อสังหาฯปรับกลยุทธ์รับมือทุกปัจจัยเสี่ยง
Loading

อสังหาฯปรับกลยุทธ์รับมือทุกปัจจัยเสี่ยง

วันที่ : 9 มีนาคม 2563
อสังหาฯ ปรับกลยุทธ์
          อสังหาริมทรัพย์ ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอมาตั้งแต่ปี 2562 เมื่อมาเจอกับโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยและเกือบจะทั่วโลกก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤต ทุกฝ่ายหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงโดยเร็วหรือมีวัคซีนออกมาช่วยป้องกันโรค แต่กว่าจะผ่านไปถึงจุดนั้นเชื่อว่าภาคธุรกิจจะหนักหนาสาหัส เริ่มจากธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม เริ่มมีปิดกิจการ และเตรียมลุกลามไปยังภาคธุรกิจอื่น ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมแผนรับมือเพื่อรอให้ฟื้นกลับมาก อีกครั้งในไม่ช้า

          นายไพโรจน์ วัฒนวโรดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมทไทม์ พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนท์ จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร ผู้คว่ำหวอดในวงการอสังหาริมทรัพย์มาเป็นเวลานาน ผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง ซึ่งเชื่อมั่นว่า 1. การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะจบหรือหยุดการระบาดได้ภายในไตรมาส 2,  2. รัฐบาลเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ได้ในไตรมาส 2 และ 3. ในครึ่งปีหลังทุกประเทศจะปรับตัวและเริ่มลงทุน

          ดังนั้นนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ของไทยจะต้องทำอย่างไร 1. บริหารงานโดยคำนึงสภาพคล่อง หา รายได้-รายรับ ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ค่าบริหารและจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร, 2. ไม่ลดพนักงาน ส่งเสริมให้กำลังใจ ฝึกทักษะกันไป  3. ยังคงทำกิจกรรมการตลาด สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่มาซื้อบ้านว่าช่วงนี้คุ้มค่า บริการลูกค้าแบบ all services 4. รอจีนกลับมา ซึ่งเชื่อว่าคนจีนจะกลับมาหาบ้านพักเป็นหลังที่สองหากเกิดกรณีเกิดเหตุการณ์โรคระบาด เช่น โควิด-19  อีกครั้ง เพราะไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดี มีหมอเก่ง สภาพอากาศร้อน  5. วางเป้าหมายการตลาดและกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน แบ่งโครงการเป็น Phasing กำหนดแผนเดินหน้า ถอยหลังได้ มีแผน A แผน B คือ แผนสำรอง

          "สมัยน้ำท่วม/สมัยมีสงครามเสื้อสีปิดถนน เรายังบริหารจัดการได้เลยกลับไปตั้งใจ ตั้งสติ ทุกเหตุการณ์ มันแค่ชั่วคราว ไม่ได้อยู่กับเราถาวร หาพลังบวกในตนเอง ส่งให้คนรอบข้างผมเชื่อมั่น เดินต่อไปได้ ยังไม่ได้เกิดสงครามล้างโลก แต่ก็ป้องกันตนเอง ดูทุกคน ทุกอย่างให้รอบคอบ แล้วก้าวเดินต่อไป ช้าหน่อย แต่ก็ถึง เป้าหมายส่งพลังบวกซึ่งกันและกัน เราจะได้มีพลังบวกสู้กับภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้" นายไพโรจน์ กล่าว

          คุมโอเวอร์เฮดไม่ให้เกิน 15%

         ด้าน นายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของบริษัทแลนด์ เเอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)  หรือ LH กล่าวเเนะนำ ผู้ประกอบการว่า ในภาวะที่ตลาดไม่ค่อยดี ผู้ประกอบการควรหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กรให้ลงตัว ประเด็นสำคัญคือการทำให้ค่าใช้จ่ายการการดำเนินงานหรือโอเวอร์เฮด ไม่ควรจะเกิน 15% ในช่วงที่ภาวะตลาดชะลอตัวทุกคนควรหันมาปรับปรุงประสิทธิภาพในภายองค์กร บริหารโอเวอร์เฮด เช่น ค่าใช้จ่ายค่าโฆษณา ค่าการตลาด เงินเดือน หากเกิน 15% ในภาวะที่การขายไม่ดี รายได้ลด เรา ควรหาทางลดค่าใช้จ่าย ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการมีปัญหาด้านการเงิน ไม่สามารถคืนหนี้ได้ตามกำหนด ควรเข้าไปเจรจากับธนาคารโดยตรง เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน

          ส่วนแผนการลงทุนของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เนื่องจากภาวะตลาดคอนโดมิเนียมได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมไปถึงมีสต๊อกคงค้างในตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีจึงจะฟื้นตัว ทำให้ในปี 2563 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ชะลอลงทุนคอนโดมิเนียมเน้นลงทุนเฉพาะโครงการแนวราบ 16 โครงการ มูลค่า 30,535 ล้านบาท เป็นโครงการในกรุงเทพฯ 13 แห่ง ต่างจังหวัด 3 แห่ง

          ออริจิ้นแตก 6 บ.ย่อยพร้อมรับทุกสภาวะ

          ทั้งนี้ตัวอย่างของการปรับองค์กรเพื่อรองรับภาวะวิกฤต การเปลี่ยนแปลงของโลกและปัจจัยลบต่างๆ ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ อาทิ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ปรับเปลี่ยนบริษัทให้กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถเติบโต ไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมรับมือทุกสภาวะความเปลี่ยนแปลง ของโลก โดยปฏิรูปองค์กรสู่ลักษณะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ โดยแตกบริษัทย่อยออกมา 6 กลุ่มบริษัท เพื่อดำเนินธุรกิจใน 6 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ 1. บริษัท ออริจิ้น คอนโดมิเนียม จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาคอนโดมิเนียมกลุ่มสมาร์ทคอนโดฯ มีแบรนด์หลักคือ ดิ ออริจิ้น 2. บริษัท พาร์ค ลักชัวรี่ จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาคอนโดฯ ระดับลักชัวรี มีแบรนด์หลักคือ ไนท์บริดจ์ และพาร์ค ออริจิ้น 3. บริษัท บริทาเนีย จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาบ้านจัดสรร มีแบรนด์หลัก คือ บริทาเนีย

          4. บริษัท ออริจิ้น อีอีซี จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในแถบเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 5.บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง เช่น โรงแรม พื้นที่ค้าปลีก สำนักงานให้เช่า โครงการมิกซ์ยูส และ 6.บริษัท พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์สมัยใหม่ครบวงจร

          ทั้งนี้ นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ฯ ระบุว่า การปฏิรูปองค์กร หรือ Organization Transform จะทำให้บริษัทมีพอร์ตธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ช่วยกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน ทุกบริษัทย่อยก็จะมีอิสระในการดำเนินงานมากขึ้น มีขั้นตอนในการดำเนินธุรกิจลดลง สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและรอบทิศทางมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับตัวและรับมือปัจจัยภายนอกได้เหมาะสมกับแต่ละประเภทธุรกิจมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน อีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโต คือ เปิดรับพันธมิตรในหลากหลายรูปแบบ เช่น กลุ่มพันธมิตรร่วมทุน (JV Partner) กลุ่มเจ้าของที่ดิน กลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบริการและอสังหาริมทรัพย์ (Service & Property Related Tech) กลุ่มซัปพลายเออร์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์

          นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินธุรกิจใหม่ๆ เช่น การพัฒนาแบรนด์บ้านจัดสรรระดับลักชัวรี เบลกราเวีย (Belgravia) ราคา 10-35 ล้านบาท รวมถึงกระจายการพัฒนาโครงการไปยังจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ พิจารณาการลงทุนในกลุ่มประเภทธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์

          พฤกษาชู 5 กลยุทธ์รักษาแชมป์

          สำหรับบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS แชมป์อสังหาริมทรัพย์ ประกาศชู 5 กลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาว หวังรักษาแชมป์ท่ามกลางสภาวะตลาดที่ท้าทาย ซึ่งในปีนี้พฤกษาได้มีการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอสังหาฯอย่างรัดกุมในทุกมิติท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวให้เติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแรงภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่าง ต่อเนื่อง ได้แก่ 1. Strengthen Core Business รักษาฐานกลุ่มธุรกิจหลักของพฤกษา ออกแบบสินค้า ฟังก์ชันและ IOT รองรับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในแต่ละเซ็กเมนต์ และพร้อมขยายเซ็กเมนต์ไปกลุ่มบนมากขึ้น รวมถึงทาวน์เฮาส์ที่จะขยายไปยังเซ็กเมนต์ 3-5 ล้านมากขึ้นภายใต้แบรนด์พฤกษาวิลล์และเดอะคอนเนค พร้อมใช้แบรนด์พาทิโอ ขยายตลาดเจาะกลุ่มทาวน์เฮาส์ระดับลักชัวรี

          2. Innovation and Data Tech เพิ่มช่องทางการขายในรูปแบบใหม่และพัฒนา Data Science ในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้าพร้อมทั้งนำเสนอ |Solution ที่ตอบโจทย์ รวมไปถึงการเพิ่มขีดคามสามารถของ Digital Marketing ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3. Asset Management เร่งระบายสต๊อกเน้นขายโครงการที่เป็น inventory โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม และเลือกเปิดขายโครงการใหม่เฉพาะทำเลที่มีศักยภาพในช่วงเวลาเหมาะสมกับสภาพตลาด

          4. Recurring Income สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะรับผลิตแผ่นคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปเพื่อขายให้กับหน่วยงานภายนอก จากเดิมผลิตไว้ใช้เอง ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับพฤกษาอย่างต่อเนื่องโดยจะเริ่มดำเนินการในปีนี้ ในขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลวิมุต การก่อสร้างยังเป็นไปตามแผน ส่วนการเปิดให้บริการจะเลื่อนจากแผนเดิมเปิดให้บริการช่วงปลายปี 63 เลื่อนไปเป็นพฤษภาคม 2564 และ 5. Bottom Line การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้กำไรสูงขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

          นอกจากนี้ยังเปลี่ยนผู้รับเหมาหันมาใช้ผู้รับเหมารายกลาง-รายใหญ่แทนการใช้ผู้รับเหมารายเล็ก เพราะผู้รับเหมารายใหญ่จะเป็นผู้บริหารจัดการในเรื่องของวัสดุและต้นทุนการก่อสร้างเอง ทำให้บริษัทลดขั้นตอนการจัดซื้อวัสดุและการบริหารจัดการ ลดหน่วยธุรกิจจากเดิม 18 หน่วยงาน เหลือ 13-14 หน่วยงาน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อ ที่มีสูงถึงกว่า 10,000 ล้านบาท ให้สามารถกลับมาขอสินเชื่อและซื้อบ้านของพฤกษาให้ได้มากที่สุด

          เอพีชู EMPOWER LIVING เสริมแกร่งองค์กร

          ขณะที่บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ยกระดับยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนองค์กรให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ภายใต้พันธกิจ EMPOWER LIVING คือ การดำเนินงานที่พร้อมสนับสนุนให้ทุกคนในสังคมสามารถเติมเต็มทุกเป้าหมายชีวิตได้ตามที่ปรารถนา ด้วยนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิต โดยขับเคลื่อนผ่าน 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1. AP THAILAND VALUES มุ่งสร้างค่านิยมที่จะเป็น DNA สำคัญในการหล่อหลอมบุคลากรกว่า 2,000 คนภายใน 6 องค์กรเครือเอพี สร้างองค์กรให้เป็นสังคมแห่งการคิดค้น กล้าฝัน ทดลองใช้ ทดลองทำ ให้เป็นวัฒนธรรมที่มีค่านิยม

          2. MASTERPLAN FOR TOMORROW การเดินหน้าขยายขอบเขตในการสร้างพิมพ์เขียวแห่งการอยู่อาศัยคุณภาพ ให้ครอบคลุมความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น, 3. DESIGNING YOUR FUTURE การมุ่งแสวงหาความต้องการที่ยังไม่ถูกค้นพบ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้า และนวัตกรรมบริการใหม่ๆ และ 4. POWER OF ECOSYSTEM การสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยสนับสนุนการมีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบ ครบวงจร

          สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะดำเนินงาน ตามโรดแมป MASTERPLAN FOR TOMORROW ด้วยการเดินหน้าขยายขอบเขตการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนางานก่อสร้างให้มีคุณภาพ ด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำงานทั้งระบบไปสู่กระบวนการ BIM ที่ส่งผลให้ลูกค้าได้รับอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพ ลดข้อบกพร่อง ลดบาดแผลที่อาจส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          และในปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่เอพีจะกระจายการพัฒนาโครงการแนวราบออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ หลังจากที่โครงการแนวราบของบริษัทฯ มีสัดส่วนการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยจะเริ่มต้น โครงการแนวราบจังหวัดที่นครศรีธรรมราช คาดว่าจะพร้อมเปิดตัวช่วงไตรมาส 3 โดยอยู่ระหว่างการศึกษาพฤติกรรมลูกค้าในจังหวัดอื่นๆ ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคจำนวน 4-5 โครงการ รองรับกำลังซื้อในอนาคต ซึ่งตลาดต่างจังหวัดมีกำลังซื้อจากกลุ่มเศรษฐีจำนวนมากและการแข่งขันไม่รุนแรงเหมือนตลาดในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่

          แสนสิริมุ่งจับกลุ่มเรียลดีมานด์

          บริษัท แสนสิริ จำกัด (มาหชน) วางยุทธศาสตร์ "Made for Life…Made for Everyone" เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ เน้นตลาด Medium และ Affordable โดยมี 5 แบรนด์หลักเป็นหัวหอก ได้แก่ 'ดีคอนโด'-'เดอะเบส'-'สิริ เพลส'-'อณาสิริ'-'สราญสิริ' พร้อมสร้าง 4 กลยุทธ์หลักบุกแนวราบด้วยการเปิดตัว Signature Function ในแบรนด์บ้านเดี่ยว โดยดีไซน์ฟังก์ชันการใช้งานที่มาจาก Customer Centric, New Concept เน้นการพัฒนาและสร้างมูลค่าให้กับ Affordable brand ให้แข็งแกร่งเหนือคู่แข่ง, พัฒนาโครงการไปในทำเลใหม่ๆ ที่แสนสิริยังไม่เคยพัฒนาโครงการมาก่อน, WELL-BEING ผ่านดีไซน์ฟังก์ชันการใช้งานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการ เสริมรายได้ด้วย 4 แหล่งรายได้ใหม่ LIV-24 ดำเนินการภายใต้ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งบริการครอบคลุมทุกโครงการ ทั้งที่เป็นโครงการของแสนสิริ และโครงการของ ผู้ประกอบการรายอื่นๆ, Home Service Application ใหม่ ในชื่อ "อยู่ - YUU" การลงทุนในบริษัทต่างชาติ The Standard ที่แสนสิริเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  Standard International ขยายธุรกิจทั่วโลก 25 โรงแรมภายใน 5 ปีข้างหน้า และ Just Co Co-Working Space ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 150% ขยายโรงงานพรีคาสต์แห่งที่ 3 และ 4 เสริมกำลังการผลิตเป็น 1,200,000 ตารางเมตร

          นอกจากนี้ยังชู "People Strategy" ต่อยอดวิธีคิดแบบ Agile ยกระดับความสุขของพนักงานเป็น Made for US เสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ Efficiency และได้ผลผลิตที่ดีที่สุด Productivity ตอกย้ำจุดยืนของแบรนด์ในฐานะองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน Sansiri Sustainability Mission

          เพอร์เฟคขายที่ดิน-หุ้นลดหนี้เสริมแกร่ง

          บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF เชื่อว่าภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วง ปี 2563-2564 ยังคงเผชิญกับปัจจัยรุมเร้าและมีทิศทางที่ไม่ดีนัก ทำให้บริษัทจะต้องวางแผนการพัฒนาธุรกิจอย่างระมัดระวัง ซึ่งแผนการดำเนินงานสำคัญคือการเร่งลดหนี้ที่มีอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าลดหนี้ลง 10,000 ล้านบาทภายในปีนี้ด้วยการขายที่ดิน 4 แปลงรวมมูลค่า 6,000 ล้านบาท และอีก 4,000 ล้านบาทจะมาจากการขายหุ้นโรงแรมโรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH โดยเป็นสัดส่วนที่เข้าไปถือผ่านบริษัทย่อย บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND โดยต้องการขาย 45% มูลค่ารวม 2,500 ล้านบาทและอีก 1,500 ล้านบาทเป็นการเร่งโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม ยู คิโรโระ (Kiroro) ที่มียอดขายรอโอน (Backlog) มูลค่า 2,200 ล้านบาท

          นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF ระบุว่าปัจจัยภายนอกมากระทบรายได้จากการพัฒนาคอนโดไม่เติบโต รายได้จากโรงแรมยัง ไม่เพิ่มขึ้นเพราะได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา จึงมีแผนจะลดหนี้ลงหมื่นล้านจากการขายสินทรัพย์ที่ดิน หุ้น และเร่งโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม ยู คิโรโระ ที่ไปลงทุนในญี่ปุ่น เพื่อลดหนี้ดังกล่าวซึ่งจะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity ratio หรือ D/E) ลดลงจากปัจจุบันที่มี 1.7 เท่า ลดลงเหลือ 1.2 เท่า ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งขึ้น และทำให้ต้นทุนการเงินลดไป 1%

          LPN เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน-ทำกำไร

          บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานรับสภาพตลาด ขาลง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การขยายฐานรายได้จากธุรกิจบริการ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสภาพคล่องทาง การเงิน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสการลงทุนทุกรูปแบบ ทั้งการซื้อกิจการ (M&A) และการร่วมทุน (JV) รวมถึงการตั้งงบลงทุนจำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อซื้อโครงการที่ประสบปัญหาทางการเงิน ขาดสภาพคล่องเพื่อพัฒนาต่อ

          ศุภาลัยบริหารเงิน-งานก่อสร้าง

          ขณะที่บริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กลยุทธ์รับมือปัจจัยลบ เน้นควบคุมการบริหารการเงิน การบริหารงานก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เน้นเปิดตัวโครงการแนวราบเป็นหลัก เพราะเป็นตลาดผู้อยู่อาศัยจริง ( Real demand) ส่วนการเปิดตัวโครงการ แนวสูง หรือคอนโดมิเนียม ต้องเลือกพัฒนาโครงการในทำเลและพื้นที่มีความต้องการเป็นหลัก ทำราคาที่คนเข้าถึงได้ ขยายการลงทุนไปในต่างจังหวัด .

          "อสังหาฯปรับกลยุทธ์รับมือวิกฤต -ปัจจัยลบ เก็บกวาดหลังบ้าน เพิ่มศักยภาพพนักงานคาดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จบภายในไตมาส 2 เชื่อหลังวิกฤตกำลังซื้อโตก้าวกระโดด เหตุอั้นไว้นาน แนะบริหารสภาพคล่อง สร้างรายรับให้พอกับรายจ่าย-ดอกเบี้ยแบงก์ วางแผนสำรองเผื่อเดินหน้าต่อหรือถอยหลัง"
ข่าวโครงการอสังหาฯ ภาคเอกชน อื่นๆ