ฟันธงปีนี้อสังหาทรงตัว-ปัจจัยลบอื้อ
Loading

ฟันธงปีนี้อสังหาทรงตัว-ปัจจัยลบอื้อ

วันที่ : 14 กุมภาพันธ์ 2563
ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯคาดปีนี้ตลาดที่อยู่อาศัยยังทรงตัว แต่หาก ศก.ผงกหัวอาจโตได้ 5-7% เล็งยกระดับศูนย์ข้อมูลเป็นศูนย์อสังหาริมทรัพย์แห่งชาติรวมบิ๊กดาต้าด้านอสังหาฯ ช่วยตัดสินใจในระดับนโยบาย
        ชี้ห้องชุดยังพระเอกกินแชร์55%
        เล็งยกศขอ.เป็นศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ
        ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯคาดปีนี้ตลาดที่อยู่อาศัยยังทรงตัว แต่หาก ศก.ผงกหัวอาจโตได้ 5-7% เล็งยกระดับศูนย์ข้อมูลเป็นศูนย์อสังหาริมทรัพย์แห่งชาติรวมบิ๊กดาต้าด้านอสังหาฯ ช่วยตัดสินใจในระดับนโยบาย
        นายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.) เปิดเผยว่า มีแผนที่จะยกระดับศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เป็นศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้าของประเทศสามารถนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ได้หลากหลายมิติ และต้องทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกหน่วยงาน และประชาชนทั่วไปให้ได้รับประโยชน์จากข้อมูลและการวิเคราะห์ของ ศขอ. เพราะการมีผู้ใช้บริการข้อมูลเป็นจำนวนมากก็จะเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของข้อมูลและระดับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ ว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด โดยข้อมูลที่พัฒนาต้องพร้อมใช้งานและเป็นที่ต้องการของหน่วยงานต่างๆ เช่น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หน่วยงานอื่นๆ และบริษัทอสังหาริมทรัพย์
        "การขึ้นเป็นศูนย์ข้อมูลแห่งชาตินั้นจะสร้างความยั่งยืนให้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง ศขอ.ต้องสนับสนุนข้อมูลใน 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับการวางแผนและการตัดสินใจเชิงนโยบาย ในระดับภาคอสังหาริมทรัพย์ และระดับสังคมและสาธารณะ" นายปริญญากล่าว
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการ ศขอ. กล่าวว่า สถานการณ์ที่อยู่อาศัยในปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่ามียอดโอนกรรมสิทธิ์ 373,365 ยูนิต มูลค่ารวม 875,189 ล้านบาท ขยายตัว 2.7% และ 4.3% ตามลำดับจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ 8.2-8.4% เนื่องจากรัฐบาลได้ออก 3 มาตรการมากระตุ้น คือ การลดหย่อนภาษีเงินได้จากการซื้อบ้านและห้องชุด (บ้านหลังแรก) ไม่เกิน 200,000 บาท การลดค่าธรรมเนียมการโอนและลดค่าจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับการซื้อบ้านจัดสรรและห้องชุดราคาไม่เกิน 1 ลบ. (รวมบ้านสร้างใหม่ และบ้านมือสอง) และการลดค่าธรรมเนียมการโอน และลดค่าจดจำนองเหลือ         0.01% สำหรับการซื้อบ้านจัดสรรและห้องชุดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท
        โดยปี 2562 มีจำนวนยูนิตที่ได้รับอนุญาตจัดสรรลดลงประมาณ 9% ขณะที่อาคารชุดรับใบอนุญาตก่อสร้างลดลง 24%
        นายวิชัยกล่าวว่า ส่วนทิศทางที่อยู่อาศัยปี 2563 คาดว่าผลจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ มาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาล การผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ของ ธปท. และปัจจัยลบ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การระบาดของไวรัสโคโรนา สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน คาดว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภททั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 372,500-400,660 ยูนิต ขยายตัว 0.2-7.3% และมีมูลค่า 853,100-917,100 ล้านบาท ขยายตัว 2.5-4.8% โดยในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมียอดโอนประมาณ 197,500-214,300 ยูนิต ขยายตัว 0.2-8.3% และมีมูลค่า 571,200-614,000 ล้านบาท ขยายตัว 0.2-7.3% ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 117,400-126,780 ยูนิต มูลค่ารวม 284,360-305,700 ล้านบาท โดยกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีสัดส่วน 73.6% และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 78.1% ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 คาดว่าจะมีการชะลอการโอนของคนจีนบ้างเนื่องจากการระบาดไวรัสโคโรนา แต่มีผลกระทบไม่มากเนื่องจาก ผู้ซื้อห้องชุดคนจีนมีสัดส่วนพียง 6% ของผู้ซื้อทั้งหมดเท่านั้น
        "โดยสรุปคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้น่าจะทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2562 หรืออาจจะขยายตัวได้ 5-7% หากเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมีการขยายตัวดีขึ้น" นายวิชัยกล่าว
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ