เปิดโพย ที่จอดรถ 2.7 หมื่นคัน จูงใจทิ้งรถส่วนตัวนั่งรถไฟฟ้า
Loading

เปิดโพย ที่จอดรถ 2.7 หมื่นคัน จูงใจทิ้งรถส่วนตัวนั่งรถไฟฟ้า

วันที่ : 10 กุมภาพันธ์ 2563
การจัดพื้นที่จอดแล้วจร หรือ park & ride ในแนวรถไฟฟ้า นับเป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลที่พยายามจะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม
          การจัดพื้นที่จอดแล้วจร หรือ park & ride ในแนวรถไฟฟ้า นับเป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลที่พยายามจะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม

เพื่อเป็นการจูงใจให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น หากสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหา หลายอย่าง ทั้งแก้ปัญหา รถติดในเมืองกรุง ลดมลพิษ และฝุ่น PM 2.5

          ย้อนไปเมื่อปี 2559 หลัง "รัฐบาล คสช." มี "บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาบริหารงานได้ไม่นาน มีไอเดียให้สร้างที่จอดรถเพิ่ม โดยให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

          "มีแนวคิดจะทำอย่างไรให้ลดปัญหาการจราจรได้ สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้หาความเชื่อมโยงต่อระบบขนส่งมวลชน ซึ่งรอยต่อของแต่ละช่วงจะต้องมีที่จอดรถ จึงให้แนวทางกับผู้ที่เกี่ยวข้องไปหารือกับเอกชน ร่วมมือลงทุนสร้างที่จอดรถในเมือง เป็นตึกสูงประมาณ 10 ชั้น จากนั้นก็บริหารจัดการ เก็บค่าเช่า จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาการจราจรดีขึ้น" เป็นข้อสั่งการของ "บิ๊กตู่" เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

          ล่าสุดเรื่องที่จอดรถถูกหยิบนำมา เป็นหัวข้อการหารือในวงประชุมแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดย "สนข.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร" ได้บรรจุมาตรการจัดพื้นที่จอดแล้วจรไว้เป็นหนึ่งในแผนระยะกลาง (2565-2569) ที่จะมาแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วในอนาคต

          ในข้อมูลของ "สนข." ฉายภาพถึงพื้นที่จอดแล้วจรแนวรถไฟฟ้าในแผนแม่บท 12 สายทาง อยู่ในความรับผิดชอบของ "รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย" และ "ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย" รวมทั้งหมด 27,025 คัน

          แบ่งเป็นรถไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จ มีที่จอดรถ จำนวน 6,420 คัน ได้แก่ สายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จำนวน 5,520 คัน มีสถานีนนทบุรี 1 จำนวน 1,100 คัน สถานีท่าอิฐ 1,070 คัน สถานีแยกบางใหญ่ 1,450 คัน และสถานีคลองบางไผ่ 1,900 คัน และ สายแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 900 คัน มีสถานีบ้านทับช้าง 50 คัน สถานีลาดกระบัง 500 คัน และสถานีหัวหมาก 350 คัน

          อยู่ในแผนและอยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 9,955 คัน สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค ที่สถานีหลักสอง 1,000 คัน สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ สถานี กม.25 จำนวน 1,042 คัน สถานี คูคต 713 คัน สายสีส้มที่สถานี คลองบ้านม้า 1,200 คัน สถานีมีนบุรี 3,000 คัน สายสีเหลืองที่สถานีศรีเอี่ยม 3,000 คัน

          อยู่ในแผนแต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง จำนวน 3,400 คัน อยู่ในสายสีม่วงใต้ช่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่สถานีบางปะกอก 1,700 คัน และสถานีราษฎร์บูรณะ 1,700 คัน

          ขณะเดียวกัน "สนข." ได้กำหนดพื้นที่เสนอแนะให้สร้างเพิ่มเติม จำนวน 7,250 คัน แยกเป็นในแนวสายสีแดงช่วงบางซื่อ- รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่รังสิต 4,000 คัน กาญจนาภิเษก 500 คัน ตลิ่งชัน 500 คัน

          แนวแอร์พอร์ตลิงก์ที่ลาดกระบัง 500 คัน และบ้านทับช้าง 50 คัน สายสีชมพูแคราย- มีนบุรี ที่วัชรพล 1,000 คัน แคราย 50 คัน สายสีเขียวที่ตลาดพลู 150 คัน สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่บางหว้า 500 คัน

          นอกจากแผนงานของ "สนข." แล้ว ในส่วนของผังเมืองรวมกรุงเทพ มหานครฉบับใหม่ที่กำลังจะบังคับใช้ ได้เพิ่มมาตรการลดจำนวนที่จอดรถ 25% ในโครงการคอนโดมิเนียมทำเลใจกลางเมืองใกล้รถไฟฟ้า

          ในทางกลับกัน จะส่งเสริมทำเลชานเมืองที่อยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่เชื่อม ให้พัฒนาพื้นที่จอดรถเพิ่มขึ้น โดยแลกกับได้รับโบนัส FAR (สัดส่วนพื้นที่อาคารต่อขนาดที่ดิน) เพิ่มขึ้นไม่เกิน 20%

          มี 22 สถานี ได้แก่ สถานี กม.25, ดอนเมือง, หลักสี่, วัชรพล, มีนบุรี, บางซื่อ, ลาดพร้าว, หมอชิต, บางบำหรุ, ตลิ่งชัน, ศูนย์วัฒนธรรมฯ, บางกะปิ, มักกะสัน, หัวหมาก, ลาดกระบัง, ศูนย์สิริกิติ์, สะพานตากสิน, หลักสอง, ศรีเอี่ยม, สะพานพระราม 9, ราษฎร์บูรณะ, รางโพธิ์

          หวังดึงคนชานเมืองหันมาใช้รถไฟฟ้าเข้าเมืองมากขึ้น เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แต่สิ่งที่คิดจะเป็นจริงได้แค่ไหน ก็ต้องติดตามกัน ต่อไป
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ