สนข.ลุยสร้าง ทางด่วน ผ่านม.เกษตรเร่งผุดโครงข่ายใหม่เชื่อมโซนตะวันออก-ตะวันตก
Loading

สนข.ลุยสร้าง ทางด่วน ผ่านม.เกษตรเร่งผุดโครงข่ายใหม่เชื่อมโซนตะวันออก-ตะวันตก

วันที่ : 9 มีนาคม 2563
สนข.จะเดินหน้าก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ
          สนข.ผ่าทางตันทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ หลังแนวใหม่เลียบคลองบางบัวติดหล่มพื้นที่ กลับมาใช้แนวเดิม ตัดผ่านหน้า ม.เกษตรฯเหมือนเดิม รอปรับรูปแบบเหมาะสมจะยกระดับหรืออุโมงค์ เพื่อลดเสียงต้าน เล็งลากแนวยกข้ามโทลล์เวย์เลาะไปตามคลองเปรมประชากร เชื่อมปลายทางที่ด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ลั่นยังไงก็ ต้องสร้าง เป็นเส้นยุทธศาสตร์เชื่อมการเดินทาง ทะลวงรถติด แบ่งสร้าง 2 เฟส นำร่องช่วง N2 แยกเกษตร-นวมินทร์ ทะลุวงแหวนฯ ระยะทาง 11.3 กม. กทพ.ใช้เงินกองทุน TFF ลงทุน 1.5 หมื่นล้าน กดปุ่มประมูลปีนี้ ตอกเข็ม ก.ค.ปี'64

          นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สนข.จะเดินหน้าก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N1 N2 และส่วนต่อขยาย E-W corridor ในเส้นทางเดิมเชื่อมการ เดินทางโซนตะวันออก-ตะวันตก โดยจะกลับมาใช้แนวเส้นทางช่วง N1 พาดผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เหมือนเดิม จากก่อนหน้านี้ที่ปรึกษาเสนอแนวเส้นทางปรับใหม่อ้อมไปด้านหลังมหาวิทยาลัยแทน เพื่อเลี่ยงผลกระทบ

          กลับมาใช้แนวผ่าน

          ม.เกษตรฯโดยแนวเส้นทางเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก มาตามแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ (ประเสริฐมนูกิจ) ผ่านแยกนวมินทร์ นวลจันทร์ ทางด่วนศรีรัช สุคนธสวัสดิ์ เสนานิคม ลาดปลาเค้า แล้วเลี้ยวขึ้นเหนือเลียบคลองบางบัวตามแนวถนนผลาสินธุ์ จนถึงคลองบางเขนจึงเลี้ยวตามแนวคลองบางเขนจนถึงถนนวิภาวดี-รังสิต แล้วเลี้ยวซ้ายวิ่งขนานกับโทลล์เวย์ ผ่านแยกบางเขน ไปเชื่อมกับทางยกระดับ โทลล์เวย์เชื่อมกับทางด่วนศรีรัช- วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตกที่จะสร้างในอนาคตบริเวณต่างระดับรัชวิภา แต่ล่าสุดมีปัญหาเรื่องพื้นที่ก่อสร้าง จึงต้องกลับมาใช้แนวเส้นทางเดิมที่ศึกษาไว้ก่อนหน้านี้

          "เพื่อให้โครงการเดินหน้าและทำให้ การเดินทางสมบูรณ์แบบในการเชื่อมต่อระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ยังไงโครงการนี้ จะต้องสร้าง เพราะคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการและระดมทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ให้แล้ววงเงิน 14,382 ล้านบาท อาจจะปรับสร้างเป็น 2 ระยะ เริ่มช่วง N2 จากแยกเกษตร-นวมินทร์ไปเชื่อมกับวงแหวนรอบนอกตะวันออกก่อน ขณะเดียวกันก็เร่งสรุปรูปแบบช่วงผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะสร้างเป็นทางยกระดับหรืออุโมงค์แทน คาดว่าทั้ง 2 ช่วงจะใช้เวลาสร้างและเปิดใช้ไม่ห่างกันมาก อาจจะช้าประมาณ 1-2 ปี ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลยังเดินหน้าโครงการไปพร้อมกันเหมือนเดิม"

          พ่วงรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

          ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวเส้นทางโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือรวมช่วงทดแทน N1 ที่ สนข.ศึกษา กับตอน N2 และต่อขยายช่วง E-W corridor มีระยะทางรวม 17.2 กม. ใช้เงินลงทุน 23,266 ล้านบาท โดยจะสร้างควบคู่ไปกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วง แคราย-ลำสาลี 22.1 กม. เงินลงทุน 48,386 ล้านบาท มีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้ดำเนินการ เชื่อมการเดินทางพื้นที่ตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพฯ และแก้รถติดถนนเกษตร- นวมินทร์ มีปริมาณจราจร 154,265 คัน/วัน

          แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า จากการ ที่งานก่อสร้างช่วง N1 แนวใหม่ที่ สนข.ศึกษาติดปัญหาพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้าง ล่าสุดคณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติให้ กทพ.ทำเรื่องเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมขออนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างช่วง N2 และส่วนต่อขยายไปเชื่อมกับวงแหวน รอบนอกตะวันออกก่อน รวมระยะทาง 11.3 กม. วงเงิน 15,350 ล้านบาท เนื่องจาก มีความพร้อมเรื่องเงินลงทุนและแบบก่อสร้าง

          กทพ.ลุยช่วง N2 เชื่อมวงแหวน

          ขณะนี้กำลังทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่ออนุมัติโครงการ แต่จะเปิดประมูลก่อสร้างคู่ขนานกันไป จะเร่งให้ทันภายในปี 2563 นี้ เมื่อ EIA ได้รับอนุมัติถึงจะเซ็นสัญญา คาดว่าจะเริ่มสร้างในเดือน ก.ค. 2564 ใช้เวลาสร้าง 36 เดือนหรือ 3 ปี เปิดบริการในปี 2567 จะมีปริมาณการจราจร 78,982 คันต่อวัน

          ทั้งนี้การก่อสร้างช่วง N2 จะมีฐานตอม่อเดิมอยู่แล้ว 281 ต้น ที่จะนำมาใช้ก่อสร้างได้ นอกจากนี้แนวเส้นทางยังใช้โครงสร้างร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) ด้วย ระยะทางประมาณ 8.1 กม. จากบริเวณคลองบางบัวถึงแยกนวลจันทร์-นวมินทร์ โดย รฟม. ให้ กทพ.เป็นผู้ก่อสร้างฐานรากของรถไฟฟ้าร่วมกับทางด่วนไปก่อน โดยมีวงเงินก่อสร้างอยู่ที่ 1,470 ล้านบาท

          แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ตลอดแนว เส้นทางมีทางขึ้น-ลงรวม 3 แห่ง และทางแยกต่างระดับ 2 แห่ง ได้แก่ จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณคลองบางบัว, ทางแยกต่างระดับฉลองรัช, ทางลงถนนรัชดาภิเษก-รามอินทรา เพื่อรองรับการเดินทางไปยังถนนนวมินทร์ ถนนเลียบวงแหวนตะวันออก ถนนรามอินทรา, ทางขึ้น-ลงถนนเลียบวงแหวนตะวันออก, ทางแยกต่างระดับลาดบัวขาว โดยจะมีด่านเก็บค่าผ่านทางอยู่แยกฉลองรัช จำนวน 6 แห่ง 48 ช่องจราจร เป็นระบบเปิด จ่ายค่าผ่านทางคงที่

          ผุดแนวใหม่เลาะคลองเปรม

          "ส่วนแนวเส้นทางช่วง N1 เบื้องต้นจะสร้างผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วยกข้ามโทลล์เวย์ แล้วไปเลี้ยวเข้าคลองเปรมประชากร แล้วสร้างขนานแนวคลองเพื่อไปเชื่อมกับทางด่วน ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก จากแนวเดิมตั้งแต่แรกจะมุ่งหน้าไปเชื่อม กับทางด่วนศรีรัชตรงงามวงศ์วาน ทั้งนี้ยังไม่มีข้อยุติ"

          แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กทพ.ให้บริษัทที่ปรึกษาออกแบบทางขึ้นลงช่วงแยกเกษตรฯใหม่ ไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรที่มีข้อกังวลว่าจะเป็นคอขวดทำให้รถติดหนักขึ้นกว่าเดิม หากสร้างจากวงแหวนรอบนอกตะวันออกมาถึง แยกเกษตรฯ เช่น สร้างทางขึ้นลงก่อนถึงอุโมงค์ทางลอดแยกเกษตรฯเพื่อระบายรถ เป็นต้น
ข่าวพัฒนาสาธารณูปโภค อื่นๆ