รัฐ-เอกชนผนึกกำลัง พัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง
Loading

รัฐ-เอกชนผนึกกำลัง พัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง

วันที่ : 20 กุมภาพันธ์ 2563
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "พันธมิตรระบบราง สร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย" ว่าการลงนามดังกล่าวเป็นไปสานนโยบายระดับกระทรวงที่จะต่อยอดนโยบาย "Thai First"
          นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "พันธมิตรระบบราง สร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย" ว่าการลงนามดังกล่าวเป็นไปสานนโยบายระดับกระทรวงที่จะต่อยอดนโยบาย "Thai First" โดยเป็นการรวบรวมบัญชีนวัตกรรมต่างๆ ตั้งแต่ วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยี รวมถึงทักษะต่างๆที่คนไทยสามารถดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อให้วางมาตรฐานร่วมกันและนำไปสู่การพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ในประเทศ รวมถึง นำไปสู่การกำหนดจัดซื้อจัดจ้างการผลิตในประเทศ ต่อไปแต่ก่อนหน้านั้นจะต้องกำหนดมาตรฐานรวมกันได้นั้นก็จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในระดับงานวิจัย ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

          ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายในการวางมาตรฐานเพื่อกำหนดชิ้นส่วนของรถไฟและกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์รถไฟ ภายในประเทศให้ได้ 40% ในปี 2566 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ปัจจุบันไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ในระบบส่งกำลัง ระบบเบรก และอุปกรณ์ภายในตัวรถได้แล้ว ซึ่งขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เริ่มสั่งซื้อขบวนรถบรรทุกสินค้าที่ประกอบภายในประเทศแล้วจึงมองว่าจะทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบราง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กเติบโตมากขึ้น ส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศก็จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงที่ปัจจุบันมีการใช้งบประมาณ 9,600 ล้านบาทต่อปี รวมถึงในอนาคตคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึงกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี และอาจช่วยลดราคาค่าโดยสารของผู้ใช้บริการได้อีกด้วย

          อย่างไรก็ตามขร. อยู่ระหว่างการพัฒนา ศึกษา และวิจัย ในการผลิตเครื่องยึดเหนี่ยวราง (Rail Fastener) โดยผู้ประกอบการไทยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน จากนั้นจะทำการทดสอบทุกสภาวะอากาศระยะเวลา 1 ปี หากไม่มีปัญหาคาดว่าจะเริ่มใช้ภายใน ปี 2566 ทั้งนี้เครื่องยึดเหนี่ยวรางดังกล่าว นำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด

          ขณะที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการส่งเสริมการพัฒนาระบุบราง ระหว่างกรมการขนส่งทางราง กับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 15 หน่วยงาน โดยระบุว่า การพัฒนาระบบรางต้องพัฒนาใน 2 ส่วนไปพร้อมกัน ทั้งด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและบุคลากร ซึ่งสถาบันวิจัยต่างๆที่ร่วมลงนามครั้งนี้จะเข้ามามีบทบาทในการ ช่วยกันพัฒนาและผลักดันระบบรางให้มีศักยภาพ และเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมรางในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

          นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) กล่าวว่า BTS พร้อมให้ความร่วมมือในการนำวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศมาใช้ในรถไฟฟ้า BTS ซึ่งปัจจุบัน BTS ใช้อะไหล่และระบบอาณัติสัญญาณระบบโลกบริษัท บอมบาดิเอร์ ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ให้ BTS อยู่ และได้ตั้งโรงงานผลิตระบบเบรกและระบบอาณัติสัญญาณบางส่วนในไทย

          ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่ BTS ได้รับสัมปทานเป็นผู้ดำเนินการนั้นในส่วนของระบบสับหลีกรางนั้นบริษัท บอมบาดิเอร์ ก็ได้จ้างให้บริษัทในประเทศไทยเป็นผู้ผลิต ซึ่งจากการใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศในหลายๆส่วนทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการใช้อุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศกว่า 5-10%

          ทั้งนี้ ทาง BTS อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัท ซีเมนส์ และบริษัทที่ผลิตขบวนตู้รถไฟฟ้าจากประเทศจีน ให้มาประกอบขบวนรถไฟฟ้าในไทย เนื่องจากมองว่าในอนาคตไทยจะมีความต้องการเกี่ยวกับการผลิตของรถไฟฟ้าจำนวนมาก และอนาคตไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
 
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ