แลนด์ สวนกระแส อัดงบ7พันล้าน ลุยซื้อที่ดิน
Loading

แลนด์ สวนกระแส อัดงบ7พันล้าน ลุยซื้อที่ดิน

วันที่ : 20 มกราคม 2563
บิ๊กเนมชะลอตุนซื้อที่ดินปี 63 บางทำเล หากเห็นซัพพลายล้น รับมือเศรษฐกิจโลกชะลอ พฤกษา เดินตามแผน แลนด์ ทุ่มงบซื้อที่ดินสูงกว่า
          บิ๊กเนมชะลอตุนซื้อที่ดินปี 63 บางทำเล หากเห็นซัพพลายล้น รับมือเศรษฐกิจโลกชะลอ พฤกษา เดินตามแผน แลนด์ ทุ่มงบซื้อที่ดินสูงกว่า

          บริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ส่วนมากมักชะลอซื้อที่ดินในปี 2563 ต่อเนื่องมาจากปี 2562 จาก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กำลังซื้อหายไปจากตลาด สถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ ผลกระทบเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือแอลทีวี ประกอบกับราคาที่ดินขยับแพงเว่อร์ ไม่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยขายในราคาที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อโดยเฉพาะทำเลในเมืองแนวรถไฟฟ้า

          นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ พฤกษาเรียลเอสเตท-พรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) ระบุว่า ปี 2563 บริษัทชะลอซื้อที่ดินบางทำเล แนวเส้นทางรถไฟฟ้าออกไป หากเห็นว่ามีซัพพลายสูง และเน้นทำเลที่มีกำลังซื้อจริง

          สอดคล้องกับ นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ริชี่เพลซ 2002 ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย สะท้อนว่าเศรษฐกิจค่อนข้างชะลอตัว ผลกระทบจากแอลทีวี จึงเป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม บางทำเลซัพพลายล้น มีหลายปัจจัยมากระทบ ส่งผลให้หลายค่ายต่างปรับลดการซื้อที่ดินและชะลอโครงการ เช่นเดียวกับบริษัทปรับแผนขึ้นโครงการในบางทำเลแต่โครงการติดสถานีรถไฟฟ้ามองว่ายังไปได้

          ขณะ ค่ายแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ปี 2563 ใช้งบซื้อที่ดินสูงกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา 2,000 ล้านบาท อาจเป็นไปได้ว่าราคาที่ดินสูงขึ้นหรือต้องการขยายโครงการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น นายนพร สุนทรจิตต์เจริญ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่าในปี 2563 บริษัทเตรียมงบลงทุนประมาณ 11,000 ล้านบาท

          ประกอบด้วยงบสำหรับการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประมาณ 7,000 ล้านบาท และงบลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่าอีกจำนวน 4,000 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะขายอพาร์ตเมนต์ 1 แห่งในสหรัฐอเมริกา และมีแผนที่จะออกหุ้นกู้อีกจำนวน 14,000 ล้านบาท จากแผนการดำเนินงานของบริษัทในปี 2563 คาดว่า ณ สิ้นปี 2563 บริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเมื่อสิ้นปี 2562 โดยจะมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ย. . . ลดลงกว่าระดับเฉลี่ย ณ สิ้นปี 2562

          อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับปี 2562 บริษัทมีรายจ่ายด้านการลงทุนประมาณ 6,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายจ่ายในการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย 5,000 ล้านบาท และรายจ่ายในการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการให้เช่า มูลค่ารวม 1,500 ล้านบาท ประกอบด้วยลงทุนในการพัฒนาโครงการช็อปปิ้งมอลล์เทอร์มินอล 21 จำนวน 900 ล้านบาท และลงทุนในธุรกิจโรงแรมและอพาร์ตเมนต์ 600 ล้านบาท

          ขณะเดียวกันในปี 2562 บริษัทขายโรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์พอยท์ สุขุมวิท 55 ให้กับกองทุนทรัสต์ เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ LHHOTEL ในมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท โดยมีกำไรก่อนภาษีเป็นจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท ส่วนการเปิดโครงการใหม่ปีที่ผ่านมามี 16 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 30,535 ล้านบาท

          'หลายค่ายต่างปรับลดการซื้อที่ดินและชะลอโครงการ เช่นเดียวกับบริษัทปรับแผนขึ้นโครงการในบางทำเล แต่ โครงการติดสถานีรถไฟฟ้า มองว่ายังไปได้
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ