คมนาคม เร่งแผนลงทุน เข็นทางหลวงอีอีซี 746กม.
Loading

คมนาคม เร่งแผนลงทุน เข็นทางหลวงอีอีซี 746กม.

วันที่ : 20 มกราคม 2563
นอกจากโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลพยายามเร่งรัดการประมูลแล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับรองได้ถูก เร่งรัดเช่นกัน โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้การเดินทางและขนส่งสินค้า คล่องตัวขึ้น
          วรรณิกา จิตตินรากร

          กรุงเทพธุรกิจ

          นอกจากโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลพยายามเร่งรัดการประมูลแล้ว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับรองได้ถูก เร่งรัดเช่นกัน โดยเฉพาะการคมนาคมขนส่ง เพื่อให้การเดินทางและขนส่งสินค้า คล่องตัวขึ้น

          ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้มอบนโยบายให้กรมทางหลวง (ทล.) และทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เตรียมพร้อมเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 โดยขอให้เริ่มเบิกจ่ายทันที ภายหลังจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีผล ประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าจะเหลือเวลาในการทำงาน อีกราว 6 เดือน ดังนั้นทุกหน่วยงาน ต้องเร่งเบิกจ่าย ดำเนินการตามแผนงาน ให้แล้วเสร็จภายใน 30 ก.ย.2563

          สำหรับกรมทางหลวงได้รับจัดสรรงบประมาณอยู่ที่ 115,888 ล้านบาท ส่วนใหญ่ ใช้ดำเนินแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 67,287 ล้านบาท หรือ 58% ซึ่งโครงการสำคัญที่จะถูกจัดใช้ภายใต้งบประมาณ ปี 2563 อาทิ 1.สะพานมิตรภาพระหว่างไทย-ประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 15 แห่ง เปิดให้บริการแล้ว 10 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่าง การก่อสร้าง 1 แห่ง มีแผนจะก่อสร้าง 4 แห่ง

          ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อ วันที่ 4 มิ.ย.2562 อนุมัติโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ระยะทางรวม 16.18 กม. ซึ่งจะดำเนินการ ก่อสร้างในปี 2563 และแล้วเสร็จปี 2565

          นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำคัญเพื่อพัฒนาทางหลวงรองรับอีอีซี ระยะทางรวม 746 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จครบทุกโครงการ ภายในปี 2566  รวมไปถึงโครงการขยายทางสายประธานให้เป็น  4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2 ) จำนวน 11 โครงข่าย ระยะทางรวม 5,246 กิโบเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 483 กิโลเมตร หรือ 9.2% ก่อสร้างแล้วเสร็จ 4,239 กิโลเมตร หรือ 80.8% และคงเหลือแผนงานในอนาคต 524 กิโลเมตร หรือ 10%

          รายงานข่าวจากกรมทางหลวง ระบุว่า โครงการพัฒนาของกรมทางหลวงเพื่อเพิ่มศักยภาพให้อีอีซีตามแผนงานปี 2563 พบว่า มี 8 โครงการ ระยะทางรวม 154.68 กิโลเมตร ค่าก่อสร้างรวมประมาณ 27,880 ล้านบาท ประกอบไปด้วย

          1.โครงการปรับปรุงต่างระดับเขาไม้แก้ว จ.ฉะเชิงเทรา วงเงิน 600 ล้านบาท 2.ก่อสร้าง ทางต่างระดับแกลง จ.ระยอง วงเงิน 350 ล้านบาท 3.ก่อสร้างสายทางบางบุตร-ชุมแสง จ.ระยอง ระยะทาง 30.416 กิโลเมตร วงเงิน 1,350 ล้านบาท

          4.ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองพนัสนิคม (ทางแนวใหม่ 4 ช่องจราจร) จ.ชลบุรี ระยะทาง  43.62 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 5,600 ล้านบาท 5.ทางเลี่ยงเมืองมาบตาพุด (ทางแนวใหม่ 8 ช่องจราจร) จ.ระยอง ระยะทาง 30 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 6,000 ล้านบาท

          6.ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา แนวใหม่ (ทางแนวใหม่ 6 ช่องจราจร) จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 50.63 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 13,500 ล้านบาท 7.ก่อสร้างสะพานต่างระดับถนนสุขุมวิทแยกเมืองใหม่ หรือสะพานกลับรถ หน้ากสิกรไทย จ.ชลบุรี วงเงินก่อสร้าง 240 ล้านบาท และ 8.ก่อสร้างสะพานกลับรถ ถนนสุขุมวิท บริเวณคลองบางละมุง จ.ชลบุรี ใช้วงเงินก่อสร้าง 240 ล้านบาท

          นอกจากนี้ กรมทางหลวงคาดหวังว่าเมื่อพัฒนาโครงสร้างทางถนนในอีอีซีแล้ว จะเป็นประโยชน์จากหลักการ Road User Cost ในด้านการประหยัดเวลาการเดินทาง ของคนและสินค้า (Time saving for passenger and freight) หรือการ ลดความสูญเสียจากความล่าช้าในการเดินทาง

          ทั้งนี้ เบื้องต้นประเมินว่า เมื่อโครงการทุกโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางถนนก่อสร้างแล้วเสร็จะส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ย บนโครงข่ายทางหลวงอีอีซี (จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง) จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบกับกรณีที่ไม่มีโครงการพัฒนาทางหลวง สามารถทำความเร็ว อยู่ที่เฉลี่ย 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

          ขณะเดียวกัน กรณีไม่มีโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอีอีซี ประเมินว่า ก่อให้เกิด ความสูญเสียจากความล่าช้าในการเดินทาง 10.75 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 3,900 ล้านบาทต่อปี

          สำหรับโครงข่ายทางหลวงพื้นที่อีอีซี ที่อยู่ ในแผนดำเนินการของกรมทางหลวงทั้งหมด ประกอบไปด้วย 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 โครงการ ระยะทาง 149 กิโลเมตร 2.โครงการประเภทมาตรฐานชั้นทางพิเศษ (4 ช่องจราจร) จำนวน 9 โครงการ ระยะทาง 196 กิโลเมตร

          3.โครงการบูรณะปรับปรุง (4 ช่องจราจร) จำนวน 1 โครงการ ระยะทาง 40 กิโลเมตร 4.โครงการประเภทมาตรฐานชั้นทางพิเศษ (6 ช่องจราจร) จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 118 กิโลเมตร 5.โครงการประเภทมาตรฐาน ชั้นทางพิเศษ (8 ช่องจราจร) จำนวน 9 โครงการ ระยะทาง 139 กิโลเมตร และ 6.โครงการสะพานข้ามแยก สะพานกลับรถและสะพานข้ามทางรถไฟ รวมจำนวน 5 โครงการ

          รวมทั้งกรมทางหลวงยังมีโครงการลงทุนก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เพื่อเพิ่มศักยภาพการเดินทาง เชื่อมต่อในอีอีซี 6 โครงการ ประกอบไปด้วย มอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้าง 20,200 ล้านบาท สถานะโครงการปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ

          รวมไปถึงมอเตอร์เวย์ M61 สายชลบุรีนครราชสีมา (แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ทล.359) ระยะทาง 117 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 28,000 ล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ M61 สายชลบุรี-นครราชสีมา (ปราจีนบุรี ทล.359- นครราชสีมา) ระยะทาง 171 กิโลเมตร วงเงิน 37,000 ล้านบาท

          โครงการมอเตอร์เวย์ M72 สายชลบุรี-ตราด (ชลบุรี-แกลง) ระยะทาง 94 กิโลเมตร วงเงิน 22,000 ล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ M72 สายชลบุรี-ตราด (แกลง-ตราด) ระยะทาง 116 กิโลเมตร วงเงิน 27,400 ล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์สายทางต่างระดับบ้านเก่า ระยะทาง 116 กิโลเมตร วงเงิน 2,500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ