโตที่บริษัทตั้งเป้าหมายไว้ ขณะที่จำนวนเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่  781,000 เที่ยวต่อวัน ด้านราคาค่าโดยสารยังอยู่ในระดับทรงตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ 28.80 บาท ต่อเที่ยว โดยหลักๆ เป็นผลมาจากการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ทั้งสาย และการเปิดสถานีแรกของโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ส่งผลให้มองว่าปัจจัยข้างต้นจะช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายหลักได้มากยิ่งขึ้น

    อีกทั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 บริษัท ได้เริ่มทดลองให้บริการเพิ่มอีก 5 สถานี ได้แก่ สถานี พหลโยธิน 24-รัชโยธิน-เสนานิคม-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค่อนข้างได้รับการตอบรับที่ดี โดยการเดินรถไฟฟ้าช่วงส่วนต่อขยายสถานีห้าแยกลาดพร้าว ปัจจุบันมีผู้โดยสายใช้บริการสูงถึง 40,000-50,000 คนต่อวัน

    ภายในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2563 บริษัทคาดว่าจะมีรถไฟฟ้าให้บริการในระบบรวมจำนวน 98 ขบวน หรือราว 392 ตู้ จากปัจจุบันบริษัทมีรถไฟฟ้าให้บริการในระบบทั้งสิ้น 84 ขบวน หรือ ประมาณ 336 ตู้ และยังสามารถรักษาอัตราความถี่ ในการเดินรถในระดับเดิมได้ดีต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็นความถี่ของการเดินรถอยู่ที่ 3 นาที 45 วินาที ส่วนนอกช่วงเวลาเร่งด่วนรวมถึงเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ความถี่การเดินรถจะอยู่ระหว่าง 6 ถึง 8 นาที
    นายสุรยุทธ ระบุว่า จากการเปิดให้บริการสถานีใหม่ส่วนต่อขยายเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทจะมีรับรู้รายได้จากการบริหารรถไฟฟ้าและการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 3,400 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่รับรู้รายได้จากค่าจ้างเดินรถสายอ่อนนุช-แบริ่ง, ตากสิน-บางหว้า ที่รับอยู่ 1,500 ล้านบาทต่อปี

    ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย- มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ยังคงเดินหน้าตามกรอบเวลา สามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนตุลาคม 2564 ตามกำหนด โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากค่าก่อสร้างประมาณ 23,000-27,000 ล้านบาท

    ไม่เพิ่มทุน
    โดยบริษัทยืนยันไม่มีแผนเพิ่มทุนในช่วงระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ เนื่องจากมีกระแสเงินสด และแหล่งเงินทุนเพียงพอ แม้ว่าจะมีการลงทุนจำนวนมาก โดยบริษัทได้รับเงินจากการใช้สิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (BTS-W4) ประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้เงินกู้ทั้งหมด โดยทำให้ลดอัตราดอกเบี้ยจ่ายได้ประมาณ 200 ล้านบาท และทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำกว่า 0.8 เท่า
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ