คอลัมน์ ปักหมุดทำเลทอง: ชิงเดือด ม่านรูด อพอลโล่ ทุนใหญ่เล็งยึดผุดคอนโด
Loading

คอลัมน์ ปักหมุดทำเลทอง: ชิงเดือด ม่านรูด อพอลโล่ ทุนใหญ่เล็งยึดผุดคอนโด

วันที่ : 23 กุมภาพันธ์ 2563
ที่ดินติดถนนวิภาวดีฯ ตอนต้นกลายเป็นขุมทองโชว์รูมรถยนต์ยี่ห้อดัง เช่นเดียวกับโชว์รูมเชฟโรเลต ย่านวัดเสมียนฯ สาขาวิภาวดีฯ เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ แม้จะเลิกกิจการในประเทศไทย แต่มีทุนจีนเข้ามาปักหมุดแทนที่
          ที่ดินติดถนนวิภาวดีฯ ตอนต้นกลายเป็นขุมทองโชว์รูมรถยนต์ยี่ห้อดัง เช่นเดียวกับโชว์รูมเชฟโรเลต ย่านวัดเสมียนฯ สาขาวิภาวดีฯ เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ แม้จะเลิกกิจการในประเทศไทย แต่มีทุนจีนเข้ามาปักหมุดแทนที่ จากการบอกเล่าของพนักงานที่ระบุว่าพื้นที่นี้จะถูกเปลี่ยนเป็นแบรนด์ "เกรท วอลล์" เชื่อว่าโซนนี้จะสร้างสีสันเมืองแห่งยนตรกรรมในระยะยาว ขณะดีเวลอปเปอร์แทบทุกค่ายที่หมายตาต่างผิดหวังด้วยความเสียดาย เนื่องจากที่ดินอยู่ห่างจากรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีวัดเสมียนนารี วัดจากสายตาไม่น่าเกิน 200 เมตร อีกทั้งยังใกล้แยกรัชโยธิน วิ่งเชื่อมโยงไปยัง พหลโยธินรัชดาฯ ได้อย่างสะดวก

          ละแวกเดียวกันทีมข่าวออกแรงเดินเพียงไม่กี่ก้าว ก็พบกับโครงการคอนโดมิเนียมหรู ยู ดีไลท์ รัชวิภา บริษัทแกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ราคาเริ่มต้นกว่า 2 ล้านบาทต่อหน่วย จำนวน 879 หน่วย เป็นอาคารสูง 23 ชั้น ตั้งตระหง่านบนที่ดินแปลงใหญ่ เนื้อที่ 6 ไร่ ล่าสุดเพิ่งปิดการขายไปเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สร้างความคึกคัก อย่างมาก บนถนนสายนี้

          ลัดเลาะไปตามคูน้ำริมถนนวิภาวดี ผ่านปั๊มน้ำมัน สลับกับโชว์รูมรถยนต์ อย่างสยามนิสสัน หมู่บ้านอมรพันธ์ 4 บ้านจัดสรรรุ่นเก่า เกิดขึ้นก่อนปี 2515 ปัจจุบันทรุดโทรมมาก บางแปลงถูกทุบพลิกโฉมขึ้น อพาร์ตเมนต์ ร้านอาหาร ห้างร้านบริษัทเก่าแก่ ริมทาง บริษัทอิมปอร์ตเอเยนซีส์ (1962) จำกัด บริษัทโชคประพันธ์ก่อสร้าง จำกัด ด้านใน ปาล์มเพลสอพาร์ทเม้นท์ ป้ายบอกชัดว่าต้องการรองรับนิสิตนักศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากซอยเล็กแคบสามารถวิ่งจากถนนวิภาวดีฯ ทะลุ พหลโยธินได้ ที่ดินบางแปลงถูกรื้อซากอาคารเหลือทิ้งไว้เพียงที่ดินแปลงโล่ง คนในพื้นที่ยืนยันเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนอะไหล่รถ แต่อนาคตน่าจะถูกเปลี่ยนมือ เนื่อง จากอยู่ไม่ห่างจาก สถานีรถไฟฟ้า ที่สำคัญยังติดถนนใหญ่

          ตื่นเต้นที่สุดกับวิภาวดีฯ ซอย 44 พบโรงแรมอพอลโล่ ตึกเก่าแก่ทรงเตี้ย ความสูงไม่เกิน 3 ชั้น อายุกว่า 60 ปี กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากโลกยุคดิจิทัล อิทธิพลรถไฟฟ้า

          นางปราณี เพชรมณี พนักงาน เล่าว่า โรงแรมมีทั้งหมด 38 ห้อง ชั้นบน 19 ห้อง ชั้นล่างอีก 19 ห้อง อัตราค่าเช่า ค้างคืน 600 บาท ชั่วคราว 300 บาท ปัจจุบัน แทบไม่มีแขกเข้าพัก ห้องชั้นบนแทบถูกปิดตาย เมื่อรถไฟฟ้ามามีสถานี (วัดเสมียนฯ) ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้า ได้มีนายหน้าวิ่งมาติดต่อหลายราย เข้าใจว่าจะเป็นกลุ่มคอนโดมิเนียมแทบทุกค่าย บางรายให้ราคา 100-200 ล้านบาท แต่เจ้าของซึ่งไม่ร้อนเงิน และมีครอบครัวอยู่ต่างประเทศไม่ยอมขาย เพราะทราบว่ามีรถไฟฟ้ามาจอดอยู่หน้าโรงแรม ราคาที่ดินต้องขึ้นสูง จากที่เคยซื้อมา ช่วงนั้นยังเป็นท้องนา ไร่ละหลักพันบาทเท่านั้น โดยเจ้าของมักจะตั้งราคาสูงๆ เพื่อให้นายหน้าล่าถอย และมีแนวคิดว่าหากบุตรชายเรียนจบจากต่างประเทศจะลงทุนพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมหรูแทนที่ ม่านรูด "อพอลโล่"

          ที่ดิน แปลงยาว ผืนนี้เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 6-7 ไร่ ส่วนแปลงติดกัน นางปราณี ระบุเจ้าของโรงแรมซื้อต่อจากนายทหารยศนายพล ปัจจุบันยังเห็นซากบ้านเก่าทรงโบราณทิ้งร้างอยู่

          เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 3 ไร่ ราคา 6 ล้านบาท ที่ผ่านมามีคนติดต่อขอเช่าที่ดินทำอู่ซ่อมรถ แต่เจ้าของไม่ต้องการให้เช่า หากความเจริญเข้ามา เข้าใจว่าพื้นที่บริเวณนี้จะเป็นได้ทั้งคอนโดฯ โรงแรมโฉมใหม่ ทันสมัย เป็นที่สนใจของผู้คน อีกโรงแรมเล็กในซอย "TAT HOTEL" ไม่ห่างจาก "อพอลโล่" รูปแบบ ไม่ต่างจากโรงแรมแห่งแรก เชื่อว่านายทุน นักเก็งกำไร ทาบทามซื้อต่อเช่นกัน ถัดไปเป็นบ้านไม้เก่ามีรั้วรอบขอบชิด ของ พล.ต.ยงยุทธ ดิษบรรจง ตามด้วย ตึกร้าง 4-5 คูหา เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 5-6 ไร่ ถูกทิ้งร้าง เพื่อรอทุบทิ้ง

          ส่วนบริเวณด้านหน้าถูกปรับเขตทาง รับเหมาบมจ.ซีวิล อยู่ระหว่างเดินเครื่องจักร จากโรงงานยาคูลท์ขนานไปกับถนนวิภาวดีฯ ถึง ห้าแยกลาดพร้าว ระยะทาง 12 กิโลเมตร เรียกว่าเป็นทางเท้าที่กว้างสร้างความปลอดภัยรองรับคนใช้รถไฟฟ้า อีกนัยหนึ่งอาจก่อสร้างเป็นวอล์กเวย์

          ทีมข่าวเดินข้ามจากสถานีรถไฟฟ้าวัดเสมียนนารีไปยังฝั่งของที่ตั้งวัด บริเวณติดถนนวิภาวดีฯยังเห็นตึกแถวเก่า แต่ในไม่ช้าจะถึงเวลาปรับโฉม เนื่องจากบ้านไม้เก่าซึ่งเป็นแปลงติดกัน ได้ขายให้กับนายทุนไปในราคา 50 ล้านบาท ช่วงระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อเปิดเป็นศูนย์ซ่อมรถ เมื่อข้ามทางรถไฟไปยังประชาชื่น อาคารฐานการพิมพ์เก่า เตรียมรื้อ เพราะเจ้าของตลาดบองมาเช่เตรียมสร้างเป็นตลาดติดแอร์ คอมมิวนิตีมอลล์ ทำเลเวิ้งนี้ค่อนข้างเจริญ มีบ้านกลางเมือง บ้านกลางกรุง คอนโดมิเนียม ของบมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมเตรียมขึ้นโครงการอีกมาก

          "ฐานเศรษฐกิจ" สอบถามความเคลื่อนไหวราคาที่ดิน ติดริมถนนวิภาวดีรังสิต และสถานีรถไฟฟ้าวัดเสมียนนารี ว่าปัจจุบันราคาเท่าไหร่กันแน่ ล่าสุดได้รับการยืนยันจากนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ว่า ราคาที่ดินบริเวณนี้ขยับเร็วมาก จากเดิม ช่วงที่รถไฟฟ้าสายสีแดงยังไม่ก่อสร้าง ราคาไม่เกิน 1 แสนบาทต่อตารางวา แต่ปัจุบัน 2-3 แสนบาทต่อตารางวา ส่วนอาคารเก่าหากไม่ปรับตัว เชื่อว่าจะถูกนายทุนกลุ่มอื่นซื้อไปแต่หากเจ้าของ ที่ดินพอมีสายป่าน เช่นโรงแรมอพอลโล่อาจปรับจากโรงแรมเล็กๆ เป็นโรงแรมทันสมัยมีห้องอบรมสัมมนา ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น เชื่อว่าจะสร้างรายได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          นับถอยหลัง...  สายสีแดงเดินรถ

          จราจรบนถนนวิภาวดีรังสิตจะคลายความแออัดลง หากรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต เปิดให้บริการเดือนมกราคม 2564 แต่จะทดลองให้ประชาชนนั่งฟรีตลอดเส้นทาง 26.3 กิโลเมตร ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่า จะมีผู้โดยสาร 1 แสนคนต่อวัน

          สำหรับความคืบหน้าทั้งงานระบบและงานโยธาแล้วเสร็จ 100% วิศวกร ระบุปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำขบวนรถออกทดสอบอย่างไม่เป็นทางการ วิ่งไป-กลับ ตั้งแต่สถานีกลางบางซื่อ ไปถึงสถานีวัดเสมียนนารี ก่อนจะเพิ่มเส้นทางวิ่งไปยังสนามบินดอนเมือง

          สำหรับสายสีแดง มีสถานียกระดับ 8 สถานีและระดับดิน 1 สถานี(ไม่รวมสถานีกลางบางซื่อ) ช่วงสถานีกลางบางซื่อ-สถานีดอนเมือง เป็นทางรถไฟยกระดับ 4 ทางวิ่ง กำหนดให้ 2 ทางวิ่งริมสุดของแต่ละด้านเป็นทางวิ่งสำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม และ 2 ทางวิ่งตรงกลางเป็นทางวิ่งสำหรับรถไฟทางไกล ซึ่งทั้ง 4 ทางวิ่งมีการติดตั้งระบบไฟฟ้าเหนือตัวรถทั้งหมดเมื่อผ่านสถานีดอนเมืองมาแล้ว ทางรถไฟจะลดระดับลงสู่ระดับดินเพื่อเข้าสู่สถานีหลักหก บนทางรถไฟระดับดินมีทั้งหมด 4 ทาง กำหนดให้ 2 ทางวิ่งฝั่งติดถนนเป็นทางวิ่งสำหรับรถไฟทางไกล และอีก 2 ทางวิ่งฝั่งในเป็นทางวิ่งสำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ซึ่งช่วงนี้มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าเฉพาะทางวิ่งของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม เมื่อผ่านสถานีหลักหกแล้ว ทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม 2 ทางวิ่ง จะยกระดับขึ้นเพื่อเข้าสู่สถานีรังสิต ซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม และรถไฟทางไกล โดยชั้นที่ 1 เป็นชานชาลาสำหรับรถไฟทางไกล ชั้นที่ 2 เป็นห้องจำหน่ายตั๋ว และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม

          ทดลองเดินรถอย่างไม่เป็นทางการจากสถานีกลางบางซื่อ วัดเสมียน และดอนเมือง
 
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ